9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
เข้าใจ เข้าถึง “เศรษฐกิจพอเพียง"
ในห้วงเวลาของการปฏิรูปประเทศเช่นนี้ หลายคนมักต้องการคำจำกัดความหรือข้อสรุปอย่างง่ายเพื่อนำไปประกอบกับแนวคิดอื่นๆ หรือสรุปเพื่อบอกต่อ เขียนต่อ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนในวงกว้าง เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงก็เช่นกัน มีสื่อจำนวนมากที่ขอให้อาจารย์ยักษ์บอกคำจำกัดความของเศรษฐกิจพอเพียงและการนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันในเวลาสั้นๆ สัก ๕ นาที
อาจารย์ยักษ์ก็มักจะตอบเขาไปว่าการเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ตามปกตินั้นก็จะเรียนกัน ๔ ปี จึงจบปริญญาตรีและหากเรียนต่อระดับปริญญาโทก็จะต้องเพิ่มเวลาอีกถึง ๒ ปี รวมเป็น ๖ ปี จึงจะเข้าใจวิชาเศรษฐศาสตร์ เรื่องของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็เช่นกัน ต้องให้เวลาศึกษาอย่างจริงจังเพื่อทำความเข้าใจ แต่คนส่วนใหญ่ก็มักจะอยากได้ข้อมูลสำเร็จรูปมากกว่า วันนี้เลยจะขอสรุปย่อแบบสำเร็จรูปเอาใจผู้คนในยุคสมัยที่ต้องเร่งรีบอย่างทุกวันนี้
เศรษฐกิจพอเพียงถ้าจะทำให้ย่อแบบที่เข้าใจได้ง่าย สามารถสรุป คุณลักษณะสำคัญของ “ความพอเพียง” คือ พอดีกับตัวเรา พอดีกับฐานะและกำลังของเรา” ยกตัวอย่างถ้าเราเป็นคนตัวใหญ่แล้วเราจะตัดเสื้อ เสื้อก็ต้องตัวใหญ่ ถ้าเราตัวเล็กก็ต้องตัดเสื้อตัวเล็กให้พอดีกับตัวเรา อธิบายเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ แบบไม่ต้องตีความ หรือไม่ sophisticated ก็คือทำอะไรก็ตามต้องพอดี จะกินก็ต้องพอดี จะอยู่ก็ต้องพอดี จะตัดเสื้อผ้าก็ต้องพอดี พอดีกับอะไรคำตอบก็คือพอดีกับตัวเรานั่นเอง หากจะอธิบายเป็นภาษาวิชาการก็อาจจะบอกว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตนก็ได้ แต่ที่สำคัญมากกว่าคำอธิบายคือการทำให้ “ความพอดี” นั้นเกิดขึ้นได้จริง พระองค์ท่านตรัสว่ามีสองเงื่อนไขสำคัญที่จะนำมาซึ่งความพอเพียง คือ “ความรู้” และ “คุณธรรม” เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเรากว้างเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ เราก็ไม่สามารถตัดเสื้อให้พอดีตัวได้ ก็ต้องเริ่มจากการวัดตัวเพื่อให้รู้ขนาดของเรา หรือถ้าเราจะสร้างบ้านเราก็ต้องรู้ฐานะและกำลังของตัวเองว่าบ้านที่เราจะสร้างนั้นสามารถสร้างได้ด้วยงบประมาณเท่าใด กี่แสนบาทหรือกี่ล้านบาทที่จะพอเหมาะพอดีกับตัวเอง “ความรู้” จึงเป็นเรื่องใหญ่ และต้องรู้หลายด้าน เช่นรู้จักตัวเอง รู้จักสังคม รู้จักบริบทรอบข้าง หรือหากจะนำภาษาธรรมะมากำกับก็คือต้องใช้ธรรมข้อ “สัปปุริสธรรม” คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักประชุมชน รู้จักบุคคล นี่คือเงื่อนไขของความรู้ ที่สำคัญเรื่องที่เรารู้นั้นนอกจากจะรู้ให้ครบด้านแล้วยังต้องรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวังในการลงมือทำอีกด้วย สิ่งสำคัญอีกประการคือเรื่องของ “คุณธรรม” หรือความพยายามที่จะตัดให้เข้ากับตัวเราซึ่งคุณธรรมนั้นก็จะหลากหลายและเหมาะสมกับแต่ละคนอีกเช่นกัน
ในส่วนของการนำไปปฏิบัติและขยายผลนั้นหัวใจสำคัญคือการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่บอก แค่สอน เพราะการทำให้ดูดีกว่าพูดอย่างเดียว ยกตัวอย่างง่ายๆ เพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ สมมติว่า พ่อต้องการให้ลูกนอนตื่นเช้า พ่อใช้วิธีบอกลูกว่าอย่านอนตื่นสายนะแต่ตัวพ่อเองนอนตื่นสายหรือพร่ำบอกลูกว่าอย่าขี้เกียจนะแต่ตัวพ่อขี้เกียจ ก็พอจะมองออกว่า ท้ายที่สุดแล้วลูกจะทำอย่างที่พ่อบอกหรือทำตามแบบที่พ่อทำ เชื่อได้เลยว่าทุกคนก็จะทำตามสิ่งที่เขาเห็น ดังนั้นพระองค์ท่านจึงทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่าง พระองค์ท่านเป็นกษัตริย์ เป็นประมุขของประเทศท่านวางตัวเป็นที่ยอมรับของทั้งโลก ได้รับการยอมรับว่าเป็นกษัตริย์ที่มีความเป็นกษัตริย์ที่สมบูรณ์และครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านรอบรู้ในฐานะของท่าน ท่านระมัดระวังเสมอในการดำเนินชีวิตทุกย่างก้าวและมีคุณธรรมกำกับชีวิตถึง ๑๐ ข้อ นั่นก็คือทศพิธราชธรรม เมื่อเวลาเราจะทำตามพระองค์ท่านก็ต้องทำตามแบบที่พอเหมาะ พอสมกับฐานะและกำลังของเราเองตามแต่ละบทบาทหน้าที่ แต่ละคน ดังนั้น หากจะสรุปย่อที่สุดความพอเพียง หรือความพอเหมาะพอดีจะเกิดขึ้นได้ กับตัวเรา กับสังคมของเรา กับประเทศของเราหรือแม้กับโลกนั้น
