9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
การศึกษาเพื่อเผชิญหน้ากับวิกฤต (3)
นอกจากการศึกษาตามอัธยาศัยแล้ว ปีนี้ก็เป็นปีสำคัญที่อาจารย์ยักษ์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาในระบบ โดยเข้าไปร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อพระราชทาน มีตราพระราชทานจากพระราชาองค์นี้คือมหาวิทยาลัยราชภัฏ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ที่ได้ก่อตั้ง สถาบันเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นได้เผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงออกไปกว้างขวางทีเดียว นอกจากนั้นก็มีมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลาที่ได้ขยายงานออกไป อาจารย์ยักษ์ได้มีโอกาสรับเชิญไปบรรยายหลายๆ ครั้งให้กับนักศึกษาปริญญาตรี โทและเอก ล่าสุดก็ได้มีโอกาสไปบรรยายรับใช้มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงครามก็เป็นที่ประทับใจกันทั้งหมด เป็นการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยเฉพาะปริญญาเอกก็เกี่ยวข้องกับการศึกษามาก คนที่ไปเรียนระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามก็เป็นผู้ที่มีบทบาทในวงการการศึกษาของไทยอย่างมาก อาจารย์ยักษ์ก็ได้มีบทบาทไปบรรยายปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับท่านเหล่านั้นได้ฟัง แต่ที่สำคัญในปีนี้ที่รู้สึกประทับใจมากคือได้มีโอกาสไปบรรยายรับใช้มหาวิทยาลัยร่วมกับ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ดร.สาคร สร้อยสังวาลย์ อธิการบดี โดยดร.พิศิษฐ์นั้นท่านเป็นอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยแห่งนี้ และดร.สาคร สร้อยสังวาลย์ ท่านก็เป็นอธิการบดี และดร.บัญชา สำรวยรื่น ท่านก็ได้ไปถ่ายทอดความรู้ในโอกาสเดียวกันนี้
การได้ไปถ่ายทอดแนวความคิดที่รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทให้ได้ขยายไปยังผู้คนที่หลากหลายนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว อาจารย์ยักษ์ก็ยังได้ไปรับฟังความรู้ ความคิดใหม่ๆ จากผู้อาวุโสหลายท่านก็ได้ความรู้ความเข้าใจมากมายเลยทีเดียว โดยเฉพาะได้มีโอกาสไปฟังท่านอาจารย์ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ประทับใจมาก ท่านก็เล็งเห็นว่าโลกใบนี้จะเจอภัยพิบัติอย่างหนัก อาเซียนก็เช่นกัน และในเอเชียประเทศญี่ปุ่นจะเจอภัยพิบัติอย่างหนักถึงขั้นเตรียมอพยพจากประเทศตัวเองและเป้าหมายที่เขาจะหนีร้อนมาพึ่งเย็นก็เป็นเมืองไทยของเรานี่เอง ทำให้เขาสนใจที่จะเรียนภาษาไทยกันมาก ที่เคยเรียนภาษาอังกฤษก็เลิกแล้ว หันมาเรียนภาษาไทยเพราะว่าตั้งใจที่จะมาอยู่เมืองไทยกันมากเพราะเมืองไทยดูจะเป็นประเทศที่ปลอดภัยที่สุดในละแวกนี้ จากแผ่นดินไหว จากพายุต่างๆ ทั้งญี่ปุ่น เวียดนาม จีนตอนใต้ รวมทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ดูจะเสี่ยงอันตรายมากกว่าไทยเยอะนัก แม้แต่ในอาเซียนเอง ครึ่งหนึ่งของประชากรอยู่ในอินโดนีเซีย คนอินโดนีเซียก็สนใจเรียนรู้ภาษาไทยกัน เพราะว่าหากอินโดนีเซียเจอภัยพิบัติเหมือนญี่ปุ่นต้องจมลงไปก็ไม่รู้จะไปไหน ก็คิดจะมาเมืองไทยกันเพราะว่าคนไทยเราโอบอ้อมอารี เป็นประเทศเปิดรับ คนไทยยิ้มแย้มแจ่มใส ใครจะไปจะมาก็สบายๆ คนอินโดนีเซียเขาก็สนใจเรียนรู้ภาษาไทยกัน ภาษาไทยก็เป็นภาษาที่คนทั่วโลกสนใจเรียนรู้ แต่น่าแปลกที่คนไทยไม่สนใจที่จะเรียนภาษาของตัวเอง พูดกันก็ไม่ค่อยชัด กลับจะไปเปิดการเรียนรู้ภาษาอาเซียนคือภาษาอังกฤษกันหมด อาจารย์ยักษ์ก็ว่ามันดูแปลกๆ อยู่เหมือนกัน นอกจากนั้นความประทับใจที่อยากถ่ายทอดให้ผู้อ่านคอลัมน์พอแล้วรวยได้รับรู้กัน คือท่านอาจารย์อาจอง ได้พูดถึงการศึกษาที่ทุกวันนี้ทั้งในและนอกระบบ โดยเฉพาะการศึกษาที่มาจากสื่อ จากทีวี โดยเฉพาะละครน้ำเน่า ได้ปลูกฝังจิตใต้สำนึกในทางชั่ว ในทางร้าย ในทางโลภ ในทางโกรธ หลง กันอย่างหนัก มีการแย่งผัว แย่งเมีย แย่งสมบัติพัสถาน สะท้อนให้เห็นความโกรธ ความโลภ ความหลง ปลูกฝังลงไปในจิตใต้สำนึกกันอย่างมโหฬารเลยทีเดียว มนุษย์จึงขับเคลื่อนพลังชีวิต ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยจิตใต้สำนึกที่ปลูกฝังด้วยความชั่วร้ายในเรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำอย่างไรมนุษย์จะยกระดับจากจิตใต้สำนึกมาเป็นจิตสำนึก ผู้มีจิตสำนึก ในขณะเดียวกันก็ยกระดับไปอีกเป็นจิตเหนือสำนึกนั้นเป็นแนวทางที่ท่านอาจารย์อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา บรรยายไว้อย่างน่าประทับใจ จึงอยากขอพูดเรื่องนี้อีกครั้งในสัปดาห์หน้า +
แหล่งที่มา:
พอแล้วรวย คมชัดลึก วันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2556