9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
หมอและครู กู้อารยธรรมพอเพียง (3)
ตอนที่แล้วอาจารย์ยักษ์เล่าเรื่องความประทับใจที่ได้เห็นความพยายามของหมอและครูที่ร่วมมือกับชาวบ้าน กับพระ กับโรงเรียนลุกขึ้นมากู้อารยธรรมพอเพียงของไทยเรา โดยชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญ คือ “ความชำนาญ” ของคนไทย ที่ชำนาญในการ “ทำมาหากิน” มากกว่าการ “ทำมาหาเงิน” ซึ่งสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้หลายคนเจ๊งหมดตัว แถมไม่มีฟูกรองรับเวลาล้ม เพราะไม่เข้าใจรากเหง้าของตัวเอง
อาจารย์ยักษ์อยากให้ลองทบทวนถึงความเป็นอยู่ของคนบ้านเราในสมัย 50 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นปู่ย่า ตายาย ล้วนอยู่กันอย่างสบายๆ ไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวทั้งที่ทำงานหนักก็ยังคงต้องหาเช้ากินค่ำ เพราะความไม่เข้าใจตรงนี้ พอมุ่งไปทำมาหาเงิน เอาเงินมาซื้อกินไปเสียทุกอย่าง ทั้งกะปิ น้ำปลา กระเพราสักกิ่งก็ต้องซื้อต้องหาจากรถพุ่มพวง แม้น้ำดื่มก็ยังต้องซื้อแล้วแบบนี้จะมีความพอเพียงได้อย่างไร แต่หากเราลองหวนคิดกลับมาดูจุดแข็งของเรา โดยเฉพาะของคนอีสาน หากตื่นเช้าขึ้นมาลองมาแข่งกันทำมาหากินสิ แค่ไปหาปลา หาหอย หากบ เขียด หาผัก หาเห็ดมาทำกินรับรองได้ว่าเป็นเรื่องง่ายๆ การทำมาหากินนั้นง่ายมากสำหรับพวกเรา พืชผักแต่ละอย่างเรารู้ว่าจะต้องเอามาปรุง เอามาต้มยำทำแกงอะไร อะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ อะไรกินดีกินไม่ดีเรารู้หมด ข้าวแบบไหนเหมาะกับที่แบบไหน ที่ดอน ที่ลุ่มน้ำน้อย น้ำมาก เรารู้จักถิ่นฐานของเราดี สมัยก่อนเราจึงมีองค์ความรู้เหล่านี้มากมาย แต่เมื่อความรู้เหล่านี้หายไป เรามุ่งหน้าแข่งขันกันทำมาหาเงิน ผลก็คือเราสู้เขาไม่ได้ ทำไม่เป็น ไม่ชำนาญ จะค้าขายเอากำไรมากๆ ก็ละอายใจ คนมาขอติดหนี้ติดสินก็ใจดี จะออกปากทวงก็เกรงใจเขา นี่แหละนิสัยคนไทย ดังนั้นการค้าของเราในสมัยก่อนจึงเป็นการแลกเปลี่ยน แลกเอา กะเอา ตามความพอใจระหว่างกัน เอาผักไปแลกเกลือ เอาปลาไปแลกข้าว ถามว่าเท่าไหร่แลกเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความพอใจและความพอเพียง คือจะเอามามากเกินพอกินทำไมให้เสียเปล่า นั่นคือแนวคิดแบบไทย
ทีนี้เมื่อสังคมเปลี่ยน คนหันมาทำมาหาเงิน ผลกลับกลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ลองหันมาเชื่ออาจารย์ยักษ์ดูสักครั้งเถิดว่า อย่าคิดทำมาหาเงิน แต่ให้คิดทำมาหากิน แล้วแค่ทำมาหากิน ทำมาหาใช้นี่แหละที่ทำให้คนไม่เป็นหนี้เป็นสินแล้วถ้าทำมาหากินเหลือแล้ว ไปทำบุญ ทำทานผลบุญก็จะตอบแทนกลับมา แล้วถ้ารู้จักแปรรูปแล้วนำมาค้าขายก็มั่งคั่ง เพราะไม่ต้องเอาเงินไปซื้อกิน ก็จะเหลือไปซื้อทองมาเก็บไว้เหมือนอย่างรุ่นพ่อ รุ่นแม่ แม้แต่แม่อาจารย์ยักษ์เองก็ทำมาหากินจนเหลือเงินเหลือทองเก็บไว้ แล้วอย่างทุกวันนี้ก็มีคนที่เข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ ทำแล้วรวยมากมายอย่างลูกศิษย์ผมหลายคน เคยเป็นหนี้เป็นสินก็ปลดหนี้ได้หมดแล้ว แถมยังมีเหลือกิน เหลือเก็บ เพราะว่าเขาทำมาหากินไม่ได้ตั้งใจทำมาหาเงินจนเป็นหนี้ แต่ทำมาหากินจะเหลือเงินเก็บ ทำปีสองปี เอาเงินที่เก็บได้ไปปลดหนี้ หนี้สินเป็นล้านปลดได้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงๆ
แนวคิดแก้ไขปัญหาให้พอกินพอใช้ ก็พลิกกันง่ายๆ แค่นี้เอง ด้วยความสามารถขั้นพื้นฐานของเรา แต่พอเหลือกิน เหลือใช้แล้วก็ต้องไปร่วมมือกับคนอื่น ไปร่วมมือกับวัด ก็ไปช่วยเหลือคนอื่นเป็นความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ที่แท้จริง เพราะความเจริญที่แท้นั้นไม่ได้วัดด้วย GDP ไม่ได้วัดด้วยเงิน แต่วัดได้หลายอย่าง คนไทยเราวัดกันด้วยความเจริญของวัด เพราะวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชน แล้วเขาไม่เก็บกักตุนไว้กับบ้าน กับตัวเอง เมื่อมีเหลือแล้วก็เอาไปทำบุญ เอาไปสร้างทรัพย์สินส่วนรวมเป็นของสาธารณะของชุมชนใช้ร่วมกัน วัดเองก็ใกล้ชิดกับชาวบ้านเป็นที่พึ่งทั้งทางจิตใจและทางธรรม แบบนั่นจึงเป็นความมั่นคงยั่งยืนที่แท้ และแม้ว่าโลกจะเปลี่ยนผันแปรไปอย่างไร แต่หากเราสร้างโลกเล็กๆ รอบตัวเรา รอบชุมชนเราให้แข็งแกร่งด้วยแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่มุ่ง “ทำมาหาเงิน” แค่เพียง “ทำมาหากิน” แล้วเหลือทำบุญ ทำทาน เผื่อแผ่ แบ่งปัน เก็บรักษาแปรรูปไว้ค้าขายใกล้ๆ บ้าน มีเพื่อน มีญาติมิตร มีเครือข่ายด้วยพลังบุญ พลังทาน แนวทางนี้แหละที่จะทำให้เรารอดท่ามกลางคลื่นวิกฤตที่ถาโถมขอให้เชื่ออาจารย์ยักษ์แล้วลงมือ ทำทันที พร้อมๆ กันเถอะจะพบคำตอบด้วยตัวเอง +
แหล่งที่มา:
พอแล้วรวย คมชัดลึก วันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2556