9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ปมปัญหาการศึกษาไทย ไม่อาจแก้ไขด้วย “อำนาจ” ...ทางออกการศึกษาไทยต้อง... (2)
อาจารย์ยักษ์แนะเรื่องปลดปมปัญหาการศึกษาไทยไปในตอนที่แล้ว โดยเน้นเรื่องของเป้าหมายของการจัดการศึกษาที่เป็นเป้าหมายรวมของชาติ 4 ประการ ในตอนนี้จะขอเสนอเรื่อง ปรัชญาการศึกษาประการที่ 2 อันเป็นเรื่องสำคัญนั่นคือ ปรัชญาของการศึกษาที่รัฐบาลกลางยึดอำนาจเบ็ดเสร็จผูกขาดไว้ที่รัฐบาลกลางคนเดียวซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดอย่างมหันต์ ผลพวงจึงเป็นหายนะ เป็นวิกฤตอย่างที่เห็นทุกวันนี้
ปรัชญาการศึกษาที่แท้จริงต้องให้ความสำคัญกับพ่อแม่และชุมชน โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เคารพความเห็น ความเป็นมนุษย์ของลูกจะสามารถจัดการศึกษาให้กับลูกอย่างเหมาะสม กลุ่มที่สำคัญต่อมาคือคนในท้องถิ่นนั้นๆ เพราะเขาย่อมรู้ดีกว่าคนนอกท้องถิ่น คนนอกชุมชนอาจจะหูตากว้างกว่าก็มีหน้าที่ที่จะป้อนข้อมูลให้คนท้องถิ่นจัดการการศึกษาของตนเอง ส่วนกลางมีหน้าที่เป็นโปรโมเตอร์ เป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น อย่าคิดเป็น “พ่อรู้ดี” ลงไปจัดการศึกษาแทน นี่คือปรัชญาข้อที่ 2 ที่จะพัฒนาการศึกษาให้เจริญก้าวหน้าส่วนกลางต้องอย่าคิดไปทำเองทุกอย่าง ต้องเข้าใจได้ว่าคนบนยอดดอยจะต้องรู้จักวิถีอารยธรรม วิถีชีวิตที่ดีที่สุดของลูกหลานของคนบนดอย คนที่อยู่ชายฝั่งทะเล ริมทะเลก็เหมือนกัน พ่อแม่เขาก็จะเข้าใจความต้องการของการจัดการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับคนที่นั่น ผู้เชี่ยวชาญที่ไปเรียนมาจากอังกฤษ จากอเมริกา จากยุโรป จากเยอรมัน ไม่สามารถที่จะไปรู้ใจ ไปรู้ความต้องการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ ถ้าเราเข้าใจประเด็นนี้เราก็จะเคารพคนในท้องถิ่นนั้นๆ ปัญหาวิกฤตนี้ก็จะไม่เกิด การจัดการศึกษาไม่ใช่เรื่องที่จะไปลากถูลู่ถูกังเอาเด็กเข้ามาอยู่ในระบบมหาวิทยาลัย ต้องมาสอบ O-NET, A-NET ซึ่งมันไม่ได้เรื่อง การจัดการศึกษาที่แท้คือการทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ลากเข้ามาอยู่ในลู่ที่มีเพียงลู่เดียวเท่านั้น ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงต้องเป็นเรื่องของคนที่นั่น ไม่ใช่การที่ส่วนกลางเข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จ
ในเชิงการบริหารจัดการของการจัดศึกษาภายใต้ปรัชญานี้ โรงเรียนจะต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการ ที่เรียกว่า School base management ซึ่งเขามีในหลายๆ ประเทศ โรงเรียนเป็นนิติบุคคลสามารถจัดแจงอะไรได้เองอย่างเป็นอิสระ เหมือนกับบริษัท เหมือนกับกรมหนึ่งกรม แต่เขาไม่ได้มีอิสระ 100% ยังอยู่ภายใต้กรอบคิดส่วนกลางซึ่งแน่นอนจะเข้าไปก้าวก่ายเขามากจนเกินเลยไม่ได้ ท้องถิ่นต้องแข็งแกร่งที่จะยืนหยัดด้วยตัวเองเป็นที่พึ่งของชุมชน ของประชาชน เมื่อท้องถิ่นแข็งแกร่งก็จะสามารถเป็นที่พึ่งของคนไทยทั้งประเทศ
สมัยก่อนอาจารย์ยักษ์เรียนรัฐศาสตร์ก็พูดเรื่อง ครู คลัง ช่าง หมอ ครูนี้ท้องถิ่นจัดได้ดีกว่าทั้งประเทศไม่มีใครจัดได้ดีกว่าท้องถิ่น คลัง นั้นหมายความรวมไปถึงทุกอย่าง คลังหมายถึงทั้งที่ใช่เงินและไม่ใช่เงิน อาหารมั่นคง น้ำมั่นคง อากาศมั่นคงและมีเงินมีทองด้วย ส่วนคลังความรู้นั้นก็หมายความรวมถึงการจัดการศึกษา คลังความรู้นั้นมันมีมากมายหลากหลาย ถ้าเราใช้มาตรฐานกลาง มาตรฐานสมศ. มาตรฐานสกอ. ก็จะไปทำลายความมหัศจรรย์ ความเป็นเอกลักษณ์ ความพิเศษของท้องถิ่นนั้นๆ จนหมดไป ยกตัวอย่างง่ายๆ แบบของอาคารเรียนที่มีคนๆ เดียวมีอำนาจอนุมัติคืออธิบดีแล้วใช้เหมือนกันหมดทั้งประเทศ รูปแบบของอาคารเรียนทั้งประเทศมันก็จะไปทำลายรูปแบบที่หลากหลายของท้องถิ่นนั้นไปโดยสิ้นเชิง แต่การจัดการศึกษานี้แหละที่จะไปทำให้ท้องถิ่นกลับมาเจริญได้ ช่าง แน่นอนหมายถึงสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ทุกท้องถิ่นมีสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่และมีความเป็นศิลปะของท้องถิ่นมากมาย การจัดการศึกษาที่รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางก็ได้ทำลายการถ่ายทอดและการรักษาอารยธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ลงไป ดังนั้นการจัดการศึกษาที่แท้ยังเป็นเรื่องที่ทำให้สามารถรักษาอารยธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ไว้ได้ นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ที่จริงยังมีเรื่องอีกเรื่องที่อยากหยิบมาตอกย้ำ คือเรื่องของทฤษฎีการจัดการศึกษาตามที่พระพุทธเจ้าและพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พยายามที่จะสื่อสารบอกกับคนไทยให้รู้เรื่อง อาจารย์ยักษ์เอามาแปลงเป็นทฤษฎีช่างตีเหล็ก หรือช่างปั้นหม้อ คิดว่าถ้ามีโอกาสคราวหน้าจะเอากลับมาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง +