9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
“ทฤษฎีโดมิโน” ในศตวรรษที่ 21 (ตอนที่ 3)
ย้อนหลังกลับไปในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น การรวมตัวกันของประเทศยักษ์ใหญ่สองประเทศหลังสงคราม ก่อให้เกิดองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญ และมีบทบาทต่อโลกหลังสงครามโลก คือ การรวมตัวกันตั้ง ธนาคารโลก ที่รู้จักกันในนาม World Bank หรือธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ (International Bank for Reconstruction and Development; IBRD) ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นโดยประเทศมหาอำนาจในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป
อาจารย์ยักษ์ เล่าว่าการก่อตั้งธนาคารโลกมีผลมาจากสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะว่าเป้าหมายสำคัญ คือการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากการทำสงครามกันอย่างรุนแรงไปทั่วโลก หากไม่มีการกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ก็มองไม่เห็นทางใดใดเลยว่า ประเทศต่างๆ หลังสงครามโลก ทั้งฝ่ายผู้แพ้และผู้ชนะที่สูญเสียกันมากมาย ทั้งชีวิตและทรัพย์สินจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้อย่างไร การก่อตั้งธนาคารโลกจึงตั้งขึ้นเพื่อการปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศต่างๆ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา
การวางหมากของกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ในครั้งนั้น หลายประเทศไหวตัวไม่ทันก็พากันไปขอรับความช่วยเหลือ แต่เยอรมันแม้จะพ่ายแพ้ยับเยินก็ไม่ยอมกู้ธนาคารโลก เพราะไม่ต้องการให้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ชนะ และเป็นประเทศมหาอำนาจพี่เบิ้มของโลกกำหนดอนาคตของประเทศไปเสียทุกอย่าง เยอรมันพยายามจะดิ้นรนไม่ยอมให้ใครมากำหนดอนาคตด้วยหนทางที่น่าสนใจ คือ การ “พึ่งตนเอง” เยอรมันพยายามประหยัดและออม เริ่มต้นใหม่ด้วยการผลิตของใช้เอง กอบกู้เศรษฐกิจที่ล่มสลายอย่างย่อยยับขึ้นมาด้วยตัวเอง ส่วนกลุ่มประเทศยุโรปนั้นเห็นความก้าวหน้าของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่กำลังแผ่ขยายอำนาจออกไปทั่วโลก ทั้งการเข้าครอบงำทางการเมือง การแทรกแซงทางการทหาร การขยายความร่วมมือการค้า การเข้าไปมีบทบาททั้งโดยทางสว่างและทางใต้ดินก็พยายามที่จะหาแนวทางการคานอำนาจด้วยการรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพยุโรปให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น แต่เมื่อเดินทางมาจนถึงปัจจุบันก็เห็นได้ชัดเจนว่า ความใหญ่ในเชิงปริมาณหรือจำนวนประชากรไม่ได้หมายความว่าจะมั่นคงเสมอไป เพราะกลุ่มสหภาพยุโรปในปัจจุบันก็กำลังประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศกรีซ อีตาลีและเสปน จนดูเหมือนว่าถ้าประเทศที่ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่ยอมที่จะปรับปรุงตัวเอง ก็มีหนทางเดียวคือโดนเพื่อนทิ้ง หรือถูกตัดออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปเพื่อคงความมั่นคงของตัวเองเอาไว้นั่นเอง
แนวทางเดียวกันนี้กำลังถูกนำมาใช้กับกลุ่มประชาคมอาเซียนเช่นกัน การรวมตัวกันของประเทศกลุ่มอาเซียน บวกกับอีกหลายประเทศก็เกิดจากความคิดเดียวกันคือ รวมกันเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง หวังว่าประชากรจำนวน 600 ล้านคนจะทำให้อาเซียนแข็งแกร่ง จึงหันมาร่วมมือกันทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งก็เช่นเดียวกัน รวมกันมากเข้าไว้ก็ไม่ได้หมายความว่าอาเซียนจะแกร่งเสมอไป เพราะเมื่อเจาะลึกลงไปในแต่ละประเทศก็เห็นแต่การแตกกันยิบย่อย ทั้งที่การจะรวมตัวกันได้นั้นหัวใจสำคัญคือ ต้องมีคุณธรรม ต้องมีการประสานกันอย่างดีเพื่อช่วยเหลือเจือจานกัน ไม่ได้มารวมกันเพื่อที่จะเอาจากกัน เพื่อที่จะเอาเปรียบกัน มองแต่ละประเทศเป็นตลาดเพื่อตักตวงเอาทั้งทรัพยากรและโอกาสทางการค้า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมองเห็นสิ่งนี้ ดังนั้น หลักคิดที่ในหลวงพระราชทานให้กับโลก คือ “การให้”
ตราบใดที่มนุษย์ยังคงมีการให้กันและกัน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเจือจานกัน ก็จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรค ขวากหนามไปได้
คำสำคัญที่พระองค์ท่านพระราชทานเป็นภาษาอังกฤษนั้นมีนัยยะสำคัญ คือ Our Loss is Our Gain ในคำๆ นี้ถือเป็น กุญแจสำคัญที่จะนำสังคมออกจากวิกฤตได้ เมื่อคนมุ่งมั่นที่จะให้กันอย่างแท้จริง
การพาตัวเองออกจากปัญหาโดยการมองกลับเข้าไปข้างใน และคิดในเชิงของการให้ มากกว่าการเอานั้น ตรงข้ามกับการแก้ปัญหาบนฐานคิดของทุนนิยม เช่น การแก้ปัญหาความล่มสลายทางเศรษฐกิจด้วยการตั้งหน่วยงานขึ้นมาให้ความช่วยเหลือ สุดท้ายแล้วมุ่งเข้าไปหาผลประโยชน์จากการมีอำนาจเหนือกว่า แต่การให้ตามแนวทางของพระองค์ท่านนั้นไม่มุ่งหวังที่จะเอา เป็นการให้จากข้างในอย่างแท้จริง
ประสบการณ์ตรงของเมืองไทยก็คงจะได้เห็นแล้วว่า การให้แบบหวังผลนั้นส่งผลเช่นใด จากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ประเทศเราเลือกที่จะกู้เงินตามโครงการ IMF เข้ามาอัดฉีด หน่วยงานเจ้าของเงินก็เข้ามาแนะนำแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ สุดท้ายก็แก้ปัญหาไม่ได้ ทุกวันนี้ก็เพียงแต่เปลี่ยนเจ้าหนี้ไปเท่านั้น ที่สำคัญแม้แต่ประเทศต้นความคิดเรื่องการอัดฉีดเงินลงไปเพื่อแก้ปัญหาอย่างสหภาพยุโรปเองทุกวันนี้ยังหยุดที่จะอัดฉีดเงินลงไป แต่หันมาใช้แนวทาง เรียบง่ายประหยัด เช่นเดียวกับที่เยอรมันเคยทำ มีแต่ประเทศบางประเทศเท่านั้นแหละ ที่ไม่เคยหลาบจำ ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่าไม่เคยมีประวัติศาสตร์ของชาติมาก่อนแม้จะเกิดขึ้นมาเพียงไม่กี่สิบปีก็ตาม +
แหล่งที่มา:
พอแล้วรวย คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 4 ส.ค..2555