9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ขยันให้พอ รู้จักพอ ร่ำรวยพอดี (1)
ขยันให้พอ รู้จักพอ ร่ำรวยพอดี (1)
ตั้งแต่ได้รัฐบาลใหม่มายังไม่ได้ทักทายกันเลย อาจช้าไปหน่อย แต่ก็จริงใจ ครับ...ขอต้อนรับ รัฐบาลใหม่ที่เต็มไปด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นท่านนายก ท่านรองโฆษิต และท่านรัฐมนตรีอีกหลายท่าน ล้วนเป็นทั้งพี่ เพื่อน และ ครูบาอาจารย์ที่เคารพของผม ผมจึงดีใจและหวังพึ่งท่านด้วยหัวใจอันพองโต เตรียมลงมือร่วมพัฒนาชาติอย่างฮึกเหิม ทันทีที่ได้รับรู้ว่าท่านจะเน้นย้ำยึดเอาหลักของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ความรู้สึก 3 ค. คือ คึกคัก คล่องแคล่ว และครื้นเครง ก็เกิดขึ้นอย่างทันทีทันควัน
แต่พอได้สติ ในฐานะที่ทำงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงมาน้านนาน นับตั้งแต่รับใช้ใต้เบื้องยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อ 25 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ได้ทำงานร่วมกับคนทุกระดับ ซึ้งดีว่าเรื่องความแม่นยำในทฤษฎี ไม่เป็นห่วงหรอก รับรอง ไม่ว่านักวิชาการ หรือนักบริหาร ตัวจักรใหญ่นั้นแม่นทฤษฎีเปี๊ยบไม่ผิดแม้แต่บรรทัด เรียกว่าเราเป็นสังคมแบบปริญัติหรือปัญญานิยม ไม่ใช่ปฏิบัตินิยม ทีนี้การจะให้อะไรๆมันได้ผลจริงนั้นจำเป็นต้องทำให้ปัญญานิยมกับปฏิบัตินิยมเป็นเอกภาพให้ได้ ก็เลยเป็นปัญหาหนักอกคนที่กรำอยู่กับงานนี้อย่างผม ก็ขอหยอดคำถามไว้ให้พี่ๆและครู อาจารย์ในรัฐบาลนี้ คำถามแรกเลย ว่า เรื่องการแปลงสู่การปฏิบัติ (Implementation) นั้นพี่ๆคิดกันไปถึงไหน เพราะบ้านเรานั้นได้ชื่อว่า ถนัดทำแต่ แบบจำลอง (Model) เกรงว่า เดี๋ยวก็จะมีแต่บ้านจำลอง เสร็จแล้วก็เข้าไปอยู่จริงไม่ได้
ก่อนอื่น ขออนุญาตทบทวนตัวเองหน่อย
โดยรวมแล้วเศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วยหลักที่ต้องคิดประเด็นแรกคือ เรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ลักษณะสำคัญ 3 อย่างที่ต้องเป็นห่วงเชื่อมต่อกัน คือ
1.ความพอประมาณ คือไม่มากไม่น้อยเกินไป ไม่เบียดเบียนตัวเองและคนอื่น เช่นผลิตและบริโภคตามกำลังพอประมาณ
2.ความมีเหตุผล คือการจะตัดสินใจอะไรนั้นต้องพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดจากการกระทำนั้นๆอย่างรอบคอบ
3. การมีภูมิคุ้มกันคือการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
การดำเนินการต่างๆที่จะให้อยู่ในระดับพอเพียงที่พูดมานั้น ต้องอาศัยอยู่บนพื้นฐานของ 2 เงื่อนไข คือ ต้องมีความรู้รอบด้าน รอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาเชื่อมโยงกัน อีกเงื่อนไขก็คือ ต้องมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน ไม่โลภ ไม่ตระหนี่ ....เอาแค่นี้ก่อน แค่ตรงนี้ก็ขอถามว่า พี่ๆ ครับ ท่านเตรียมคนให้เป็นตามเงื่อนไขที่กล่าวมาบ้างแล้วหรือยังนะ เพราะนี่คือเงื่อนไขหลัก โดยเฉพาะนักบริหารและนักวิชาการ ที่บางครั้งยังไม่รู้จักความเหมือนและความแตกต่างระหว่าง Trade Economy (เศรษฐกิจการค้า) กับ Sufficiency Economy (เศรษฐกิจพอเพียง) กับ Isolate Economy (เศรษฐกิจชุมชนยอดเขา หรือเศรษฐกิจหลังเขา) ได้ด้วยซ้ำ
มาถึงขณะนี้ ก็ให้เกิดความสงสัยขึ้นมาอีก
เมื่อเห็นอาการของผู้บริหารบ้านเราพากันเห่อเผ่นไปดูงานเศรษฐกิจยอดเขากันอย่างคึกคัก นับตั้งแต่องค์ชายจิกมี่แห่งภูฏานเสด็จมาเมืองไทย และกำลังพยายามหาค่า GDH (Gross Domestic Happiness) ตกลงตอนนี้ก็เลยเกิดอาการหลายใจไม่รู้จะเอายังไงแน่ระหว่างเศรษฐกิจ สอง ขั้ว ระหว่างเศรษฐกิจการค้าตาโตอย่างอเมริกา (Capitalism) กับเศรษฐกิจหลังเขา ยอดเขา อย่างของภูฏาน (Isolationism) อยากขอสะกิดพี่ๆ ว่าหันมาดูตัวเองกันดีมั้ยว่าคนของเราเป็นแบบไหน แผ่นดินแผ่นฟ้าของเราเป็นยังไงจะเอาไงแน่ จะจัดการยังไงกับประเด็นสำคัญๆ ด้านการเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การศึกษา ปฏิรูปที่ดินเอายังไงกันแน่ ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องพลังงานยังคงนำเข้ามาเป็นเงินล้านล้านบาท จะเอาไงดีครับ นโยบายชัดหรือยัง พี่ๆและท่านทั้งหลายช่วยตอบหน่อยเถอะ ครับ คราวนี้น้องขอฝากคำถามไว้แค่นี้ก่อนเนาะ เอาไว้คราวหน้าค่อยมาคุยกันถึงเรื่องการแปลงสู่การปฏิบัติจริงจริงให้เกิดภูมิคุ้มกันชาติไทยกันนะครับพี่ เอาแค่ น้ำท่วม ฝนแล้ง โรคระบาด ข้าวยากหมากแพง ขโมยขโจรและความขัดแย้งที่จะตามมา เจอแน่ๆ จะเตรียมการยังไงดีครับพี่ครับ