9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ทฤษฎีใหม่กับเศรษฐกิจพอเพียง
ทฤษฎีใหม่กับเศรษฐกิจพอเพียง
“..การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด...”
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517
• ทฤษฎีใหม่ แนวทางการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ทฤษฎีใหม่ ไม่ใช่ เศรษฐกิจพอเพียง แต่เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนน้อย
แล้วเศรษฐกิจพอเพียง คืออะไร?
………………
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหนึ่งในแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทีได้พระราชทานปรัชญาในการดำรงชีวิต ที่ยึดหลักความพอเหมาะพอดี มีเหตุมีผล และความไม่ประมาท ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงถือปฏิบัติด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดำรงชีวิตเป็นแบบอย่างอย่างสมบูรณ์แบบ และทรงพระราชทานพระราชดำริให้คนไทยได้นำไปปฏิบัติตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 ดังพระบรมราโชวาทที่ยกมาข้างต้น และเมื่อคราววิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 คนไทยก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจมาเยือน อันเกิดจากความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมของสังคมไทยในยุคฟองสบู่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทรงเห็นความสำคัยของความ “พออยู่พอกิน” ซึ่งมีผลต่อราษฎรและประเทศชาติ ที่สำคัญ คือเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนไทยดำเนินชีวิตบนทางสายกลาง มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบสัมมาชีพ รู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รู้จักประมาณตน และดำรงชีวิตอย่างรู้จัก “คิด อยู่ ใช้ กิน อย่างพอเพียง” และทฤษฎีใหม่ก็เป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่แปรสู่การปฏิบัติให้เหมาะสมกับกลุ่มเกษตรกรไทย หรืออาจกล่าวได้ว่า คือ เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเกษตรกรนั่นเอง
- ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับการตีความหมาย สู่การปฏิบัติในหลายแนวทาง เนื่องจากเป็นปรัชญาที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกกลุ่มคน ดังนั้นการตีความ จึงขึ้นกับแนวทางที่ต้องการนำไปปฏิบัติ ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายทั้งในระดับปัจเจก ในระดับชุมชน และในระดับประเทศ
1. ความหมายตามแนวเศรษฐศาสตร์
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้ให้ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ รวมทั้งพระราชดำริอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2542 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่ายและประชาชนทั่วไปดังนี้
o ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๕–๒๕๔๙) โดยได้อัญเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศ โดยยึดหลักทางสายกลาง เพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤต สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง และนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และสถานการณ์เปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยยึดตามความหมายของสำนักงาน กปร.
2. ความหมายตามแนวปราชญ์ชาวบ้าน
เศรษฐกิจพอเพียง ในความหมายของปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้นำกลุ่มเกษตรกร จะมีความหมายไปในแนวทางเดียวกับ “ทฤษฎีใหม่” นั่นคือ แนวทางปฏิบัติเพื่อการพึ่งตนเอง โดยเริ่มจาก “ปลูกของที่กิน กินของที่ปลูก” ลดทอนค่าใช้จ่าย และพยายามพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด และดำเนินไปใน 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. การผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้
2. การรวมกลุ่มในการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการพัฒนา
3. การสร้างเครือข่ายโดยการร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความเข้มแข็งในระดับประเทศ
จะเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงในความหมายของปราชญ์ชาวบ้าน ก็คือแนวทางและขั้นตอนปฏิบัติของ “ทฤษฎีใหม่” ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจาก “ทฤษฎีใหม่” คือ แนวทางสำหรับเกษตรกรเพื่อให้พออยู่ พอกิน และเลี้ยงตัวเองได้ตามหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” นั่นเอง
3. ความหมายตามเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง ในความหมายของเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง อันประกอบด้วย 5 เครือข่ายหลัก ได้แก่ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน เครือข่ายเกษตรสมดุล-ไร่ทักสม กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศในรูปของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงกว่า 120 ศูนย์อบรม โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติโดยเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับคน แก้ปัญหาที่คน ทางออกของปัญหา คือ การสร้างปัญญา ให้เกษตรกรฉลาดรอบรู้ และไม่ตกเป็นเหยื่อของกลไกที่ไม่ได้มุ่งช่วยเกษตรกรอย่างจริงใจอีกต่อไป โดยใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งมีอยู่ 5 คำหลัก คือ ศรัทธา กล้าหาญ เอกภาพ ความรู้ คุณธรรม และมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า เศรษฐกิจพอเพียง ของพระเจ้าอยู่หัวฯ คือยุทธศาสตร์ทางรอดของชาติ และทางออกจากปัญหาวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน แต่ต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ดังคำกล่าวที่ว่า “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง”
การปรับประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ในรูปแบบของบันได 9 ขั้น สู่ความยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ขั้นที่ 1 พอกิน
พื้นฐานที่สุดของมนุษย์ คือ ความต้องการปัจจัย ๔ และประการสำคัญที่สุดของปัจจัย ๔ คือ อาหาร ขั้นที่ 1 ของแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือ ตอบคำถามให้ได้ว่า “ทำอย่างไรจึงจะพอกิน” โดยให้ความสำคัญกับ ข้าวปลาอาหาร ไม่ให้ความสำคัญกับเงิน ซึ่งเป็นเพียงแค่ “ตัวกลาง” ในการแลกเปลี่ยนตามมาตรฐานสากล โดยยึดหลักว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง”
เกษตรกรต้องเริ่มจากการอยู่ให้ได้โดยไม่ใช้เงิน มีอาหารพอมี พอกิน ด้วยการปลูกพืช ผัก ผลไม้ ให้พอกิน ชาวนาต้องเก็บข้าวไว้ให้เพียงพอสำหรับการมีกินทั้งปี ไม่ขายข้าวเปลือกเพื่อนำเงินไปซื้อข้าวสาร
นอกจากนั้น หัวใจสำคัญของ “พอกิน” ยังมีความหมายรวมไปถึงความปลอดภัยในอาหาร กินอย่างไรให้มีสุขภาพดี ไม่สะสมเอาความเจ็บไข้ได้ป่วยไว้ในร่างกาย นี่คือความหมายของบันไดขั้นที่ 1 ที่เกษตรกรต้องก้าวข้ามให้ได้
ขั้นที่ 2-4 พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น
บันไดขั้นที่ 2-4 พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เกิดขึ้นได้พร้อมกัน ด้วยคำตอบเดียวคือ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ซึ่งป่า 3 อย่างจะให้ทั้ง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม สมุนไพรสำหรับรักษาโรคทั้งโรคคน โรคพืช โรคสัตว์ ให้ไม้สำหรับทำบ้านพักที่อยู่อาศัย และให้ความร่มเย็นกับบ้าน กับชุมชน กับโลกใบนี้ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง และยังสามารถย้อนกลับไปแก้ไขปัญหาหนี้สินซึ่งสะสมพอกพูนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปัญหาความขาดแคลนน้ำ ภัยแล้ง ทั้งหมดล้วนแก้ไขได้จากแนวคิดป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ขั้นที่ 5 –6 บุญและทาน
เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมั่นว่าสังคมไทยเป็นสังคมบุญ สังคมทาน ไม่เน้นการแลกเปลี่ยนทางการค้า แต่เน้นการทำบุญ ไม่เน้นการสะสมเป็นของส่วนตัว แต่เน้นการให้ทานและสะสมโดยมอบให้เป็นทรัพย์สินส่วนร่วมโดยวัด หรือศาสนสถานตามแต่ละศาสนาเป็นศูนย์กลาง เป็นการฝึกจิตใจ ให้ละซึ่งความโลภ และกิเลสในการอยากได้ ใคร่ มี ลดปัญหาช่องว่างระหว่างชนชั้น ตามความหมายอันลึกซึ้งของคำ “Our Loss is Our Gain” หรือ “ยิ่งทำยิ่งได้ ยิ่งให้ยิ่งมี” การให้ไปคือได้มา และเชื่อมั่นในฤทธิ์ของทาน ว่าทานมีฤทธิ์จริง และจะส่งผลกลับมาเป็นเพื่อน เป็นกัลยาณมิตร เป็นเครือข่ายที่ช่วยเหลือกันในทุกสถานการณ์ แม้ในวันที่โลกนี้ประสบกับวิกฤตการณ์
ขั้นที่ 7 เก็บรักษา
