9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
จากท้องทะเลฐานทัพเรือสัตหีบ ถึงยอดภูฟ้าจังหวัดเลย (1)
ทุกวันนี้หากท่านผู้อ่านลองเปิดหน้าหนังสือพิมพ์ขึ้นมามีแต่ข่าวร้ายมากมาย ข่าวการเอาชนะคะคานกัน การยกกำลังเข่นฆ่ากัน ปะทะกันยิงกันตายเป็นจำนวนมากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเมืองก็ต่อสู้ฟาดฟันแย่งอำนาจกันเป็นใหญ่เป็นโต หรือบางข่าวดูเหมือนสัพเพเหระแต่ก็สะเทือนใจเช่นข่าวลักขโมยควายประทานไปเชือด แต่สำหรับอาจารย์ยักษ์แล้วท่ามกลางสภาพสังคมที่กำลังเข่นฆ่ากันกลับพบว่าช่วงนี้ได้พบเจอแต่เรื่องสบายใจ เจอแต่เรื่องดีๆ มากมาย แม้จะมีภาระเหน็ดเหนื่อยก็รู้สึกมีกำลังใจ เพราะได้เห็นสิ่งดีๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ผู้เข้ารับการอบรมที่เป็นเกษตรกรและผู้สนใจที่อยากจะทำการเกษตรซึ่งเข้าร่วมอบรมรุ่น 369 ล้วนแต่เป็นคนที่เอาจริงเอาจัง มีแววว่าจะสามารถถ่ายทอดศาสตร์ของพระราชาไปลงมือทำกันทั่วประเทศเพื่อฟื้นฟูดิน ฟื้นฟูป่า 3 อย่างให้เกิดประโยชน์ถึง 4 อย่าง สร้างความพอเพียงขึ้นให้เป็นตัวอย่างสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นได้ รุ่น 369 นี้จะเรียกว่ารุ่น 99 ก็ได้ เป็นรุ่นที่มีแววดี แล้วนอกจากนั้นก็ยังมีงานดีๆ เกิดขึ้น คือการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์จำลองด้วยทรายเป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยพระจากกรุงเทพคือพระอาจารย์จิมร่วมกับพระสงฆ์ในหนองบอนแดง และวัดใกล้เคียงได้ฟื้นฟูประเพณีโดยจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เป็นการสืบสานประเพณีให้กับรุ่นต่อไป หรือแม้แต่การที่คนกรุงเทพฯ มารวมกันสร้างชุมชนขึ้นในพื้นที่ติดกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เป็นชุมชนกสิกรรมวิถีที่มาบเอื้องก็กำลังก้าวหน้า หน่วยงานต่างๆ ก็มุ่งหน้ามาพูดคุยมาทำงานร่วมกับเรา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พันพรรณที่มาสร้างอาคารบ้านดินเก็บเมล็ดพันธุ์ร่วมกับชาวบ้าน หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาพูดคุยตั้งแต่กองทัพเรือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปตท. หรือแม้แต่ SCG ก็ตามล้วนแต่เข้ามาร่วมกันดำริเรื่องดีๆ ทั้งนั้น
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ อาจารย์ยักษ์ก็ได้ไปที่สัตหีบ ไปที่หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ของกองทัพเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ท่านผู้บัญชาการก็มีดำริที่จะทำอาคารเป็น “พิพิธภัณฑ์ท้องทะเลไทย” ที่มีชีวิต อยากจะทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติ จึงได้เชิญอาจารย์ยักษ์ไปหารือกันในแนวคิดที่จะให้การศึกษากับเด็กและเยาวชนและผู้ที่สนใจที่อยากจะไปเรียนรู้เรื่องการฟื้นฟูชายฝั่งทะเล เพราะหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาฝั่ง ทั้งในแง่ของด้านการรบ และในอีกด้านก็ทำหน้าที่รักษาฝั่งในด้านความมั่นคงด้านอาหารเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ในอีกมิติหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะมิติทางด้านการทหารอย่างเดียว เรื่องอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญ จึงมีการคิดดำริว่าจะทำพิพิธภัณฑ์กึ่งมีชีวิตและแสดงผลงานในอาคาร และจะทำพิพิธภัณฑ์ มีชีวิตโดยต่อเชื่อมลงไปในทะเลตั้งแต่ชายทะเลไปจนถึงเกาะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าถ้าเราทำการฟื้นฟูทะเลให้มีความสมบูรณ์เชื่อมโยงไปจนถึงบนบก จากทะเลปลายน้ำไปจนถึงภูเขาซึ่งมีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน พิพิธภัณฑ์นี้จึงจะเป็นสถานที่จัดแสดงให้เห็นความสัมพันธ์กันของน้ำ จากน้ำทะเลที่ถูกแดดเผากลายเป็นเมฆยกตัวขึ้นถูกลมพัดลอยไปจนถึงยอดภูเขา พอถึงหน้าฝนก็กลั่นตัวกลายเป็นฝนตกบนภูเขา หลากลงมาผ่านเรือกสวนไร่นา ผ่านเมือง ไหลลงมาที่อ่าวสัตหีบ ซึ่งภายในความเชื่อมโยงนี้ก็จะแสดงให้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระเจ้าอยู่หัวฯ ของเรา และแสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งสองประเด็น
นอกจากแนวคิดที่จะแสดงบนบกซึ่งอาจจะมีทั้งแบบจำลองเป็นโมเดลให้เห็นในช่วงแต่ละฤดูกาล เพื่อให้เห็นว่าฤดูฝนลมจะพัดยกเอาน้ำไปไว้บนภูเขาอย่างไร ฤดูหนาวลมจะพัดจากเทือกเขาสูงหลากลงมากลายเป็นลมข้าวเบาให้ข้าวสุกในช่วงเดือนไหนอย่างไร แนวคิดในการจัดแสดงในทะเลก็จะแบ่งพื้นที่ให้เห็นเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งปล่อยไว้ให้เห็นเป็นระบบแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ อีกส่วนหนึ่งให้เห็นการฟื้นฟูแล้วว่ามีความสมบูรณ์กลับมาอย่างไร แสดงให้เห็นชัดๆ ทั้งสองส่วนลงมือทำเปรียบเทียบกันให้เห็นจริงเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และบทพิสูจน์ คิดดูว่าจะน่าสนใจแค่ไหน สัปดาห์หน้าอาจารย์ยักษ์จะมาเล่าต่อ ขอให้ติดตามกัน +