เราจะต้องเริ่มจาก “รู้” เสียก่อน เราจะอยู่กับโลกก็ต้องรู้จักโลก เราจะบริหารประเทศก็ต้องรู้จักประเทศของเราก่อน รู้จักทั้งภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ ประเทศของเรามีกี่เชื้อชาติอาศัยอยู่ คนของเราเป็นอย่างไร หากไม่รู้จักประเทศนี้เลยก็จะบริหารประเทศไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของประเทศนี้ พระองค์ท่านเสด็จไปทั่วทุกภาคของประเทศภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี เพื่อที่จะรู้จักแผ่นดินนี้ รู้จักคนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดิน การครองแผ่นดินของท่านจึงเป็นไปโดยธรรม เพราะท่านเห็น “คน” แต่เดี๋ยวนี้วิถีของการพัฒนาประเทศบ้านเรากำหนดกันแบบ ”ไม่เห็นคน” เราเห็นแต่เงิน เราเห็นเงินเป็นหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคนจะอยู่อย่างไร คนไทยต้องมีความสำคัญเท่ากับแผ่นดินไทย การบริหารประเทศจึงต้องเห็นทั้งภูมิศาสตร์และคน เพื่อที่จะออกแบบและตัดสินใจให้เหมาะกับภูมิสังคมของเรา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงบัญญัติศัพท์คำว่า Geo-Social หรือภูมิสังคมขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักว่าจะทำอะไรต้องให้มีความพอเหมาะ พอดีกับคนไทย กับสังคมไทยซึ่งมีหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน ทุกชาติพันธุ์ที่มาอาศัยอยู่ภายใต้บรมโพธิสมภารของท่าน ล้วนถือว่าเป็นคนไทย ใครก็ตามที่จะลุกขึ้นมาบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการชั้นผู้น้อย ก็ต้องเข้าใจสิ่งนี้
เมื่อเข้าใจหลักสำคัญเรื่องภูมิสังคมแล้วก็จะสามารถทำงานถวายพระองค์ท่านเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพระองค์ท่านได้ แม้เราเป็นชาวไร่ ชาวนา หรือเป็นสื่อมวลชน ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศ เราก็ต้องทำให้พอเหมาะพอดีกับตัวเรา กับอาชีพเรา กับประเทศของเรา ที่สำคัญพอเหมาะพอดีกับวัฒนธรรมของเราให้ได้ โดยเริ่มจาก “ความรู้” เราต้องรู้จักรากเหง้าของเรา รู้จักวัฒนธรรมของเรา ของประเทศเราเอง ดังนั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงนำไปปรับใช้ได้กับทุกอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย พระองค์ท่านพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับปวงชนชาวไทย และเน้นย้ำว่านักวิชาการและนักบริหาร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เรื่องนี้ เพราะทั้งนักวิชาการและนักบริหารเป็นผู้มีอิทธิพลต่อสังคมไทย ทำอะไรไปแล้วมีคนเชื่อมีคนทำตาม ถ้าไม่รู้จักทฤษฎีพอเพียงนี้ก็จะทำอะไรที่เกินตัว คนโบราณเขาบอกว่า เห็นช้างขี้ อย่าขี้ตามช้าง เราชอบทำอะไรเกินตัว เราชอบทำแบบคนรวย ทำแบบอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น แบบประเทศที่เขาเป็นคนรวย เราไม่ใช่คนรวย เราเป็นประเทศที่พอมี พอเหมาะ พอสม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานแนวทางปฏิบัติคือ ให้ “ทำแบบคนจน” เพราะทำแบบคนจนนั่นแหละจะรวย ถ้าไปทำแบบคนรวยก็ไปไม่รอด อยู่ไม่รอด เหตุผลก็เพราะมันไม่พอเหมาะ พอดีกับตัวเรา กับสังคม กับประเทศของเรานั่นเอง บทสรุปของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างย่อเพื่อนำไปปรับใช้จึงย่อได้พอเหมาะ พอสมเพียงนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน +