สองวันที่ผ่านมา อาจารย์ยักษ์ได้พบกับสิ่งที่เรียกว่าเป็น สัญญาณของความเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษาที่น่าสนใจ เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2 แห่ง จัดกระบวนการสรรหา อธิการบดีคนใหม่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทำให้อาจารย์ยักษ์ได้เห็นทิศทางของการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน จากคนที่ได้ชื่อว่า “ทหารของพระราชา” ซึ่งมาจากชื่อพระราชทานว่า “ราชภัฏ” คำคำนี้มีรากศัพท์มาจากคำ 2 คำ คือ “ราช” หมายถึง พระราชา และ “ภัฏ” หมายถึง ทหารหรือนักรบสองคำนี้จึงมีความหมายยิ่งใหญ่คือ ทหารของพระราชา ซึ่งเมื่อพระราชทานให้กับสถานศึกษาก็ไม่ได้หมายความว่าให้คนของพระราชาไปรบราข้าศึกที่ไหน แต่ให้มีหน้าที่รบเพื่อวางรากฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์แห่งพระราชาลงไปในใจของลูกหลานคนไทยทุกคน
พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ประกาศเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ให้เหตุผลไว้ชัดเจนในหมายเหตุก่อนลงชื่อผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ว่า “.... ให้สถาบันราชภัฏเป็นสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาและเป็นนิติบุคคล โดยมีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อทำหน้าที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์และภาระหน้าที่ในการส่งเสริมการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาสากล เพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ สร้างบัณฑิตที่มีความรู้คู่ความดี สร้างสำนึกในคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติ เสริมสร้างความเข้มแข็งของวิชาชีพครู ประสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชนและองค์กรอื่นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ศึกษาแสวงหาแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีพื้นบ้านและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น รวมทั้งศึกษาส่งเสริม สืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นและสังคม สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542”
บทย้ำเตือนในหมายเหตุของพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ สะท้อนชัดเจนถึงเป้าหมายในการยกระดับสถาบันการศึกษา สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีภารกิจและหน้าที่ชัดเจน คือ “เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ต้องผสานภูมิปัญญาทั้ง 3 ประการเข้าด้วยกัน คือภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาสากล มหาวิทยาลัยราชภัฎจึงมีภารกิจที่แตกต่างในด้านการฟื้นฟูองค์ความรู้ของคนท้องถิ่น ภูมิปัญญาของประเทศชาติ เข้าร่วมกับความรู้จากชาติตะวันตก ความรู้สากลที่คนไทยเรารับเอามามากเกินไปแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏนี่แหละ ที่จะเป็นแรงต้านทานการบดขยี้ของคลื่นจากตะวันตก ด้วยการยึดรากของเราเอาไว้ให้มั่น และดำเนินการส่งเสริมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่หลายปีมานี้ที่อาจารย์ยักษ์เพียรเข้าไปร่วมทำหน้าที่ในสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง ก็ยังไม่เห็นการตระหนักและเข้าใจสถานภาพและบทบาทของตัวเองเท่าใดนัก เห็นแต่การแห่ตามทิศทางของมหาวิทยาลัยชั้นนำ อย่างจุฬา ธรรมศาสตร์ อยากจะได้มาตรฐานระดับนานาชาติ อยากจะเดินตามเขาไปให้ทัน ให้ใกล้ที่สุด ในทิศทางของเขา อาจารย์ยักษ์อยากถามว่า ถ้าทุกมหาวิทยาลัยแห่ตามกันไปหมดแล้วอะไรคือเอกลักษณ์ อะไรคืออัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่มีจุดแข็งคือ มีมหาวิทยาลัยในเครือเดียวกันการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เป็นหมุดย้ำรากเหง้าของภูมิปัญญาไทยกว่า 40 แห่ง และที่สำคัญ การเดินตามเขาไปเช่นนั้นจะมีวันเดินตามทันหรือ...
การเลือกอธิการบดีครั้งนี้ อาจารย์ยักษ์มีความปิติ ยินดี เพราะทั้งกระบวนการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย ที่ดำเนินการโดยสภามหาวิทยาลัย และทั้งนโยบายของผู้เสนอตัวเข้าเป็นอธิการบดีที่กำหนดให้ต้องสอดคล้องกับทิศทางตามภารกิจของมหาวิทยาลัย ชนิดที่ว่า อธิการบดีใหม่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง ประกาศก้องว่า “เพียงแค่เราหันหลังเดินกลับ ทั้งโลกก็จะเดินตามเรา” แสดงให้เห็นความเข้าใจในจุดยืนของมหาวิทยาลัย ของประเทศไทยและของโลกในยุคนี้...สิ่งนี้สำคัญและจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้อย่างไร อาจารย์ยักษ์ขอเล่าต่อสัปดาห์หน้า +
แหล่งที่มา:
พอแล้วรวย คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 1 ก.ย..2555