ขั้นต่อไปหลังจากสามารถพึ่งตนเองได้ พอมี พอเหลือทำบุญ ทำทานแล้ว คือการรู้จักเก็บรักษา ซึ่งเป็นการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และการรู้จักเก็บรักษา ยังเป็นการสร้างรากฐานของการเอาตัวรอดในเวลาเกิดวิกฤตการณ์ โดยยึดแนวทางตามวิถีชีวิตชาวนาสมัยก่อนซึ่งเก็บรักษาข้าวไว้ในยุ้งฉางเพื่อให้พอมีกินข้ามปี คัดเลือกและเก็บรักษา “ข้าวพันธุ์” ไว้สำหรับเป็นพันธุ์ข้าวในปีต่อไป ซึ่งผิดกับวิถีชาวนาในปัจจุบันที่ใช้วิธีการขายข้าวทั้งหมดแล้วนำเเงินที่ขายได้ไปซื้อพันธุ์ข้าวเพื่อปลูกในปีต่อไป ส่งผลให้เกิดการขาดความมั่นคงและเปรียบเสมือนการใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางสายความประมาท เพราะหากเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ย่อมหมายถึงปัญหาหนี้สินและการขาดแคลนพันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในปีต่อไป
นอกจากเก็บพันธุ์ข้าวแล้ว ยังเน้นให้รู้จักวิธีการถนอมอาหาร การสะสมอาหารไว้กินในยามหน้าแล้ง ด้วยการแปรรูปอาหารหลากชนิด อาทิ ปลาร้า ปลาแห้ง มะขามเปียก พริกแห้ง หอม กระเทียม เพื่อเก็บไว้กินในอนาคต
ขั้นที่ 8 ขาย
เนื่องจากเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เศรษฐกิจการค้า แต่ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจหลังเขา การค้าขายสามารถทำได้ แต่ทำภายใต้การรู้จักตนเอง รู้จักพอประมาณ และทำไปตามลำดับ โดยของที่ขาย คือ ของที่เหลือจากทุกขั้นแล้วจึงนำมาขาย เช่น ทำนาอินทรีย์ ปลูกข้าวปลอดสารเคมี ไม่ทำลายธรรมชาติ ได้ผลผลิตเก็บไว้พอกิน เก็บไว้ทำพันธุ์ ทำบุญ ทำทาน แล้วจึงนำมาขายด้วยความรู้สึกของการ “ให้” อยากที่จะให้สิ่งดีๆ ที่เราปลูกเอง เผื่อแผ่ให้กับคนอื่นๆ ได้รับสิ่งดีๆ นั้นๆ ด้วย การค้าขายตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการค้าที่มองกลับด้าน “เพราะรักคุณจึงอยากให้คุณได้รับในสิ่งดีๆ” พอเพียงเพื่ออุ้มชู เผื่อแผ่ แบ่งปัน ไปด้วยกัน
ขั้นตอนที่ 9 กองกำลังเกษตรโยธิน
ขั้นที่ 9 คือการสร้างกองกำลังเกษตรโยธิน หรือการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งประเทศ เพื่อขยายผลความสำเร็จตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิวัติแนวคิด และวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ในชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาวิกฤต 4 ประการ อันได้แก่ วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ (Environmental Crisis) วิกฤตการณ์โรคระบาดทั้งในคน สัตว์ พืช (Epidemic Crisis) วิกฤตเศรษฐกิจ ข้าวยากหมากแพง (Economic Crisis) วิกฤตความขัดแย้งทางสังคม/สงคราม (Political/Social Crisis)
• ทฤษฎีใหม่ กระบวนการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการทฤษฎีใหม่แห่งแรกของประเทศ เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชกระแสให้มูลนิธิชัยพัฒนา พิจารณาจัดซื้อที่ดินที่ติดกับวัดมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี โดยต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามจากวัดมงคลเป็นวัดมงคลชัยพัฒนา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2535 เป็นต้นมา
จากพระราชกระแสข้างต้นมูลนิธิชัยพัฒนาจึงได้จัดซื้อและมีผู้บริจาคที่ดินบริเวณดังกล่าวรวม 32-0-47 ไร่ เพื่อนำมาพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้ใช้สถานที่ดังกล่าว ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เป็นศูนย์สาธิตการดำเนินเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างเป็นรูปธรรม สามารถให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติในพื้นที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพออยู่พอกิน ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นจุดกำเนิดของ เกษตรทฤษฎีใหม่ แห่งแรกในประเทศไทย
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาฯ แบ่งพื้นที่ดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนคือ
- ส่วนที่หนึ่ง แปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน จำนวน 16-2-23 ไร่ ดำเนินการทดสอบและพัฒนาระบบการปลูกพืชผักสวนครัวในรูปแบบต่างๆ อาทิ สวนพืชตระกูลมะ สวนพืชสมุนไพร สวนผลไม้ในที่ดอน สวนพรรณไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงการขุดสระน้ำสำหรับเลี้ยงปลาและปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เป็นต้น
- ส่วนที่สอง แปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ จำนวน 15-2-24 ไร่ แบ่งพื้นที่ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน คือ 30-30-30-10 โดยสัดส่วนดังกล่าวได้นำมาปรับตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ของวัดมงคลชัยพัฒนา ในสัดส่วน 16-35.5-24.5-24 โดยแต่ละส่วนประกอบด้วย
• ส่วนที่หนึ่ง ร้อยละ 16 พื้นที่ประมาณ 2.5 ไร่ ดำเนินการขุดสระกักเก็บน้ำขนาด 55 เมตร ยาว 71 เมตร ลึก 5 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 18,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อนำน้ำมาไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนี้ในสระยังได้เลี้ยงปลานิลและปลาตะเพียน เพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
• ส่วนที่สอง ร้อยละ 35.5 พื้นที่ประมาณ 5.5 ไร่ พัฒนาพื้นที่เป็นแปลงนาข้าว โดยหลังฤดูเก็บเกี่ยวสามารถปรับสภาพดินเพื่อทำการปลูกพืชไร่ พืชผักชนิดต่างๆ เช่น ข้าวโพดหวาน มะระ ถั่วเขียว เป็นต้น
• ส่วนที่สาม ร้อยละ 24.5 พื้นที่ประมาณ 3.8 ไร่ ทำการเกษตรอื่นๆ เช่น ปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชสมุนไพร เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือจากการนำบริโภคก็นำไปจำหน่าย โดยเลือกปลูกให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของตลาด ตัวอย่างของพืชที่ปลูกคือ อ้อย กล้วย กระถิน พริกขี้หนู มะกรูด เป็นต้น
• ส่วนที่สี่ ร้อยละ 24 พื้นที่ประมาณ 3.7 ไร่ เป็นส่วนของที่อยู่อาศัย ถนนและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการปลูกผักสารพิษเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายเป็นการลดค่าใช้จ่ายและเสริมรายได้ในครัวเรือน
อาจกล่าวได้ว่าวัดมงคลชัยพัฒนา คือ แหล่งกำเนิด “เกษตรทฤษฎีใหม่” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และเป็นศูนย์สาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติในพื้นที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและพึ่งพาตนเองได้อย่างพออยู่พอกิน
• ความเชื่อมโยงของทฤษฎีใหม่กับเศรษฐกิจพอเพียง
หากกล่าวว่า วัดมงคลชัยพัฒนา คือ แหล่งกำเนิด “เกษตรทฤษฎีใหม่” และ ทฤษฎีใหม่ คือ เศรษฐกิจพอเพียงสำหรับเกษตรกร ดังนั้นในรูปแบบเดียวกันนี้เราทุกคนสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมได้กับทุกกลุ่มคน และทุกองค์กร โดยน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา เป็นแนวปฏิบัติตนไม่ว่าจะอยู่ในกิจกรรมหรืออาชีพใด ก็ต้องยึดวิถีชีวิตไทยที่อยู่แต่พอดี ยึดเส้นทางสายกลาง อยู่กินตามฐานะ ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต เจริญเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าใช้หลักการลงทุนเชิงการพนันซึ่งตั้งอยู่บนความเสี่ยง กู้เงินมาลงทุนโดยหวังรวยอย่างรวดเร็วแล้วก็ไปสู่ความล้มละลายในที่สุด ควรตั้งอยู่บนหลักของ “รู้ รัก สามัคคี” ใช้สติปัญญาปกป้องตนเองไม่ให้หลงกระแสโลกาภิวัฒน์โดยไม่รู้ถึงเหตุและผลตามสภาพแวดล้อมของไทย ให้รู้จักแยกแยะสิ่งดี สิ่งเลว สิ่งที่เป็นประโยชน์ตามสภาพความเป็นจริงของบ้านเมืองของเราเป็นที่ตั้ง ให้มีความรัก ความเมตตาที่จะช่วยเหลือสังคมให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ และรวมพลังกันด้วยความสามัคคีเป็นหมู่เหล่า ขจัดข้อขัดแย้งไปสู่ความประนีประนอมรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
เศรษฐกิจพอเพียง คือ การดำรงชีวิตในความพอดี มีชีวิตใหม่ คือ หวนกลับมาใช้วิถีชีวิตไทยเป็นการสร้างรากฐาน หรือพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า
“...อาคารบ้านเรือน ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง ก็เพราะความแข็งแรงของรากฐาน หรือเสาเข็ม ซึ่งเรามองไม่เห็น และมักจะลืมไปว่าเราอยู่ได้บนฐานรากอะไร...”
หากรากฐานของประเทศ คือ เกษตรกร ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ตามแนวทาง “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งพระองค์ท่านได้แปลงทฤษฎี สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ เดินตามได้ ทำตามได้ ดังตัวอย่างโครงการทฤษฎีใหม่ วัดมงคลชัยพัฒนา โครงการทฤษฎีใหม่แห่งแรกของประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบ และรอคอยให้เกษตรกรในจังหวัดสระบุรี และทั่วประเทศได้น้อมนำแนวทางที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ไว้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำให้ชาติบ้านเมืองและตัวเราหลุดพ้นจากความทุกข์ มีความสุขอย่างมั่นคง ยั่งยืนและพอเพียง