9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
รำลึกบูรพาจารย์ ประสานศิษย์ (1)
เมื่อเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยขึ้นทีไร อาจารย์ยักษ์อดคิดถึง “อาจารย์แสวง” ไม่ได้ ชื่อเต็มของท่านก็คือ ผศ.ดร.แสวง รัตนมงคลมาศ สอนหนังสืออยู่ที่คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า
สมัยที่อาจารย์แสวงยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านเคยเป็นบุคคลสำคัญที่สามารถชี้ทางออกของสังคมให้กับปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อช่วงอาจารย์ยักษ์เรียนหนังสืออยู่คณะพัฒนาสังคมในภาคปกติ รุ่นที่ 7 อาจารย์แสวงจะสอนในหลายๆ วิชาที่มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาสังคม หรือการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เช่นวิชาการสำรวจประชามติของสังคมในระบอบประชาธิปไตยหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าโพล (POLL) หรือ Political Poll นั่นเอง และวิชาการวิจัยทางสังคม วิชาทฤษฎีการพัฒนาสังคม วิชาการจัดการทางสังคม
อาจารย์ยักษ์เป็นคนขี้สงสัย เวลาอาจารย์แสวงมาสอนก็จะตั้งคำถามเกือบทุกครั้ง ครั้งหนึ่งถามว่า วิชาที่อาจารย์สอนนี้จะสามารถนำเอาไปใช้ในการพัฒนาสังคมได้ยังไง อาจารย์แสวงได้ฟังแล้วก็มีอาการของขึ้นแล้วตอบกลับมาว่า “พวกมึงน่ะแน่จริงหรือเปล่า มาเรียนเพื่อเอาวิชาไปพัฒนาสังคมกันจริงๆ หรือจะมาเรียนเพื่อเอาปริญญากันแน่ ถ้าพวกมึงแน่จริงไปรวมตัวกันมาสัก 7 คนซิ เอามือดีที่สุดของห้อง พวกเกียรตินิยมทั้งหลาย ถ้าแน่จริงรวมกันมาพิสูจน์วิชา Political Poll นี่แหละ” อาจารย์ยักษ์ก็รับคำท้าทันทีเพราะอยากรู้ว่าวิชาที่เรียนนั้นจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการนำไปพัฒนาไปเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้จริงหรือไม่ จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงไหม หลังจากรับคำท้าก็ชวนเพื่อนๆ มาทำภารกิจนี้กันเพราะตอนนั้นเป็นผู้นำนักศึกษาอยู่ พอชวนคนมาได้อาจารย์แสวงก็สอนไป สอนเสร็จปุ๊บก็เกิดเหตุการณ์ในสังคมจริงมีประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่นของกระทรวงศึกษาธิการ และการคอร์รัปชั่นเรื่องการสร้างถนนหนทาง ถ้ายังจำได้เรื่อง “ถนนควายเดิน” อาจารย์แสวงก็ให้พวกเราทำการสำรวจประชามติว่าประชาชนมีความคิดเห็นต่อการคอร์รัปชั่นอย่างไร และจะมีผลกระทบต่อพรรคการเมืองอย่างไร มีผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไร เพราะวิถีการทำประชามตินี้สามารถนำไปใช้ได้กับทั้งเรื่องทาง การเมือง การศึกษา การเศรษฐกิจและทุกเรื่องที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม
เมื่อสำรวจประชามติเสร็จเรียบร้อยก็ทำเป็นบทความตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์มติชนปรากฏว่าปฏิกิริยาไปถึงนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นคือ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ได้ออกมาตอบโต้การสำรวจประชามติทันทีว่า “การสำรวจประชามติทำกับคนเพียงพัน สองพันคนเท่านั้น จะมาชี้ผลกระทบต่อรัฐบาล ต่อความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปไม่ได้ มันเป็นเรื่องแค่คนพันสองพันคนเท่านั้นคนส่วนใหญ่เขาไม่เกี่ยว” เราก็ได้มีการตอบโต้กันว่านี่คือการสำรวจทางวิชาการที่สำรวจมาอย่างถูกต้องประชาชนจำนวนนั้นเป็นกลุ่มตัวอย่างที่แม้ว่าไม่ใหญ่นักแต่ก็เป็น Sample Size ที่สะท้อนความคิดเห็นของสังคมโดยรวม เรียกว่า Represent Issue ไม่ใช่ Represent Population เป็นเทคนิคทางวิชาการว่าด้วยเรื่อง Political Poll หลังจากนั้นสื่อก็เข้ามาจับเรื่องนี้เป็นประเด็นสุดท้ายก็ต้องปลดรัฐมนตรี 2 คนนี้ออก อาจารย์ยักษ์ทึ่งในความรอบรู้และลุ่มลึกของอาจารย์แสวงมาก คิดไม่ถึงว่าการสำรวจถามความเห็นคนเพียงพันกว่าคนและเอาความเห็นนั้นทำเป็นบทความลงสื่อ จี้ประเด็นไปอย่างแหลมคมจะมีปฏิกริยาตอบโต้ของผู้นำประเทศถึงขั้นต้องปลดรัฐมนตรีออก นี่เป็นความมหัศจรรย์ของความแหลมคมและน่าทึ่งในทางวิชาการของอาจารย์แสวงที่มีคนกล่าวถึงมากมายในหลายๆ วิชา โดยเฉพาะเรื่องยุทธศาสตร์ในทางการเมือง ในการพัฒนาชนบท ในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ รุ่นพี่ๆ ที่เรียนนิด้าสมัยนั้นบอกต่อๆ กันมาเลยว่าถ้าอาจารย์สอนวิชาไหนให้เลือกเรียนวิชานั้นเลยเพราะแกจะแหลมคมมาก ซึ่งก็เป็นความจริงทฤษฎีต่างๆ ที่อาจารย์แสวงหยิบยกขึ้นมาสอนนักศึกษาในยุคนั้นล้วนแต่เป็นทฤษฎีที่มีพลังอำนาจในการทำนายเหตุการณ์ข้างหน้าได้ยาวนานแม้ประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ เหตุการณ์ผ่านมากว่า 20 ปีแล้วนั้นเป็นจริงเกือบทุกเรื่อง แม้แต่ผู้ที่มีบทบาททางการเมืองในทุกวันนี้อาจารย์แสวงก็ได้เอ่ยชื่อไว้แล้วว่าเป็นผู้หญิง 3 คน ส่วนจะเป็นใครบ้างนั้น อาจารย์ยักษ์ก็ขอเล่าต่อในตอนหน้าเป็นการร่วมกันรำลึกถึงบูรพาจารย์ที่จากพวกเราไป 10 ปีแล้ว +