9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
“อึดแนวกิน สิ้นแนวแท้” : อาหารหมดโลก มนุษย์สูญพันธุ์ (2)
วันนี้เป็นวันแรกของการจัดงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินรั้งที่ 7 โดยงานจะมีขึ้นอีก 2 วันคือ วันเสาร์ที่ 16 และอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี อาจารย์ยักษ์ก็อยากจะชักชวนศิษย์เก่ามาบเอื้องทั้งหลายกลับไปพบปะ ไปรวมตัวกัน หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยไปเลยแต่อยากจะเรียนรู้วิถีกสิกรรมธรรมชาติและการนำเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่การปฏิบัติในภาคส่วนต่างๆ ทั้งในหน่วยงานราชการ สถานศึกษา บริษัทเอกชน โรงเรียน ชุมชน การเกษตร ฯลฯ ก็ไม่ควรจะพลาด เพราะงานนี้พวกเราชาวเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตั้งใจ “เอาดีออกอวด” จริงๆ
ก่อนเริ่มงานมหกรรมครั้งนี้ คณะนักปั่นสะพานบุญร่วมกันชักชวนเครือข่ายจักรยานแห่งความเพียร ปั่นจักรยานแบบ “ซำเหมา” คือเอาใจมานำก่อน โดยตั้งใจว่าจะปั่นระดมบุญเข้าร่วมงานมหกรรมคืนชีวิต ตั้งต้นจากเขาใหญ่ ผ่านทุ่งข้าวสู่อ่าวไทย คราวนี้จะไปดูความอุดมสมบูรณ์ของอู่ข้าว อู่น้ำ และผืนแผ่นดินแหล่งอาหารสำคัญของคนไทยว่าความมั่นคงทางอาหารที่เก็บรักษาไว้ในดินนั้นยังดีอยู่หรือหายนะเข้าครอบงำไปเยอะแค่ไหนแล้ว
ขบวนปั่น “ซำเหมา เอาบุญ” ของเรานั้น ได้เพื่อนร่วมขบวนกว่า 70 ชีวิตแล้ว ทุกคนมาเพราะหัวใจล้วนๆ แรงกายแรงใจก็ต้องพกกันไปเอง ข้าวปลาอาหารหากินเองพิสูจน์แรงแห่งบุญ แห่งทาน พร้อมทั้งบอกบุญตลอดรายทางถึงภารกิจที่เราทำเพื่อรักษาแผ่นดินไว้ด้วยการนำศาสตร์ของพระราชาลงสู่การปฏิบัติ ตลอดเส้นทางเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมจนมาถึงงานวันที่ 15 ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดี ก็เข้าร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมพอดี โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ระพี สาคริก ผู้เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทมากล่าวโอวาทเปิดเป็นประจำเหมือนเช่นทุกปี ต้องถือเป็นพรอันประเสริฐที่ท่านเมตตาต่อคณะพวกเรา
นอกจากนั้น ในเวทีใหญ่จะจัดเสวนา พูดคุยกัน โดยเชิญเหล่าผู้รู้หลากหลาย มาร่วมพูดคุยกันโดยวันนี้มีวงเสวนาน่าสนใจเรื่อง “กินฉลาดตายช้า กินเซ่อซ่าตายก่อน” ซึ่งอาจารย์ยักษ์ และคุณโจน จันได จากสวนพันพรรณขึ้นเวทีร่วมแลกเปลี่ยนกับคุณวิทูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ ชีววิถี ว่ากันด้วยเรื่องราวหลังการ “ปฏิวัติเขียว” หรือการพลิกวิถีการเกษตรจากการเกษตรแบบผสมผสาน ใช้แรงงานคนในครอบครัวและเพื่อนบ้านเป็นหลัก สู่การใช้แรงงานเครื่องจักรและการผลิตแบบปริมาณมากๆ กลายเป็นอาหารที่เรากินอยู่ทุกวัน ซึ่งมีหน้าตาเหมือนอาหารแต่ยังใช่อาหารหรือเปล่านั้นอาจารย์ยักษ์ชักไม่ใน่ใจ ก็เลยตั้งใจว่าจะพูดเรื่องนี้ให้ทุกคนได้คิดกัน ว่า “อาหาร” นั้นหมายถึงอะไรกันแน่ แล้วกินเข้าไปมีแต่ตายกับตาย ยังควรเรียกอาหารหรือปล่าหนอ หรือว่าเป็นแต่เพียงเศษซากบนสายพานสนองตัณหาของทุนนิยมกลุ่มใหญ่ที่ครอบงำอาหารโลกอยู่ในเวลานี้กันแน่
