ปีนี้อาจกล่าวได้ว่า อาจารย์ยักษ์ได้รับรู้ รับทราบเรื่องราวดีๆ ของกลุ่มคนที่หลากหลายที่พร้อมจะเข้ามาช่วยกันปักหมุดแห่งความพอเพียงลงบนแผ่นดินนี้ ที่สำคัญคือ ภาคการศึกษาซึ่งเป็นภาคที่อาจารย์ยักษ์ย้ำที่สุดว่าต้องเปลี่ยนวิธีคิด จะมุ่งผลิตบัณฑิตไปป้อนตลาดแรงงานเพียงประการเดียว ไม่ว่าจะตั้งมากี่มหาวิทยาลัย กี่สถานศึกษาก็มุ่งหน้าไปทางเดียวกันหมดนั้นไม่ถูก รังแต่จะทำให้เกิดปัญหา คนล้นงานในบางพื้นที่ ขณะที่บางงาน บางพื้นที่ไม่มีคนทำงาน
อาจารย์ยักษ์จึงรู้สึกดีใจมาก ที่เมื่อสักกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ซึ่งได้จัดประชุมวิพากษ์นโยบายและแผนพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏร่วมกัน เป็นการประชุมพร้อมกันทั้ง 5 สภา ได้แก่ คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการสภาวิชาการ กรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ กรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยและกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ผลของการประชุมกรรมการทั้ง 5 คณะมีความเห็นสอดคล้องกันที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาเพื่อทำภารกิจหลัก 3 ประการตามพระราชบัญญัติฯ อันเป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้แก่ ภารกิจของการผลิตครูให้มีคุณภาพและคุณธรรม ภารกิจของการพัฒนาท้องถิ่นโดยเฉพาะท้องถิ่นที่ใกล้ตัวที่สุดของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาคือลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และภารกิจสุดท้ายคือการสืบสานงานพระราชดำริโดยเฉพาะเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็หมายความว่าได้หันหัวเรือและกำหนดทิศทางใหม่ที่สอดคล้องกับเป้าหมายแห่งการกำเนิดของมหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติและสอดคล้องกับการเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแล้ว
นอกจากเป้าหมายหลัก 3 ประการที่กล่าวมาแล้ว ทั้ง 5 สภา รวมทั้งมติของสภามหาวิทยาลัย ใน 4 ปี ก็มีนโยบายและแผนชัดเจนที่จะพัฒนาแคมปัสที่สตูลให้เป็นทั้งอุทยานวิทยาศาสตร์และศูนย์กลางอารยธรรมของมลายู เนื่องจากตามประวัติศาสตร์แล้วสตูลถือว่าเป็นเมืองที่เรียกได้ว่า “เมืองมหัศจรรย์” ก็ว่าได้ ในท่ามกลางความขัดแย้งของ 3 จังหวัดภาคใต้ สตูลเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในพื้นที่มีความขัดแย้งรุนแรงแต่ชาวสตูลกลับอยู่กันอย่างสงบสุข ร่มเย็น เอื้อเฟื้อเฟือฟายกันเป็นอย่างดี มีทั้งชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมากจนเป็นที่รับรู้กันทั่วโลก มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ท่านนายกวิษณุ เครืองาม ท่านได้เดินทางไปเสปนและได้พบเมืองๆ หนึ่งอยู่ระหว่างช่องแคบยิบรอลตาร์ เป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่กันอย่างสงบร่มเย็น ท่านก็ถามว่าที่นี่อยู่กันอย่างไร คนสเปนก็ตอบว่าก็อยู่กันอย่างชาวสตูลนั่นแหละ ก็แปลว่าชาวสตูลเป็นที่รู้จักกันไปทั่วแม้แต่ชาวต่างประเทศในเรื่องของวิถีชีวิตที่สงบร่มเย็น
นอกจากสตูลจะเป็นเมืองอารยธรรมแล้ว ยังเป็นเมืองที่มีทำเลเหมาะสมที่จะเป็นศูนย์กลางของแหลมมลายู ในทางเศรษฐกิจก็ยังมีภูมิปัญญา โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในการที่จะดูแล แผ่นดิน ผืนน้ำ และผืนป่ารวมทั้งอาชีพที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นการที่ทั้งท่านนายกและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 สภาได้ช่วยกันคิด ช่วยกันวางแนวทางที่จะพัฒนาแคมปัสใหม่ให้เป็นทั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและศูนย์กลางแห่งอารยธรรมของมลายูในภูมิภาคนี้จึงสอดรับกับอนาคตซึ่งเมื่ออาเซียนเปิดเสรีแล้วพื้นที่นี้แน่นอนว่าจะต้องเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
ฉะนั้นการที่ทั้ง 5 สภาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้กำหนดทิศทางนโยบายในการที่จะอาศัยเงื่อนไขของภารกิจของมหาวิทยาลัยมากำหนดทิศทางอนาคตที่ชัดเจนให้กับมหาวิทยาลัยถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีเยี่ยมในสายตาอาจารย์ยักษ์ แต่ว่าเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะลงมือปฏิบัติ แต่ก็ถือว่าเดินมาถูกทางแล้วเพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้นถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสำคัญที่จะสืบสานงานของพระราชาพระองค์นี้ ซึ่งท่านได้พระราชทานทั้งตราส่วนพระองค์ ทั้งนาม “ราชภัฎ” ที่หมายถึงคนของพระราชามาให้ ก็ต้องมีหน้าที่จะต้องหยิบยกเอาประวัติศาสตร์ที่รุ่งเรืองกลับมาฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จะต้องสร้างครูที่มีคุณสมบัติของความเป็นครูสมบูรณ์ ต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่มีภารกิจในการที่จะร่วมมือกับทุกภาคีเพื่อจะพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง และสืบสานงานพระราชดำริ โดยเฉพาะปรัชญาหลักที่โลกยอมรับแล้ว คือเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ให้เป็นต้นแบบให้จงได้ ท้ายที่สุดแล้วก็จำเป็นต้องมุ่งหน้าสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น สร้างอัตลักษณ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยให้คานกับการพัฒนาที่มุ่งไปในทิศทางเดียวเพื่อให้ประเทศชาติสมดุลให้จงได้ นี้จึงจะเป็นความสำเร็จในฐานะคนของพระราชาอย่างแท้จริง +
แหล่งที่มา:
พอแล้วรวย วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2555