โพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยของ "พ่อ"
ศูนย์เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง

ติดต่อเรา

มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)


User login

หลักการ / การปฏิบัติ / ตัวอย่างของทฤษฎีใหม่

  • strict warning: Non-static method view::load() should not be called statically in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/views.module on line 879.
  • strict warning: Declaration of views_handler_argument::init() should be compatible with views_handler::init(&$view, $options) in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/handlers/views_handler_argument.inc on line 0.
  • strict warning: Declaration of views_handler_filter::options_validate() should be compatible with views_handler::options_validate($form, &$form_state) in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/handlers/views_handler_filter.inc on line 0.
  • strict warning: Declaration of views_handler_filter::options_submit() should be compatible with views_handler::options_submit($form, &$form_state) in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/handlers/views_handler_filter.inc on line 0.
  • strict warning: Declaration of views_handler_filter_term_node_tid::value_validate() should be compatible with views_handler_filter::value_validate($form, &$form_state) in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/modules/taxonomy/views_handler_filter_term_node_tid.inc on line 0.
  • strict warning: Non-static method view::load() should not be called statically in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/views.module on line 879.
  • strict warning: Non-static method view::load() should not be called statically in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/views.module on line 879.
  • strict warning: Non-static method view::load() should not be called statically in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/views.module on line 879.
  • strict warning: Declaration of views_plugin_style_default::options() should be compatible with views_object::options() in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/plugins/views_plugin_style_default.inc on line 0.
  • strict warning: Declaration of views_plugin_row::options_validate() should be compatible with views_plugin::options_validate(&$form, &$form_state) in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/plugins/views_plugin_row.inc on line 0.
  • strict warning: Declaration of views_plugin_row::options_submit() should be compatible with views_plugin::options_submit(&$form, &$form_state) in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/plugins/views_plugin_row.inc on line 0.
  • strict warning: Non-static method view::load() should not be called statically in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/views.module on line 879.
  • strict warning: Declaration of views_handler_filter_boolean_operator::value_validate() should be compatible with views_handler_filter::value_validate($form, &$form_state) in /home/agrinatu/domains/agrinature.or.th/public_html/sites/all/modules/views/handlers/views_handler_filter_boolean_operator.inc on line 0.

 

ทฤษฎีใหม่คืออะไร?

ทฤษฎีใหม่เป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระราชทานเป็นแนวคิด แนวทางในการดำรงชีวิต โดยเป็นแนวทางดำเนินการที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองในระดับต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ และความผันแปรของธรรมชาติ [1]

ทฤษฎีใหม่เป็นระบบความคิดเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาที่ไม่เคยมีผู้ใดคิดมาก่อน และแตกต่างจากแนวคิด ทฤษฎีและวิธีการที่เคยมีมาก่อนทั้งสิ้น จึงได้เรียกว่าเป็นทฤษฎีใหม่ซึ่งมีมากกว่า 30 ทฤษฎี อาทิ ทฤษฎีการจัดการความแห้งแล้งด้วยการทำฝนเทียม ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ทฤษฎีการจัดการน้ำด้วยการสร้างฝายชุ่มชื้น เป็นลักษณะฝายขนาดเล็ก กักน้ำและความชื้นให้กระจายตัวในผืนดิน สร้างความชุ่มชื้นแก่ป่า แตกต่างจากทฤษฎีการจัดการน้ำในอดีตซึ่งใช้การกั้นเขื่อนขนาดใหญ่เป็นหลัก หรือทฤษฎีการจัดการน้ำท่วมด้วยการทำแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นทฤษฎีใหม่ทั้งสิ้น และสามารถนำมาใช้ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายคือ ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ พออยู่ พอกิน พอใช้ และก้าวต่อไปสู่การร่วมมือกันจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างเป็นขั้นเป็นตอน หรืออาจเรียกว่า จากขั้นพื้นฐานสู่ขั้นก้าวหน้าก็ได้

ส่วน ทฤษฎีใหม่” ในความหมายที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ หมายถึง ทฤษฎีใหม่ด้านการบริหารที่ดินจำนวนน้อย ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชดำริในระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการทำการเกษตรบนที่ดินจำนวนน้อย โดยมีเป้าหมายเพื่อการอยู่อาศัยและการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคง ยั่งยืน ซึ่งเป็นการคิดบนหลักการใหม่แตกต่างจากแนวทางการทำการเกษตรอุตสาหกรรม ที่มุ่งผลิตผลผลิตในปริมาณมากเพื่อการค้าขายเป็นหลัก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงแรกนั้นพระองค์ทรงใช้พื้นที่บริเวณวังสวนจิตรลดารโหฐานเป็นสถานที่ทำการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง จากนั้นได้ขยายไปยังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันมีมากกว่า 3,000 โครงการ โดยโครงการสำคัญโครงการหนึ่งตั้งอยู่ ณ วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ์ ในจังหวัดสระบุรี ซึ่งถือเป็นพื้นที่แรกที่ได้นำ “ทฤษฎีใหม่” สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จนประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ทั่วประเทศ

  • หัวใจสำคัญของทฤษฎีใหม่

“…ทฤษฎีใหม่ ยืดหยุ่นได้

และต้องยืดหยุ่นเหมือนชีวิตของเราทุกคนต้องมียืดหยุ่น…”

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเพชรบุรี

เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2541[2]

แนวพระราชดำริเมื่อวันที่ 5 และ 15 มีนาคม 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงชี้ให้เห็นว่า อาชีพของคนส่วนใหญ่ของประเทศ คือ การเกษตรกรรม โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเกษตรกรรายย่อย มีสมาชิกครอบครัวเฉลี่ยประมาณครอบครัวละ 5-6 คน ส่วนใหญ่มีฐานะค่อนข้างยากจน มีที่ดินทำกินน้อย หรือบางรายไม่มีที่ดินทำกินเลย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทาน “ทฤษฎีใหม่” เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา โดยประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับการทำการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรมโดยเริ่มจากการศึกษาข้อมูลจนพบว่า เกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีพื้นที่เฉลี่ยอยู่ประมาณครอบครัวละ 10-15 ไร่ จึงทรงคิดคำนวณ จำแนกการใช้พื้นทีดินเพื่อการดำเนินชีวิต โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ทำอย่างไรให้มีข้าวปลาอาหารเพียงพอตลอดปีจากผืนดิน เพื่อที่จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปกับค่าอาหาร และของกินของใช้ต่างๆ เพื่อให้มีรายได้เหลือพอสำหรับจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต นอกจากนั้นยังมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เมื่อมีความมั่นคงในชีวิต ก็ดำเนินชีวิตด้วยความรัก ความสามัคคีและเอื้ออาทรกัน