พอวันที่ 2 วงเสวนาย้ายมาเรื่องของแสงสว่างแห่งทางออกจากปัญหาสารพัน ในยุคโลกาภิวัตน์ถล่มแผ่นดิน แรงต้านเพียงน้อยนิด แต่ยังย้ำยืนยันว่ามีจริง คือ พลังของ “ท้องถิ่นภิวัตน์” พลังคนรากหญ้าเล็กๆ ที่จะถักทอรวมกันยึดแผ่นดินเอาไว้ งานนี้ได้ท่าน อ.เดชา ศิริภัทร จากมูลนิธิข้าวขวัญ และได้รับเกียรติจากท่าน สว.รสนา โตสิตระกูลมาเข้าร่วม อีกท่านเป็นเลือดใหม่ไฟแรงที่หลายคนรู้จักดี คือ ดร.เขียน (สำนึก จงมีวศิน) นักวิชาการอิสระ และได้เชิญหัวหน้ากลุ่ม 11 กบฏแม่ทา จากเชียงใหม่ คุณกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน เข้ามาพูดคุยหารือ หาทางออกไปพร้อมๆ กัน เพราะถึงทุกวันนี้ไม่ว่าเครือข่ายไหน รากหญ้าไหน ก็ล้วนแล้วจะอยู่ยากหากไม่จับมือกันถักทอร่างแหของเครือข่ายให้เหนียวแน่น
วันสุดท้าย ทิ้งท้ายกันด้วยเรื่องของประเด็นที่ทุกคนโทษว่าเป็นรากฐานของปัญหา คือ “การศึกษา” คนจำนวนมากยอมรับว่าการศึกษาตามแนวทางที่ผ่านมาล้มเหลว เราผลิตบัณฑิตปริญญาตรีจากการขายนามรดกของบรรพบุรุษ เพื่อมาเป็นหุ่นยนต์บนสายพาน กลุ่มเสี่ยงแรกสุดหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยล่อลวงเขาเข้ามาด้วยคำปริญญา และหน้าที่การงานตั้ง แล้วมันคุ้มกันไหมกับศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เสียไป พร้อมทั้งภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่ล่มสลายเพราะเป็นเรื่องเชย เรื่องไม่ทันสมัย โดยลืมนึกไปว่า สิ่งที่เชยๆ ไม่ทันสมัย พิสูจน์ไม่ได้นั้นเป็นสิ่งที่อุ้มชู เลี้ยงดูตนมาจนร่ำเรียนจบมามีงานทำ แต่ตัวเองผู้รับเอาปริญญาบัตรจากการศึกษาแบบหมาหางด้วน ได้มีโอกาสดูแล เลี้ยงดู หรือกลับไปดูแลบ้านเกิดได้แค่ไหน ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้มีแต่เชิดหน้า ทำท่าทางดี มีหนี้เต็มกระเป๋าในเมืองแมลงสาปกันทั้งนั้น เวทีวิพากย์การศึกษา นำเสนอแนวคิด “พระและครูกู้แผ่นดิน” วงเสวนา “การศึกษานอกคอก ปัญญานอกกะลา” นำโดยพระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตะวังโส พระอาจารย์สังคม ธนปัญโญ รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้ง รร.รุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์ สมทบด้วยพ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ปราชญ์ชาวนา นักการศึกษาชุมชน เวทีนี้ก็ห้ามพลาดอีกเช่นกัน
ส่วนคนรุ่นใหม่ที่เริ่มจะมองเห็นแล้วว่าเมืองมันไม่ใช่ มันไม่รอด ก็ขอเชิญไปรวมตัวกันกับชุมชน “กสิกรรมวิถี” ชุมชนใหม่ที่เกิดขึ้นหลังภัยพิบัติน้ำท่วมที่ผ่านมาและพวกเขาได้หนีจากเมืองไปอาศัยค่ายพักพิงมาบเอื้อง อยู่นานจนเริ่มมองเห็นแนวทางใหม่ มีทั้งหมอ ทั้งแอร์ ทั้งวิศวกรอยุ่ร่วมกันเต็มไปหมด มาลองดูว่าพวกคนเบื่อเมืองพวกนี้เขาคิดยังไง แล้วมันยากไหมกับการเดินทาง
เอาล่ะพื้นที่ของวันนี้อุทิศให้ข่าวดีๆ ที่จะมีกันปีละครั้ง เดินทางเข้าไปได้เลยไม่ต้องรอ แผนที่คงพอหาได้จากน้ากู(เกิล) แล้วเจอกันครับ +