9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
บุกภูฟ้า เดินหน้ารักษาโลก (1)
งานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ 7 “อึดแนวกิน สิ้นแนวแท้ : อาหารหมดโลก มนุษย์สูญพันธุ์” จบลงด้วยความรู้สึกอิ่มเอมใจ เครือข่ายจากหลากหลายพากันเข้ามาเชื่อมร้อยเดินหน้าไปด้วยกัน อาจารย์ยักษ์เห็นแบบนี้ก็มีพลังใจที่จะเดินหน้าต่อไป เพราะไม่ว่าจะเครือข่ายไหนเราล้วนเชื่อมั่นว่ามีจุดหมายปลายทางเดียวกันทั้งสิ้น คือออกแรงต้านการไหลลงเหวของสังคมบริโภคนิยม ทุนนิยม ที่กำลังสูบกลืนกินทรัพยากรธรรมชาติอย่างสุดกำลัง
คราวนี้จะขอย้อนกลับไปเรื่องของภารกิจสำคัญคือ “บุกภูฟ้า เดินหน้ารักษาโลก” ซึ่งก็ไม่ได้ต่างไปจากเป้าหมายหลักของภารกิจอาจารย์ยักษ์ เพราะได้มองเห็นอย่างชัดเจนมานานแล้วว่า หากปล่อยไปแบบนี้มีแต่พากันเดินหน้าสู่การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อาจารย์จึงได้นำคณะ “ทัวร์แบบคนมีใจ ไปแบบคนกันเอง” หลายสิบชีวิตมุ่งหน้าขึ้นไปบุกภูฟ้า ไปดูกันให้เห็นตำตาว่าเหตุที่แท้จริงของภัยน้ำท่วมใหญ่ ภัยแล้งนั้นเป็นเพราะน้ำมือมนุษย์ล้านเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่ออาจารย์ยักษ์เล่าให้หลายๆ ที่ฟัง ก็พากันอยากไปดูว่าไอ้ที่ว่า ต้นน้ำกลายเป็นเขาหัวโล้นหมดนั้นมันจริงไหม แล้วป่าที่มันขาดแยกจากกันจนทำลายเส้นทางเดินของสัตว์ป่า ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง สัตว์ผสมพันธุ์กันเอง พืชผสมพันธุ์กันเอง จนเกิดภาวะเลือดชิดเป็นอันตรายต่อสรรพชีวิตนั้นจริงไหม
การเดินทาง “บุกภูฟ้า เดินหน้ารักษาโลก” ครั้งนี้จึงเกิดขึ้นโดยได้รับความกรุณาอย่างยิ่งจากผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม จากมหาวิทยาลัยที่มีนามว่า “ราชภัฏ” แปลว่า “คนของพระราชา” นี่แหละที่ได้ลุกขึ้นมาช่วยกันจัดทัพ จัดขบวน โดยเริ่มจากมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ซึ่งที่นั่นเขามี คณะวิทยาการจัดการก็มีภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม นำโดย อ.เข้ม หรือ อ.ไตรภพ โคตรวงษา อดีตหัวหน้าภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม และเป็นอดีตผู้อำนวยการของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ซึ่งท่านหมดวาระไปแล้วแต่ครั้งนี้ท่านก็มาจัดการท่องเที่ยวของคนรักษ์โลกที่มีมติกันว่าจะไปกันแบบคนกันเอง คือ การรวมตัวกันของคนมีใจที่จะไปช่วยเหลือจุนเจือดูแลกัน ไปช่วยกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำสำคัญของลุ่มน้ำ 3 ลุ่ม ลุ่มที่ 1 คือ ลุ่มน้ำป่าสักไหลลงมาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และลงมาแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มที่ 2 คือลุ่มน้ำพอง ที่ไหลลงมาขอนแก่น และลุ่มที่ 3 คือ ลุ่มน้ำเลยไหลผ่านจังหวัดเลยไปลงแม่น้ำโขง
ลุ่มน้ำทั้ง 3 ลุ่มน้ำนี้มีเทือกเขาอยู่ชื่อว่าภูฟ้า เป็นภูอยู่ตรงกลางระหว่างภูหลวง ภูหอ ภูกระดึงและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวของจังหวัดเพชรบูรณ์ ป่าผืนนี้เป็นป่าผืนใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 3.5 ล้านไร่ มีภูหลวงอยู่ตรงกลาง เป็นรอยต่อ 2 จังหวัด 3 ลุ่มน้ำ แต่เดิมป่าผืนนี้เป็นพื้นที่ที่สามารถอุ้มน้ำไว้ได้ในปริมาณมหาศาลแล้วก็ปล่อยไหลลงมาหล่อเลี้ยงทั้งภาคอีสาน ผ่านน้ำพอง ลงน้ำชี ไปลงน้ำมูล และไปลงแม่น้ำโขงจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนอีกตอนก็ส่งไปหล่อเลี้ยงจังหวัดเลยไหลไปลงแม่น้ำโขง อีกส่วนหนึ่งไหลลงมาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่จังหวัดลพบุรี
ป่าลุ่มน้ำที่ไหลลงมาเขื่อนป่าสักนี้เป็นลุ่มใหญ่ที่มีความสำคัญมากครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10 ล้านไร่ ซึ่งสามารถอุ้มน้ำได้ในระดับที่ฝนตกลงมา 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ป่าก็สามารถรับน้ำไว้ได้อย่างสบาย และปล่อยมาหล่อเลี้ยงเรื่อยมาจนถึงกรุงเทพฯ แต่ทุกวันนี้ป่าหมดแล้ว ก็จะเกิดอันตรายขึ้นมากมายเมื่อปีที่แล้วฝนตกลงมา 5,000 ล้าน ลบ.ม. พาตะกอนทะลักทลายลงมาท่วมกรุงเทพฯ เป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนหนึ่งก็ไหลลงมาตกตะกอนในลำน้ำ ในห้วย ในหนอง ที่สำคัญคือมาตกตะกอนในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ตัวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เองที่สามารถเก็บน้ำไว้ได้เต็มที่ไม่เกินพันล้านลูกบาศก์เมตรก็ตื้นเขินขึ้น แต่ถึงแม้จะเก็บไว้ได้เต็มปริมาณ น้ำอีก 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ไม่มีป่าอุ้มน้ำไว้ จึงไหลหลากลงมาท่วมนิคมโรจนะ ท่วมวัดชูจิตฯ ท่วมอยุธยา ปทุมธานีหลากลงมาท่วมถึงกรุงเทพ เดือดร้อนกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมพลังกันช่วยเหลือ โดยอาศัยคนที่มีกำลัง ทั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสถาบันปลูกป่า ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ปีนี้มีเป้าหมายที่จะปลูกป่าอีก 1 ล้าน แล้วชักชวนให้มหาวิทยาลัยราชภัฎ 40 แห่งทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาร่วมกันทำงานเพื่อท้องถิ่น โดยร่วมมือกับคนในเมืองที่มีกำลัง ทั้งกำลังเงิน กำลังทางสังคม กำลังทางการเมืองและกำลังความรู้ ขึ้นไปช่วยคนที่อยู่ในท้องถิ่นให้เขาสามารถฟื้นฟูป่าขึ้นมาได้ โดยเปลี่ยนจากการทำพืชไร่เชิงเดี่ยว การปลูกยาง การปลูกข้าวโพด ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นป่า 3 อย่าง ที่ให้ประโยชน์ถึง 4 อย่างตามแนวทางพระราชดำริ ชาวบ้านก็อยู่ได้ คนพื้นล่างก็อยู่ได้ ผลผลิตก็ยังดีอยู่ แถมป่าที่ปลูกในพื้นที่ซึ่งมีเจ้าของดูแลก็จะอยู่ยืนยาว แนวคิดแบบนี้ใครสนใจ อาทิตย์หน้ามาคุยกันต่อ +
ขอบคุณภาพประกอบโดย คุณ Fatbeat จาก http://www.bikeloves.com/board_bpmtbtrip/show_thread.php?qID=2473
แหล่งที่มา:
พอแล้วรวย คมชัดลึก วันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2556