จากนั้นจึงทรงพระราชทานดำริให้ทดลอง “ทฤษฎีใหม่” ขึ้นครั้งแรกที่ วัดมงคลชัยพัฒนา เมื่อปีพ.ศ.2532 โดยพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 15 ไร่ใกล้วัดมงคลชัยพัฒนา ทดลองทำทฤษฎีใหม่ จากนั้นขยายโครงการไปยังที่อื่นๆ อีก เช่นที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ และภายหลังได้ทรงสรุปแนวคิด เป็นวิธีการดำเนินงาน “ทฤษฎีใหม่” 3 ขั้นตอน ดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 การผลิตเพื่อพออยู่ พอกิน และพึ่งตนเองได้

             ทำอย่างไรให้ พออยู่ พอกิน พึ่งตนเองได้ ?

คำตอบ คือ ทำอย่างไรให้ผืนดินที่มีอยู่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เพื่อการพออยู่ (ที่อยู่อาศัย) พอกิน (อาหาร) พึ่งตนเองได้ (อาชีพที่มั่นคง) จึงต้องมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ และใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ดังนี้

ส่วนที่ 1   พื้นที่ร้อยละ 30 ขุดบ่อน้ำ ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ทำเล้าสัตว์บนสระน้ำ

ส่วนที่ 2  พื้นที่ร้อยละ 30 ทำนา

ส่วนที่ 3  พื้นที่ร้อยละ 30 ปลูกพืชไร่ พืชสวน ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย

ส่วนที่ 4  พื้นที่ร้อยละ 10 บ้านพัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด ผักสวนครัว ไม้ประดับ กองฟาง กองปุ๋ยหมัก

  • ขั้นตอนที่ 2 การรวมพลังหรือร่วมแรงกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์

             ทำอย่างไรให้ เข้มแข็ง ?

คำตอบคือ การรวมกลุ่มกัน เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งโดยแปรพลังเกษตรกรสู่การสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน ในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. การผลิต :การเตรียมดิน การจัดการแหล่งน้ำ พันธุ์พืช ปุ๋ย และปัจจัยการผลิตอื่นๆ
  2. การตลาด :การเตรียมลานตากข้าว การจัดหายุ้งฉาง เครื่องสีข้าว การรวมกลุ่มกันขายผลิตผลทางการเกษตร
  3. การเป็นอยู่ :การดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนร่วมกัน เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ด้วยการเผื่อแผ่ แบ่งปันระหว่างคนในชุมชนหรือการตั้งร้านค้าสหกรณ์ชุมชน
  4. สวัสดิการ :การจัดการด้านสาธารณสุขของชุมชน ด้วยการร่วมมือกันจัดหาบริการสวัสดิการสังคมพื้นฐานสำหรับชุมชน เช่น สถานบริการสาธารณสุขชุมชน บริการด้านสุขอนามัย หรือการตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
  5. การศึกษา :ชุมชนรวมตัวกันสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษา โดยมีบทบาทด้านการส่งเสริมการศึกษาชุมชน การสิบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
  6. สังคมและศาสนา :มีการสืบทอดทางวัฒนธรรม การส่งต่อประเพณี และการสืบทอดศาสนา การปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้กับคนในชุมชน  
  • ขั้นตอนที่ 3 การติดต่อประสานเพื่อหาแหล่งทุนหรือแหล่งเงิน

             ทำอย่างไรให้ ยั่งยืน ?

คำตอบคือ การประสานความร่วมมือไปยังบริษัทเอกชน แหล่งทุน และบริษัทด้านพลังงาน เพื่อก้าวเข้าสู่ขั้นที่ 3 ของการพึ่งตนเอง โดยการขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก ธนาคาร บริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงานเอกชน ให้ความสำคัญกับการได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เช่น บริษัทห้างร้าน ได้ซื้อข้าว และผลผลิตทางการเกษตรราคาถูกจากเกษตรกรโดยตรง แลกเปลี่ยนกับการให้พื้นที่ในการจำหน่ายสินค้า

โดยรายละเอียดของแต่ละขั้นตอน เมื่อนำไปปฏิบัติจริงจะทำได้อย่างไร จะได้กล่าวถึงต่อไป

 

  • ความแตกต่างของทฤษฎีเก่ากับทฤษฎีใหม่

ทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากจะเป็นการบริหารจัดการพื้นที่จำนวนน้อยแล้ว สำคัญกว่านั้นคือ เป็น “แนวทางในการดำเนินชีวิต” เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองได้ ซึ่งเป็นความแตกต่างที่สำคัญของทฤษฎีใหม่ นอกจากนั้นยังมีความแตกต่างในการจัดการด้านต่างๆ ดังนี้

                                                    ทฤษฎีเก่า                                              ทฤษฎีใหม่

การจัดการพื้นที่       เกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกพืชชนิดเดียว                            แบ่งพื้นที่ 30 : 30 : 30 : 10

                               เต็มพื้นที่

่การจัดการดิน         ทำนาแบบขั้นบันได ลดการชะล้างหน้าดิน                  ทำนาแบบขั้นบันได ลดการชะล้างหน้าดิน

                                                                                                      ปลูกแฝกยึดหน้าดิน ลดการพังทลาย

                                                                                                      ปลูกแฝกรอบโคนต้นไม้ช่วยกักเก็บน้ำในดิน

 การจัดการน้ำ         ระบบเขื่อนกักเก็บน้ำและปล่อยน้ำ                             ขุดสระโดยการคำนวณปริมาณน้ำ

                              ตามระบบชลประทาน                                          ให้เพียงพอต่อการทำนา ทำสวน

                                                                                                      จัดหาแหล่งน้ำเสริมโดยการใช้ทฤษฎี

                                                                                                      อ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก

อาหาร                     ขายผลผลิตเพื่อนำเงินไปซื้ออาหาร                          ปลูกข้าวพอกินในครัวเรือน

                                                                                                       ปลูกผักสวนครัว พืชน้ำ ปลูกผลไม้

                                                                                                       เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ พึ่งตนเองได้ด้านอาหาร

ที่อยู่อาศัย               ขายผลผลิตเพื่อนำเงินไปสร้างบ้าน                          ปลูกไม้เพื่อสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์

