9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
การศึกษาเพื่อเผชิญหน้ากับวิกฤต (1)
ปีนี้การทำงานของอาจารย์ยักษ์อาจเรียกได้ว่าเป็นปีของการปฏิวัติการศึกษาก็ว่าได้ เพราะว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างคนตั้งแต่เด็กเล็กๆ เด็กอนุบาล ไปจนถึงประถม มัธยม ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกเลยในหลายๆ สถานศึกษา และเมื่อมองโดยรอบแล้วก็เห็นในอีกมิติหนึ่งว่าปีนี้เป็นปีที่ทุกฝ่ายในโลกก็ว่าได้เริ่มเจอกับปัญหาสถานการณ์หนักๆ ที่เป็นจริง เริ่มตั้งแต่ภัยพิบัติธรรมชาติอันเกิดจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านก็ทรงเตือนอย่างมากทั้งลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน โดยเฉพาะลุ่มน้ำป่าสักท่านก็เตือนว่าลุ่มน้ำป่าสักฯ จะเป็นอันตรายเพราะน้ำมาก แต่เรามีที่กักเก็บน้ำน้อย น้ำก็จะหลากลงมาท่วม ภัยพิบัติธรรมชาติ ส่วนวิกฤตเรื่องโรคระบาดก็ชัดเจน โดยเฉพาะโรค EMS (Early Mortality Syndrome) ในกุ้งก็ถือว่าอาการหนัก และปีนี้ผลพวงเรื่องข้าวเน่าก็ทำให้เราเจอกับวิกฤตที่สามคือภาวะอดอยากยากแค้น ขนาดเมืองดีทรอยด์ก็ถึงขั้นล้มละลายทางเศรษฐกิจก็ว่าได้ทีเดียว จัดเป็นภัยพิบัติทางเศรษฐกิจที่แสดงให้เห็นชัดแล้ว และก็เกรงว่าจะลุกลามขยายตัวก็จะเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงกันในเร็วๆ นี้ ส่วนวิกฤตที่สี่คือเรื่องของความขัดแย้งรุนแรงทางสังคม ปีนี้ เขาคาดกันว่าอาจจะเป็นเดือนตุลาคมจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง รบรา ฆ่าฟันกัน เป็นวิกฤตประการที่สี่ที่ถาโถมเข้ามา
การศึกษาเพื่อเผชิญหน้ากับวิกฤตในความหมายของอาจารย์ยักษ์นั้น เป็นไปเพื่อรับมือกับสภาพที่เปลี่ยนไปอย่างที่เราได้เห็นวิกฤตทั้ง 4 ประการ คือ ภัยพิบัติ โรคระบาด ข้าวยากหมากแพง และความรุนแรงทางสังคม หรือสงครามเกิดขึ้นแน่นอนนั้นถ้าเรามีการเตรียมตัวอย่างดี สอนคนไว้ ให้สามารถอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแล้วนี้ให้ได้ ตั้งแต่เตรียมการประเมินสถานการณ์ให้แม่นยำ ถ้าประเมินสถานการณ์แม่นยำ มีการข่าวดี ก่อนเกิดเหตุการณ์ล่วงหน้าเราก็สามารถที่จะเตรียมตัวให้พร้อมได้ สามารถอยู่กับวิกฤตได้ขณะที่มันเกิดขึ้น หรือถ้าจำเป็นต้องหนีก็เรียกว่าหนีอย่างเป็นขบวน ไม่ใช่แตกพ่ายหนีอย่างไม่เป็นขบวน หรือแม้แต่เมื่อเหตุการณ์ภัยพิบัติผ่านไปแล้วจะกลับมาฟื้นฟูให้กลับขึ้นมาใหม่ก็มีความรู้และสามารถที่จะทำได้
อาจารย์ยักษ์เชื่อมั่นว่า การศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ ทั้งไม่เป็นระบบ นอกคอก การศึกษาตามอัธยาศัยหรือที่อาจารย์ยักษ์อยากจะเรียกว่า การศึกษาตามอำเภอใจ ก็แล้วแต่จะเรียกกัน แต่ที่แน่ๆ การศึกษานั้นไม่ใช่ว่าเดินตามรอยฝรั่ง หรือไปลอกตำราเขามาท่อง มาอ่าน มาเรียนกัน แบบที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ เรียกว่าไม่สามารถอยู่กับภัยพิบัติ ไม่สามารถเอาตัวรอดก็ว่าได้ การศึกษาที่แท้จะต้องทำให้มนุษย์สามารถที่จะเอาตัวรอดจากภัยพิบัติทั้ง 4 ประการนี้ให้ได้
ปีนี้ก็ถือว่าเป็นปีที่อาจารย์ยักษ์เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษามาก ตั้งแต่ได้เข้าไปนั่งในคณะกรรมการการศึกษาหลายๆ ฝ่าย ที่ต้องการที่จะปฏิวัติ เปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูป หรือพัฒนาการศึกษาก็แล้วแต่จะเรียกกันไป วันนี้คงไม่ได้มีเวลามาเจียระไนความต่างระหว่าง ปฏิวัติ ปฏิรูป หรือเปลี่ยนแปลง พัฒนาการศึกษา แต่ที่แน่ๆ เราจะต้องทำให้การศึกษาสร้างคนให้สามารถอยู่กับโลกปัจจุบันนี้ให้ได้ ก็ถือเป็นโชคปีนี้มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับความเมตตาจากผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการการศึกษาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น อ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณท่านอาจารย์ระพี สาคริก ท่านอาจารย์มีชัย วีระไวทยะ หรือแม้แต่พระอาจารย์สังคม ธนปัญฺโญ ที่ถือว่าเป็นผู้ที่ปฏิวัติการศึกษาสำเร็จมาแล้วที่ดอยผาส้ม จังหวัดเชียงใหม่ ท่านก็เมตตามาประจำอยู่ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ซึ่งก็ได้พัฒนาเป็นค่ายกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง และเป็นที่พักพิงของคนกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียงที่หนีน้ำท่วมได้มาพักพิงแล้วเมื่อครั้งน้ำท่วม ปีนี้ก็ได้พัฒนาเป็นชุมชนใหม่ขึ้นเรียกว่าเป็นชุมชนที่หนีไปจากภัยน้ำท่วมเรียกว่าชุมชนกสิกรรมวิถีขึ้น เป็นชุมชนที่มีความพอเพียงและยังมีวัดและโรงเรียนเกิดขึ้นแล้วเรียกได้ว่า เกิดครบ “บวร” บ้านวัดโรงเรียนขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะเป็นโรงเรียนในรูปแบบไหนนั้นขอเป็นสัปดาห์หน้าจะมาเล่าให้ฟังกัน +