9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ปมปัญหาการศึกษาไทย ไม่อาจแก้ไขด้วย “อำนาจ” ...ทางออกการศึกษาไทยต้อง... (1)
อาจารย์ยักษ์และพระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ ได้มีโอกาสเดินทางไปประชุมหารือเรื่องทางออกการศึกษาไทยร่วมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินโดยท่านศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ท่านได้เชิญผู้ที่สนใจจัดการศึกษาภาคเอกชนหรือภาคประชาชนมาร่วมประชุมหารือกันในการหาทางออกจากวิกฤตการศึกษาของชาติ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกัน 2 รอบแล้ว เป้าหมายร่วมกันคือความพยายามหาทางออกที่ดี ที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาบ้านเราให้หลุดพ้นจากวิกฤตนี้ให้ได้
ทุกวันนี้เป็นที่รู้กันอยู่ว่าการศึกษาบ้านเราขณะนี้ถึงขั้นวิกฤตแล้ว ไม่สามารถที่จะนิ่งเฉยไม่ทำอะไรได้อีกแล้ว ข้อมูลเรื่องวิกฤตนั้นได้พูดกันมามาก ทั้งการวัดผลตามมาตรฐานต่างๆ ทั้ง O-NET หรือการวัดผลรูปแบบอื่นๆ คะแนนที่ได้ก็ต่ำมาก รวมทั้งผู้ที่จบการศึกษาแล้วไปทำงานที่ไหนก็มีแต่เสียงบ่น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่ควรที่จะทำการศึกษาเองอีกแล้ว ไม่ควรที่จะยึดอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเรื่องการจัดการศึกษาไว้คนเดียว แต่การจัดการศึกษานั้นควรเป็นหน้าที่ของภาคเอกชน ภาคประชาชนและทุกภาคส่วนที่จะลุกขึ้นมาจัดการศึกษาพาชาติให้รอดให้ได้ ในที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น 7 คน โดยมีท่านมีชัย วีระไวทยะ ท่านอาจารย์ศรีราชา อาจารย์ยักษ์ พระอาจารย์สังคมและอีกหลายๆ ท่านมาช่วยกัน เพื่อที่จะจัดการศึกษาให้ดูหรือให้ข้อเสนอแนะว่าการจัดการศึกษาที่ถูกต้องเพื่อที่จะทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรมนั้นทำอย่างไร
แม้ว่าทุกวันนี้จะมีตัวอย่างให้ดูกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนสัตยาสัย โรงเรียนมีชัยพัฒนา โรงเรียนรุ่งอรุณ ฯลฯ อีกมากมายที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังเรียกว่าไม่มากเพราะว่ารัฐเองผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จไว้แล้วบอกว่าใครจะจัดการศึกษาต้องมาขออำนาจฉันก่อน อำนาจเบ็ดเสร็จไปอยู่ที่ส่วนกลาง นี่จึงเป็นปัญหาใหญ่ ทำอย่างไรกระทรวงศึกษาถึงจะเข้าใจว่าการจัดการศึกษา การพัฒนาประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องของอำนาจ แต่เป็นเรื่องของความรัก ความรู้ เป็นเรื่องของคุณธรรมต่างหาก ไม่ใช่เรื่องของอำนาจ ยิ่งไปรวมศูนย์อยู่ส่วนกลางยิ่งไปไม่รอด การจัดการศึกษาที่ดีนั้นต้องเป็นเรื่องของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นเรื่องของพ่อแม่และคนในท้องถิ่นที่จะช่วยกัน
อาจารย์ยักษ์จึงขอเสนอข้อเสนอแนะไว้เบื้องต้น 3-4 ประการด้วยกันดังนี้ หนึ่งเป้าหมายของการจัดการศึกษาที่เป็นเป้าหมายรวมของชาติควรมีอยู่ 4 ประการ 1.1) เป้าหมายของการศึกษาประการแรกคือ ต้องทำให้คนเป็นคนดีมีวินัยก่อน ซึ่งไม่ใช่เป็นการยากเลย สามารถที่จะจัดกระบวนการพัฒนาคนให้เป็นคนดีมีวินัยให้ได้ นี่เป็นเป้าหมายที่อยากจะตอกย้ำ 1.2) เป้าหมายการศึกษาควรที่จะทำให้คนพึ่งตนเองให้ได้ อายุ 5 ขวบก็ต้องพึ่งตนเองแบบ 5 ขวบ อายุ 10 ขวบก็ต้องพึ่งตนเองได้แบบ 10 ขวบ 20 ขวบก็ต้องแบบ 20 ขวบ แต่ทุกวันนี้บางคนจบปริญญาหรือปริญญาโทแล้วก็ยังพึ่งตนเองไม่ได้ ยังเป็นภาระให้กับพ่อแม่ เพราะฉะนั้นการพึ่งตนเองได้นั้นต้องเป็นเป้าหมายที่จะต้องช่วยกันอบรม บ่มนิสัยให้ได้ 1.3) เป้าหมายข้อที่ 3 คือ ทำอย่างไรคนทุกคนจะได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองตามที่ชอบ ตามที่ถนัด แม้โรงเรียนจะไม่สามารถจัดการศึกษาได้เองก็ต้องแสวงหาโอกาสให้เด็กคนนั้นได้เข้าถึงศักยภาพของตนเองอย่างสมบูรณ์ให้ถึงขั้นเชี่ยวชาญให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยากหากโรงเรียนกำหนดเป้าหมายไว้ เชื่อว่าทุกที่ ทุกโรงเรียนจะสามารถทำสำเร็จได้ แต่ต้องคิดใหม่จึงจะสำเร็จ ข้อสุดท้าย 1.4) คือต้องทำให้คนกตัญญู กตเวทีต่อพ่อแม่ ต่อครูบาอาจารย์ ต่อพระสงฆ์ ต่อแผ่นดินเกิด ต่ออะไรที่ควรจะเป็น ความกตัญญู กตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ของความเจริญ เป้าหมายทั้ง 4 ข้อนี้เป็นภาพรวม เป็น General นี่คือเรื่องที่หนึ่ง
เรื่องที่สองอาจารย์ยักษ์คิดว่า ปรัชญาของการศึกษานั้น การที่รัฐบาลกลางยึดอำนาจเบ็ดเสร็จผูกขาดไว้ที่ส่วนกลางเป็นเรื่องที่ผิดอย่างมหันต์ ผลพวงจึงเป็นหายนะ เป็นวิกฤตอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ปรัชญาการศึกษาที่แท้จริงต้องให้ความสำคัญกับพ่อแม่และชุมชน เพราะพ่อแม่เป็นผู้ที่รักลูกที่สุดก็จะเลือกทางจัดการศึกษาให้ลูกได้ดีที่สุด ดีกว่ารัฐบาล ดีกว่านักการศึกษา ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญจะเก่งสักแค่ไหนจะมีใครรู้จักลูกได้ดีกว่าพ่อแม่ จริงหรือไม่...ใครคิดเห็นเป็นไปในทางเดียวกันและเริ่มมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์รางๆ ฉบับหน้ามาคุยกันต่อครับ +