                                                                                                       และเครื่องเรือน

เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม   ขายผลผลิตเพื่อนำเงินไปซื้อเสื้อผ้า                         ลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร พอมีเหลือ

ข้าวของที่จำเป็น      ขัดสน เมื่อราคาผลผลิตตก หรือ                          เพื่อจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น

                              ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ                      พึ่งตนเองได้แม้มีภัยธรรมชาติ

ยารักษาโรค              เจ็บป่วยจากเกษตรเชิงเดี่ยว                                    พึ่งตนเองด้วยปุ๋ยชีวภาพ

                                การใช้ยาฆ่าแมลง และสารเคมี                            ลดการใช้เคมีใช้ธรรมชาติสู้ธรรมชาติ

                                                                                                        ภูมิปัญญาชาวบ้านสมุนไพรต้านโรค

  • ทฤษฏีใหม่ สู่การปฏิบัติ

ทฤษฎีใหม่ มีเป้าหมายขั้นต้น คือ พึ่งตนเองให้ได้ และก้าวสู่ความเข้มแข็งด้วยการรวมกลุ่มชุมชน สร้างความร่วมมือในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อดูแลกันและกันในชุมชน สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีศาสนาเป็นศูนย์กลาง ก่อนขยายสู่ขั้นที่สาม คือ การต่อยอดความยั่งยืนในรูปของการเชื่อมโยงแหล่งทุนภายนอก และบริษัทพลังงานเพื่อขยายรูปแบบการผลิตสู่วิสาหกิจชุมชนด้วยการสนับสนุนของธนาคาร และบริษัทห้างร้าน หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

        แม้จากทฤษฎีจะดูเหมือนว่าสามารถดำเนินการได้เป็นขั้นเป็นตอน และน่าจะสำเร็จได้โดยง่าย แต่การจะนำ 3 ขั้นตอนของทฤษฎีใหม่ไปปฏิบัติให้สำเร็จนั้นมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงหลายประการ และที่สำคัญต้องไม่ลืมเรื่องของ “ความยืดหยุ่น” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกล่าวไว้บ่อยครั้งว่า อย่าติดตำรา” เหตุเพราะสิ่งที่พระองค์ท่านทรงพระราชดำรินั้นเป็น ทฤษฎีใหม่” ย่อมยังไม่มีในตำราใดๆ และด้วยความเป็นทฤษฎีใหม่นี้ สิ่งต่างๆ ที่กำหนดขึ้นก็เป็นเพียง “Tentative Formula” หรือสูตรคร่าวๆ เมื่อนำไปปฏิบัติจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และปัจจัยอื่นๆ ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละครอบครัวซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามภูมิสังคม

ขั้นตอนที่ 1 การผลิตเพื่อพออยู่ พอกิน และพึ่งตนเองได้

ขั้นที่ 1 ของทฤษฎีใหม่ มีหลักสำคัญ คือ การผลิตเพื่อพออยู่ พอกิน และพึ่งตนเองได้ ด้วยการจัดการ 3 อย่าง คือ

  1. การจัดการที่ดินขนาดเล็กเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดตามทฤษฎีใหม่
  2. การจัดการบริหารแหล่งน้ำ
  3. การจัดการด้านการเกษตร เพื่อการพออยู่ พอกิน พึ่งตนเองได้
  1. การจัดการที่ดินขนาดเล็กเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดตามทฤษฎีใหม่

ส่วนที่ 1   พื้นที่ร้อยละ 30 ขุดบ่อน้ำ ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ทำเล้าสัตว์บนสระน้ำ

ส่วนที่ 2  พื้นที่ร้อยละ 30 ทำนา

ส่วนที่ 3  พื้นที่ร้อยละ 30 ปลูกพืชไร่ พืชสวน ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย

ส่วนที่ 4  พื้นที่ร้อยละ 10 บ้านพัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด ผักสวนครัว ไม้ประดับ กองฟาง กองปุ๋ยหมัก

จากหลักการนี้ลองแบ่งที่ดินตามสัดส่วนดังที่กำหนดไว้ ซึ่งต้องไม่ลืมว่าหลักการนี้เป็นแต่เพียง สูตรคร่าวๆ” เท่านั้น ดังนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพพื้นที่ โดยมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงที่สำคัญ คือ

  1. ผืนที่นา ต้องผลิตข้าวได้เพียงพอเลี้ยงสมาชิกในครอบครัว (เหลือแล้วจึงขาย)
  2. บ่อน้ำ ต้องสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เพียงพอใช้ตลอดทั้งปี ทั้งสำหรับที่นา ที่ไร่ สวน ผักสวนครัว และน้ำกิน น้ำใช้ในครัวเรือน (หากขุดสระได้ปริมาณน้ำไม่พอใช้ทั้งปี ต้องร่วมมือกันบริหารจัดการแหล่งน้ำ โดยใช้ระบบอ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ)
  3. การจัดการด้านการเกษตร เพื่อการพออยู่ พอกิน มีเป้าหมายเพื่อให้พึ่งตนเองได้โดยเลือกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำ ความชำนาญ และรูปแบบของการใช้ชีวิต
  4. ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัดก่อน โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจ และความสามัคคีของคนในชุมชน ช่วยเหลือกันและกันเพื่อ “ลดรายจ่าย” ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งตนเองได้แบบ พออยู่ พอกิน พอใช้            

ตัวอย่างการแบ่งพื้นที่ สำหรับที่ดินจำนวน 15 ไร่

        บ้าน นายแสนยา พื้นที่ 15 ไร่ จ.น่าน มีฝนตกปานกลาง ห่างไกลระบบชลประทาน

 

ตัวอย่างการแบ่งพื้นที่ สำหรับที่ดินจำนวน 15 ไร่ (พื้นที่มีฝนตกบ่อย)

        บ้าน นายเหมือง พื้นที่ 15 ไร่ จ.ชุมพร มีฝนตกตลอดปี

จะเห็นได้ว่า การจัดการแบ่งพื้นที่สำหรับเป็น ผืนนา แหล่งน้ำ ปลูกผลไม้ ทำสวน ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปริมาณน้ำฝน” และสภาพแวดล้อมอื่นๆ ดังตัวอย่าง บ้านนายแสนยา และบ้านนายเหมือง ซึ่งอยู่กันคนละภาค คนหนึ่งอยู่ภาคเหนือ คนหนึ่งอยู่ภาคใต้ ปริมาณน้ำฝนย่อมไม่เท่ากัน ดังนั้นความจำเป็นในการกักเก็บน้ำไว้ใช้จึงต่างกันตามไปด้วย

คราวนี้ หากมาพิจารณาถึงสภาพพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี แม้ว่าความแตกต่างของปริมาณน้ำฝนในธรรมชาติจะน้อย สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ระบบชลประทาน และการจัดการน้ำของชุมชน เช่น มีอ่างน้ำขนาดเล็กรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์หรือไม่ (ตามระบบ อ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ)

หลักการคำนวณพื้นที่

  • พื้นที่นา 5 ไร่

พื้นที่ร้อยละ 30 หรือประมาณ 5 ไร่ใช้ทำนาเพื่อปลูกข้าวไว้กินในครัวเรือน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงคำนวณว่า คนไทยกินข้าวเฉลี่ยคนละ 200 กิโลกรัมต่อปี ถ้าครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 5-6 คน จะกินข้าวเฉลี่ยประมาณ 1.200 กิโลกรัมต่อปี ดังนั้น จะต้องปลูกข้าวเพื่อนำไปสีให้ได้ข้าวสาร 1,200 กิโลกรัมคือ ผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 1,462.5 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ย 325 กิโลกรัมต่อไร่ หรือประมาณ 21 ถังต่อไร่

ดังนั้น ถ้าปลูกข้าวในพื้นที่ 5 ไร่โดยการตัดเลือกพันธุ์ข้าว และมีเทคโนโลยีที่เหมาะสม น่าจะได้ข้าวในปริมาณที่พอเพียงต่อการเลี้ยงทั้งครอบครัว (21 ถัง/ไร่/ปี) และอาจมีเหลือพอขายได้

ล้อมกรอบ

    แรงดลพระราชหฤทัยในเรื่องนี้เกิดจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน บริเวณพื้นที่บ้านกุตตอแก่น ตำบลกุตสิมคุ้มใหญ่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธิ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2535 ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำรัสแก่บรรดาคณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2535 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรดา พระราชวังดุสิต ว่า
 “...ถามชาวบ้านที่อยู่นั่นว่าเป็นอย่างไรบ้างปีนี้ เขาบอกว่าเก็บข้าวได้แล้วข้าวก็อยู่ตรงนั้นกองไว้เราก็ไปดูข้าว ข้าวนั้นมีรวงจริงแต่ไม่มีเมล็ดหรือรวงหนึ่งมีซักสองสามเมล็ด ก็หมายความว่า 1 ไร่คงได้ข้าวประมาณซักถังเดียวหรือไม่ถึงถังต่อไร่ ่เขาทำไมเป็นอย่างนี้ เขาบอว่าเพราะไม่มีฝนเขาปลูกกล้าไว้แล้วเมื่อขึ้นมาก็ปักดำ ปักดำไม่ได้เพราะว่าไม่มีน้ำก็ปักในทรายทำรู ในทรายแล้วก็ปักลงไป เมื่อปักแล้วตอนกลางวันก็เฉามันงอลงไป แต่ตอนกลางคืนก็ตั้งตัวตรงขึ้นมาเพราะมีน้ำค้าง และในที่สุด ก็ได้รวงแต่ไม่มีข้าว ข้าวเท่าไร อันนี้เป็นบทเรียนที่ดี...แสดงให้เห็นว่าข้าวนี้เป็นพืชแข็งแกร่งมากขอให้ได้มีน้ำค้างก็พอ แม้จะเป็น ข้าวธรรมดา ไม่ใช่ข้าวไร่ ถ้าหากว่าเราช่วยเขาเล็กน้อยก็สามารถที่จะได้ข้าวมากขึ้นหน่อยพอที่จะกิน ฉะนั้นโครงการ ที่จะทำมิใช่ต้องทำโครงการใหญ่โตมากจะได้ผล ทำเล็กๆก็ได้จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่าในที่เช่นนั้นฝนตกดีพอสมควร แต่ลงมาไม่ถูกระยะเวลา...ฝนก็ทิ้งช่วง...
 จากพระราชดำรัสข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการที่ทรงรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากปัญหาข้อเท็จจริงแล้วทรงวิเคราะห์เป็นแนวคิดทฤษฏีว่า
 “...วิธีการแก้ไขก็คือต้องเก็บน้ำฝนที่ตกลงมา ก็เกิดความคิดว่าอยากทดลองดูสัก 10 ไร่ในที่อย่างนั้น 3 ไร่จะเป็นบ่อน้ำ คือเก็บน้ำฝนแล้ว ถ้าจะต้องบุด้วยพลาสติกก็บุด้วยพลาสติกทดลองดูแล้ว อีก 6 ทำไร่ทำเป็นที่นา ส่วนไร่ที่เหลือก็เป็นบริการหมายถึงทางเดินหรือกระต๊อบหรืออะไรก็ได้แล้วแต่หมายความว่า น้ำ 30 % ที่ทำนา 60 % ก็เชื่อว่าถ้าเก็บน้ำไว้ได้จากเดิมที่ เก็บเกี่ยวข้าวได้ไร่ละ ประมาณ 1-2 ถัง ถ้ามีน้ำเล็กน้อยอย่างนั้นก็ควรจะเก็บเกี่ยวข้าวได้ไร่ละประมาณ 10 -20 ถังหรือมากกว่า

ปิดล้อมกรอบ

  • พื้นที่สระน้ำ 3-4 ไร่ลึก 4 เมตร (ตามปริมาณน้ำฝน และระบบชลประทาน)

หลักการสำคัญ คือ ต้องมีน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อการเพาะปลูกและสำรองไว้ใช้สำหรับการบริโภคตลอดทั้งปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริ ดังนี้ “ให้ขุดสระน้ำในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ลึก 4 เมตรเพื่อเก็บน้ำในฤดูฝนเสมือนเป็นโอ่งน้ำขนาดใหญ่ ความจุประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร โดยแต่ละปีเกษตรกรมีความต้องการใช้น้ำประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อครัวเรือน หรือต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อการเพาะปลูก 1 ไร่โดยประมาณ ซึ่งแยกเป็นการใช้น้ำทำนา 5 ไร่ประมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตร และใช้ปลูกพืชไร่ ไม้ผลหรือพืชผัก สมุนไพร ประมาณ 5,000 ลูกบาศ์กเมตร อย่างไรก็ตามในวันหนึ่งๆ น้ำในสระจะระเหยและลดลงวันละประมาณ 1 เซนติเมตรซึ่งใน 1 รอบปีมี 365 วัน คาดว่าน้ำในสระจะระเหยเฉลี่ยประมาณ 200 วันต่อปี ทำให้ระดับน้ำในสระลดลงประมาณ 3 เมตรต่อปี จึงเหลือน้ำเพื่อใช้ประมาณ 4,750 ลูกบาศก์เมตรต่อครัวเรือนต่อปี จึงจำเป็นต้องหาน้ำมาเติมในสระให้เพียงพอ”

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงคำนวณโดยละเอียดถึงปริมาณน้ำที่กักเก็บได้กับพื้นที่ทำการเกษตรที่น้ำนั้นจะเพียงพอใช้ ส่วนพื้นที่การเกษตรส่วนที่เหลือนั้นพระองค์ทรงใช้คำว่า “จะต้องอาศัยเทวดาเลี้ยง” กระนั้นก็ตามพระองค์ท่านยังได้ทรงพระราชทานแนวทางแก้ไข โดยพระราชดำริให้ดำเนินงานในลักษณะ “อ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ”

ล้อมกรอบ

การขุดสระน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยพิจารณาจาก

  • ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอาศัยน้ำฝน สระน้ำควรมีลักษณะป้องกันไม่ให้น้ำระเหยมากเกินไป เพื่อที่จะเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี
  • ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน สระนั้นอาจมีลักษณะลึก หรือตื้น และแคบหรือกว้างก็ได้ โดยพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะสามารถมีน้ำมาเติมได้เรื่อยๆ

ปิดล้อมกรอบ

  1. การจัดการบริหารแหล่งน้ำ

        การจัดการบริหารแหล่งน้ำตามแนวทางพระราชดำริ ใช้หลักการ “อ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ” ซึ่งเป็นหนึ่งในทฤษฎีการจัดการน้ำรูปแบบใหม่ที่พระองค์ท่านทรงพระราชดำริขึ้น ซึ่งแตกต่างจากระบบเดิมอย่างมาก อธิบายได้ ดังภาพ

ที่นา

 

 

 

 

 

                                                                                                    สระน้ำ

จากภาพสระน้ำขนาดเล็ก คือ สระที่เกษตรกรขุดขึ้นตามทฤษฎีใหม่ เมื่อเกิดช่วงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เกษตรกรสามารถสูบน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ และหากน้ำในสระน้ำไม่เพียงพอก็ขอรับน้ำจากอ่างน้ำขนาดเล็กในระดับชุมชนได้ โดยต้องมีการจัดการวางระบบส่งน้ำเชื่อมต่อท่อลงมายังสระน้ำที่ขุดไว้ในไร่นาแต่ละแปลง

        ด้วยระบบนี้ จะทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี เพราะเมื่อน้ำในสระน้ำที่ขุดไว้ในพื้นที่ของตนพร่อง ก็ยังได้รับน้ำจากระบบชลประทานที่ใช้ระบบอ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก อ่างเล็กเติมสระน้ำ หรือในบางหมู่บ้าน อาจเพิ่ม สระน้ำโครงการเข้าไปอีกระดับขั้นหนึ่ง เพื่อกักเก็บน้ำของชุมชนไว้ที่ส่วนกลาง และส่งต่อไปยังสระน้ำ หรือบ่อน้ำในแต่ละบ้านเมื่อขาดแคลนวิธีกักเก็บน้ำและเสริมน้ำรูปแบบนี้ เป็นวิธีการกระจายน้ำ และกระจายความชุ่มชื้นไปในพื้นที่การเกษตรมากกว่าระบบเกษตรชลประทานแบบดั้งเดิมกว่า 3-5 เท่า เกษตรกรจะจัดการน้ำได้มีประสิทธิภาพดีกว่า และเป็นระบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่แหล่งน้ำชลประทานหายากและมีจำกัด

        การมีสระเก็บน้ำเพื่อเกษตรกรได้มีน้ำใช้อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปีเรียกว่า Regulator หมายถึงการควบคุมให้ดี มีระบบน้ำหมุนเวียนใช้เพื่อการเกษตรตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง สระเก็บน้ำจะใช้เก็บกักน้ำในฤดูฝนและจะใช้เสริมปลูกพืชในฤดูแล้ง รวมทั้งเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำ โดยเกษตรกรควรทำนาในฤดูฝน และเมื่อถึงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ก็ไม่ควรทำนา แต่ควรใช้น้ำที่กักเก็บไว้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการปลูกพืชที่เหมาะสมตามฤดูกาล เช่น หน้าฝนปลูกข้าว (ใช้น้ำมาก) หน้าแล้งปลูกถั่ว (ใช้น้ำน้อย) แต่หากปีใดที่น้ำฝนอุดมสมบูรณ์ก็สามารถนำน้ำที่เหลือไปปลูกพืชที่มีราคาดีในฤดูแล้งเพิ่มเติมได้อีก

        อย่างไรก็ตาม ระบบการบริหารแหล่งน้ำ และการขุดสระน้ำนั้น เกษตรกรอาจประสบปัญหาด้านเงินทุน เพราะเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง จำเป็นต้องประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือมูลนิธิต่างๆ เข้าช่วยเหลือ เพื่อให้ค่าดำเนินการไม่กลายเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มภาระให้กับเกษตรกร

  1. การจัดการด้านการเกษตร เพื่อการพออยู่ พอกิน พึ่งตนเองได้

เป้าหมายของการแบ่งพื้นที่ทำกิจตามทฤษฎีใหม่ และการบริหารจัดการน้ำ ก็เพื่อไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ในขั้นตอนนี้คือ พออยู่ พอกิน พึ่งตนเองได้ ดังนั้น การวางแผนด้านการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ส่วนที่เหลือ นอกเหนือจากพื้นที่สระน้ำ และบ้านพักโรงเรือนแล้ว ควรจะเป็นไปเพื่อการพออยู่ พอกิน และพึ่งตนเองได้เป็นหลัก

จะเห็นได้ว่า พื้นที่ 5 ไร่กันไว้เป็นส่วนของการปลูกข้าว โดยคำนวณให้เพียงพอต่อทั้งครอบครัว ถือเป็นหลักประกันว่า อาหารหลักของครอบครัวมีเพียงพอแล้ว

การบริหารจัดการพื้นที่ส่วนที่ 2 คือ ส่วนของพืชสวน พืชไร่ ไม้ผล ควรดำเนินการในลักษณะของไร่น่า สวนผสม ประกอบกับการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อให้สามารถนำไม้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการสร้างที่พักอาศัย การนำไปผลิตเครื่องเรือน และเครื่องมือต่างๆ นำไปเป็นอาหาร และปลูกสมุนไพรไว้สำหรับใช้สอยยามจำเป็น หากเหลือก็นำไปขายเป็นค่าใช้จ่ายในบ้านได้

การเลือกชนิดของพืชสวน ไม้ยืนต้นและพืชไร่ ควรเลือกพืชที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม

ตัวอย่างพืชที่ควรปลูก

ผลไม้

มะม่วง มะพร้าว ขนุน ละมุด ส้ม มะม่วง กล้วย น้อยหน่า มะละกอ กระท้อน เป็นต้น

ผัก (ยืนต้น)

แคบ้าน มะรุม สะเดา เหลียง เนียง ชะเอม ผักหวาน ขจร ขี้เหล็ก กระถิน เป็นต้น

ผัก (ล้มลุก)

พริก กระเพรา โหระพา ตะไคร้ ขิง ข่า แมงลัก สะระแหน่ มันเทศ เผือก ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือ เป็นต้น

ดอกไม้

มะลิ ดาวเรือง บานไม่รู้โรย กุหลาบ รัก ซ่อนกลิ่น เป็นต้น

เห็ด

เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดเป๋าฮื้อ

สมุนไพรและเครื่องเทศ

หมาก พลู บุก บัวบก มะเกลือ ชุมเห็ด หญ้าแฝก เป็นต้น

ผักสวนครัว

กระเพรา โหระพา สะระแหน่ แมงลัก ตะไคร้ พริกไทย พริกขี้หนู เป็นต้น

ไม้ยืนต้น

ไผ่ มะพร้าว ตาล มะขามเทศ สะแก ทองหลาง จามจุรี กระถิน ยูคาลิปตัส สะเดา ขี้เหล็ก ประดู่ ชิงชันและยาวนา เป็นต้น

พืชไร่

ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ อ้อย มันสำปะหลัง ละหุ่ง นุ่น

พืชบำรุงดิน คลุมดิน

ปลูกแซมผลไม้ เพื่อบำรุงดิน หรือปลูกหมุนเวียนกับข้าว ปลูกตามหัวไร่ ปลายนา เช่น ถั่วมะแฮะ ถั่วมะต้า โสนอัฟริกัน โสนพื้นเมือง ปอเทือง ถั่วพร้า ขี้เหล็ก กระถิน ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และถั่วพุ่ม เป็นต้น

        พืชหลายชนิดใช้ทำประโยชน์ได้มากกว่าหนึ่งอย่าง และควรพิจารณาถึงระยะเวลาในการดูแลรักษา เช่น เลือกปลูกไม้ยืนต้น เพราะต้องการการดูแลอย่างมากเฉพาะช่วงแรกปลูก จากนั้นการดูแลระยะหลังจะน้อยลง มีผลผลิตทยอยออกตลอดทั้งปี

        การเลือกปลูกไม้ยืนต้น สามารถประยุกต์แนวทางพระราชดำรัส ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างมาใช้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นการเลือกชนิดของไม้ที่ปลูกเพื่อประโยชน์ใช้สอย 3 ประการ คือ เพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นอาหาร และเพื่อประโยชน์ใช้สอย และจะให้ประโยชน์อย่างที่ 4 คือได้รับความร่มเย็น และสมดุลนิเวศกลับคืนด้วยธรรมชาติของป่านั่นเอง

การปลูกป่าไม้ 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง

ไม้ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย

เป็นการปลูกต้นไม้สำหรับใช้เนื้อไม้มาปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เช่น ไม้ตะเคียนทองสักยางนามะฮอกกานีกระทินเทพาจำปาทอง ปลูกกระจายตามรอบคันนา

ไม้เพื่อเป็นอาหาร

เป็นการปลูกต้นไม้สำหรับใช้กิน เป็นอาหารเป็นยาสมุนไพร เป็นเครื่องดื่มตลอดจนพืชที่ปลูกเพื่อการค้าขายผลผลิตเพื่อดำรงชีพ เช่น ไม้ผลต่าง ๆ ได้แก่เงาะทุเรียนมังคุดลองกองมะม่วง ฯลฯไม้ที่ให้ผลผลิตเพื่อขาย เช่น ปาล์ม มะพร้าว ยางพารา

ไม้เพื่อใช้สอย

การปลูกไม้สำหรับใช้สอย ในครัวเรือนใช้พลังงาน ใช้เป็นเครื่องมือต่างๆ ในการประกอบอาชีพได้แก่ ไม้ไผ่,หวาย สำหรับจักสานเป็นเครื่องเรือน ของใช้ ฯลฯ ไม้โตเร็วบางชนิดที่ใช้เป็นไม้ฟืนถ่าน ไม้พลังงาน เช่น สบู่ดำ ปาล์ม ฯลฯ ไม้ทำเครื่องมือการเกษตร ได้แก่การทำด้ามจอบ มีด ขวาน ทำรถเข็น โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ ฯลฯ

นอกจากการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหาร ยาสมุนไพร และไม้ยืนต้นแล้ว พื้นที่อีกส่วนหนึ่ง คือ พื้นที่บริเวณโดยรอบบ้าน ซึ่งควรปลูกพืช ผักสวนครัวเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ ควรทำโรงเรือนเพาะเห็ดเพื่อใช้เป็นอาหาร

ส่วนการเลี้ยงสัตว์ ควรพิจารณาเลือกเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยการขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ หรืออาจเลี้ยงไก่บนสระน้ำ เลือกให้เหมาะสมกับแรงงานในครัวเรือน พื้นที่ที่เหลือ และอาหารสัตว์ควรมาจากผลิตผลจากไร่ นา เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และก้าวสู่บันไดขั้นที่ 1 คือ การพึ่งตนเองได้ หากมีเหลือก็ยังได้เผื่อแผ่ แบ่งปัน หรือนำไปจำหน่ายสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว

สัตว์เลี้ยงควรเลือกให้เหมาะสม ดังนี้

สัตว์น้ำ

เช่น ปลาไนปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลาดุก เพื่อเป็นอาหารเสริมประเภทโปรตีน และยังสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย หรือในบางพื้นที่สามารถเลี้ยงกบได้ ก็อาจเลือกทำบ่อเลี้ยงกบเพื่อ หรือเลี้ยงร่วมกับปลา หรือเลี้ยงในแปลงนา (ล้อมแสลน) กรณีที่ทำนาโดยไม่ใช้สารเคมีก็สามารถทำได้

หมู ไก่ เป็ด

การเลี้ยงหมู ไก่ หรือเป็ด สามารถทำคอกกั้นเลี้ยงบนสระน้ำได้ เป็นการให้อาหารปลาไปในตัว จากการขับถ่ายของเสียของหมูและไก่

ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ 1 นี้ เป็นการผลิตเพื่อพออยู่ พอกิน สำหรับเกษตรกรรายย่อย มีที่ดินทำกินน้อย หรือไม่มีที่ดินทำกิน อยู่ในเขตเกษตรกรรมน้ำฝนเป็นหลัก พื้นดินมีสภาพที่ขุดสระเก็บน้ำได้ ตัวเกษตรกรจะต้องกินอยู่อย่างประหยัด มีความขยันหมั่นเพียร มีความสามัคคีช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนบ้าน มีความรอบรู้ รู้จักการบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำ บริหารเงินทุน บริหารเวลาและกำลังคน ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อพออยู่ พอกิน พึ่งตนเองได้ เรียกว่า ขั้นพื้นฐาน จากนั้นจึงก้าวสู่ขั้นที่ 2 หรือเรียกว่า “ขั้นก้าวหน้า"

ร่วมแรง ร่วมใจ

สร้างชุมชนเข้มแข็ง

ขั้นตอนที่ 2 รวมพลังหรือร่วมแรงกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์

ขั้นตอนที่ 2 นี้ ควรปฏิบัติเมื่อได้ทำตามขั้นตอนที่ 1 จนพออยู่ พอกิน และพึ่งตนเองได้แล้ว จึงจะเป็นการ “ทำเป็นขั้นเป็นตอน” ตามแนวทางพระราชดำริ

ในขั้นตอนนี้เป็นการรวมพลังเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากขั้นตอนที่ 1 สามารถพึ่งตนเองได้ มีพออยู่ พอกิน และมีผลิตผลเหลือพอที่จะนำมาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยการรวมกลุ่มกันนั้น นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการค้าในรูปแบบของสหกรณ์แล้ว ยังมุ่งประโยชน์เพื่อการ “ดูแลกัน” “พึ่งพาอาศัยกัน” ในชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในด้านต่างๆ 6 ด้าน ดังมีรายละเอียด ดังนี้

  1. การผลิต

        การรวมกลุ่มกันของเกษตรกรเพื่อสร้างความร่วมมือกันในด้านการผลิต ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมมือกันในการพัฒนาผลผลิตตั้งแต่ขั้นการเตรียมดิน การจัดการแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการทำการเกษตรของทั้งชุมชน การเตรียมคัดเลือก และเก็บเมล็ดพันธุ์พืช การผลิตปุ๋ยใช้เองในชุมชน ตลอดจนปัจจัยการผลิตอื่นๆ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงมากที่สุด

        ในการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรนี้ อาจใช้วิธีการแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแนวทางการทำดูแลจัดการดิน และการพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลดี

  1. การตลาด

        เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่างๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น ต้องมีการเก็บข้าวไว้ขายในเวลาที่เหมาะสม คนโบราณมักสอนลูกหลานว่า “ขายข้าวเดือนสี่จะอัปรีย์ จัญไร” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการสอนลูกหลานให้รู้จักการเก็บรักษา นอกจากจะเป็นการไล่ความชื้นในข้าวทำให้ข้าวขายได้ราคาดีแล้ว ยังเป็นการเก็บไว้เพื่อขายให้ได้ราคาดีที่สุดอีกด้วย

        ในการเก็บรักษาข้าวนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องมีการจัดการที่ดี เช่น การเตรียมลานตากข้าวชุมชน การจัดหายุ้งฉาง หรือบางชุมชนรวมตัวกันสร้างโรงสีข้าวชุมชนเพื่อสีข้าวเองในชุมชน เพิ่มมูลค่าข้าว และยังได้ผลผลิตอื่นๆ จากการสีข้าว เช่น ปลายข้าว แกลบ รำ นำไปจำหน่ายนำรายได้กลับมาหมุนเวียนเพื่อดูแลโรงสีชุมชน หรือนำไปใช้ในการบริหารจัดการด้านสวัสดิการชุมชน จากโรงสีชุมชนนั่นเอง

        นอกจากการเก็บรักษา และการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตแล้ว การรวมกลุ่มกันขายผลิตผลทางการเกษตรก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เกษตรกรสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตจำหน่าย รวมกลุ่มกันนำสินค้าไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้า หรือตลาดนัดขนาดใหญ่ รวมกลุ่มกันสร้างร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับนักท่องเที่ยว คนเดินทาง หรือรวมกลุ่มกันหาช่องทาง เพื่อนำผลผลิตส่งจำหน่ายยังต่างประเทศ ฯลฯ

  1. การเป็นอยู่

        ชุมชนจะเข้มแข็งได้ ต้องมีการร่วมมือ ร่วมใจกันดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนด้วยความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ทั้งด้านปัจจัย 4 เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค นอกจากนั้นการตั้งร้านค้าสหกรณ์ชุมชนก็เป็นอีกหนึ่งแนวทาง ที่จะช่วยให้คนในชุมชนได้จับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ได้คุณภาพในราคาที่เหมาะสม และผลกำไรที่ได้จากร้านสหกรณ์ชุมชน ยังนำกลับมาแบ่งปันคืนให้กับสมาชิกในชุมชน หรือนำไปขยายผลเป็นกองทุนชุมชนด้านต่างๆ ตลอดจนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนเพื่อเป็นการพึ่งพาตนเองด้านแหล่งทุนได้อีกทางหนึ่ง

  1. สวัสดิการ

        การจัดการด้านสาธารณสุขของชุมชน ด้วยการร่วมมือกันจัดหาบริการสวัสดิการสังคมพื้นฐานสำหรับชุมชน เช่น จัดการด้านสถานบริการสาธารณสุขชุมชน บริการด้านสุขอนามัย หรือการตั้งกองทุนกู้ยืมเพื่อการทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เจ็บป่วย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยมองภาพรวมและการอยู่ร่วมกันของชุมชนเป็นที่ตั้ง

  1. การศึกษา

        เมื่อชุมชนรวมตัวกันเข้มแข็ง และมีการจัดการด้านเงินทุนหมุนเวียนของชุมชนเองแล้ว สิ่งหนึ่งที่ชุมชนควรให้ความสนใจ คือ การสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษา โดยชุมชนควรมีบทบาทด้านการส่งเสริมการศึกษาชุมชน มีการจัดหาทุนการศึกษาให้กับลูกหลานชุมชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จัดให้มีการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับลูกหลานชุมชนเพื่อสร้างจิตสำนึกของความเป็นสมาชิกในชุมชน และความภาคภูมิใจในประวัติความเป็นมา ตลอดจนถึงเอกลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ

  1. สังคมและศาสนา

        การสืบทอดวัฒนธรรม การส่งต่อประเพณีของแต่ละชุมชนให้กับลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป จะสร้างให้เกิดความเข้มแข็ง และความรักสามัคคีในชุมชน ผ่านทางการอนุรักษ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนพิธีกรรมทางศาสนา เน้นให้เห็นความสำคัญของวิถีการทำบุญ ทำทาน โดยมีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่วัด หรือ ศาสนสถานของแต่ละศาสนา ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเลือกสถานที่แรกในการดำเนินโครงการทฤษฎีใหม่ โดยเลือก “วัดมงคลชัยพัฒนา” เป็นที่ตั้ง

        ความสำคัญของศาสนสถาน และศาสนาในอดีต มีมากกว่าการสืบต่อศาสนา เช่น วัดในศาสนาพุทธ นอกจากทำหน้าที่ถ่ายทอดคำสอนในศาสนาแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม งานช่าง งานฝีมือ เป็นสถานที่รวมจิตใจของคนในชุมชน ฝึกให้คนละกิเลสและความโลภ ด้วยการลดการสะสมเป็นส่วนตัว แต่สอนให้เป็นการสะสมที่วัด ผู้คนจึงคุ้นเคยกับการให้ การทำบุญ ทำทาน เป็นการฝึกจิตใจในชีวิตประจำวัน

        การรวมกลุ่มกันของชุมชนในรูปแบบต่างๆ จึงควรให้ความสำคัญกับการฟื้นคืนวิถีชีวิตที่มีศาสนาเป็นแก่น เพื่อสร้างสังคมที่มีคุณธรรมจริยธรรมกำกับ โดยมีชุมชนทำหน้าที่เป็นแก่นในการสร้างสรรค์กิจกรรม และกำหนดจารีตขึ้นกำกับพฤติกรรมคนในชุมชน

        อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทั้ง 6 ประการที่กล่าวข้างต้นนี้ จะประสบความสำเร็จได้ ไม่เพียงแต่เฉพาะเกษตรกร หรือคนในชุมชนเท่านั้นที่จะต้องเป็นผู้มีส่วนร่วม แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนจะต้องประสานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน โรงเรียนและสถานศึกษา ประชาสังคม และสื่อมวลชน เพื่อเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการต่างๆ ร่วมกัน เพราะทุกคนล้วนเป็นสมาชิกของชุมชนหากแต่ทำหน้าที่และบทบาทต่างไป หากได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกส่วนของสังคม การก้าวต่อไปยังขั้นที่ 3 ของทฤษฎีใหม่ก็กระทำได้ไม่ยาก

ประสานแหล่งทุน

พัฒนาอาชีพ

เพิ่มคุณภาพชีวิต

ขั้นตอนที่ 3 การติดต่อประสานเพื่อหาแหล่งทุน แหล่งเงิน

เมื่อชุมชนมีความสามัคคีกัน รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทั้ง 6 ด้านดังกล่าวข้างต้นแล้ว การประสานไปยังหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้ดำเนินการไปพร้อมกันแล้วในขั้นตอนที่ 2 ก็สามารถทำตามขั้นตอนที่ 3 คือ การเข้าหาแหล่งทุน แหล่งเงิน เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน โดยการประสานความร่วมมือนั้น ควรมองที่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทั้งฝ่ายเกษตรกร ธนาคาร บริษัทเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ เช่น

  • เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูง เพราะไม่ถูกกดราคา
  • ธนาคาร หรือบริษัทเอกชน ได้ซื้อข้าวคุณภาพดี สดใหม่ ในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกโดยตรง หรือซื้อข้าวที่สีจากโรงสีชุมชน)
  • เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกลุ่มกันซื้อตรงในปริมาณมากจากบริษัทผู้ผลิต
  • ธนาคารหรือบริษัทเอกชน สามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น

ทั้ง 3 ขั้นตอนดังกล่าว คือ แนวทางปฏิบัติตาม “ทฤษฎีใหม่” ที่กล่าวได้ว่าดำเนินไปเป็นขั้นเป็นตอน จากขั้นพื้นฐาน สู่ขั้นก้าวหน้า ดังนี้

ประสานเพื่อหาแหล่งทุน

แหล่งเงิน

 

พออยู่ พอกิน พอใช้

รวมพลังหรือร่วมแรงกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์

ขั้นก้าวหน้า

ขั้นพื้นฐาน

 

ทฤษฎีใหม่ขั้นพื้นฐาน และขั้นก้าวหน้า

        โดยสรุปแล้ว “ทฤษฎีใหม่” เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิต การทำการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานไว้ให้ดำเนินการโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวคิดในการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในพื้นที่ที่เหมาะสม

        ทฤษฎีใหม่ มีพื้นฐานความคิดจากการเกษตรผสมผสาน ผนวกกับการบริหารจัดการพื้นที่จำนวนน้อย การบริหารจัดการแหล่งน้ำ เพื่อให้เป็นการผลิตเพื่อยังชีพสำหรับเกษตรกร ให้เกษตรกรมีผลผลิตพอกินตลอดทั้งปี จนเมื่อผลผลิตเหลือแล้วจึงนำไปจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว นั่นจึงเป็นทฤษฎีใหม่ขั้นพื้นฐาน

        เมื่อก้าวข้ามขั้นพื้นฐานสู่ขั้นก้าวหน้าแล้ว ทฤษฎีใหม่กล่าวถึงการร่วมกลุ่มกันของเกษตรกร เพื่อพัฒนาการผลิต สู่วิสาหกิจชุมชน และเพื่อการดูแลกันด้วยความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่แบ่งปัน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาโดยชุมชน การพัฒนาสังคมและการอยู่ร่วมกันโดยมีศาสนาเป็นศูนย์กลาง ก่อนขยายผลสู่ก้าวต่อไปด้วยการเสาะแสวงหาแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และยกระดับคุณภาพชีวิต 

 


[1]จากหนังสือ ทฤษฎีใหม่ หลักการพึ่งตนเองที่ยั่งยืน ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)

[2]จากหนังสือ ทฤษฎีใหม่ หลักการพึ่งตนเองที่ยั่งยืน ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)