9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
“กองกำลังสร้างอาหารทางทะเล” ปฏิบัติการแรกที่อ่าวสัตหีบ
อาจารย์ยักษ์เกริ่นเรื่อง “กองกำลังสร้างอาหารทางทะเล” ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะเห็นความเอาจริงเอาจังของกองทัพเรือที่ทุ่มเทและให้ความสำคัญกับการปกป้องรักษาทะเล ซึ่งนอกจากในฐานะอาณาเขตของประเทศแล้วยังรวมถึงพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารของคนไทยอีกด้วย
หลังจากอาจารย์ยักษ์ไปบรรยายให้กองทัพเรือฟังเพียงไม่กี่วัน ทางกองทัพก็ได้ส่งแกนนำระดับคีย์แมนจำนวน 10 คน มาเข้าอบรมร่วมกับเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ เจ้าหน้าที่ของสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มคนที่สนใจศึกษาเรียนรู้เรื่องการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถึงแม้จะเป็นการบรรยายในการประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรแต่ในเนื้อหาหลักการของปรัชญาแล้วก็เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในท่ามกลางสถานการณ์โลก ตามหลักการอบรมแบบศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง คือ เช้าบรรยาย บ่ายพาทำ ค่ำสรุป ก็คงจะได้หลักคิดไปในทิศทางเดียวกันเป็นเบ้าหลอมจากการอยู่ร่วมกัน 5 วัน 4 คืนนี้ ศิษย์มาบเอื้องรุ่นนี้จะเป็นรุ่นที่ 343 มีจำนวนทั้งสิ้น 118 คน ดูแววแล้วก็เห็นว่าน่าจะเป็นรุ่นสำคัญที่จะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง
“การเตรียมคน” เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการสร้างความเปลี่ยนแปลง นอกจาก 10 คนนี้แล้ว กองทัพเรือก็จะส่งกำลังพลมาเข้าอบรมอีก 50 นายในรุ่นต่อๆ ไป เพื่อสร้าง “คน” ในการพัฒนา “ค่ายกสิกรรมธรรมชาติ” ให้สมบูรณ์พร้อม เห็นแว่วๆ ว่าจะทำให้ดีกว่ามาบเอื้องให้ได้ อาจารย์ยักษ์ก็รอดู ที่สำคัญเขาจะขยายผลออกไปทั้งบนบกและในทะเล เริ่มจากการจัดขบวนจักรยานทำกิจกรรมเรื่องการจัดการขยะและการให้ความรู้กับคนทั่วไป ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของทุกเรื่องราว คนในตลาดทิ้งขยะ ขยะก็พากันไหลลงไปในทะเล ดังนั้นทะเลจะสะอาดได้คนในตำบล ในตลาดก็ต้องช่วยกัน อ่าวไทยขยะล้นทะเลนอกก็ขยะเยอะไม่ต่างกัน ดังนั้นขบวนจักรยานกู้วิกฤตคืนชีวิตให้แผ่นดินก็จะเริ่มรณรงค์เป็นระยะทางสั้นๆ อีกหลายๆ รอบโหมโรงก่อนงานจริงที่เตรียมการไว้เดือนกันยายน
กิจกรรมที่จะขอเชิญชวนกันไปร่วมขบวนจักรยานที่สัตหีบจะเกิดราวต้นเดือนหน้า โดยจะรณรงค์ทางบกเก็บขยะมาแปรเป็นทองทำทุนเพื่อการพัฒนาการดูแล จัดการขยะอย่างยั่งยืน หลังจากปั่นจักรยานแล้วก็จะพากันลงทะเล ไปดูแลทะเลด้วยการเก็บขยะริมทะเล เริ่มการฟื้นฟูทะเลด้วยการทำบ้านปลา ทำกล่ำ ซั้งในอ่าวสัตหีบ ตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้อ่าวสัตหีบกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ให้ได้ มีน้ำสะอาด อากาศดี มีแพลงตอน มีปลา ปู กลับมา ทีมงานก็จะได้นัดประชุมกันในวันเสาร์วันเดียวกับที่บทความนี้ตีพิมพ์โดยจะประชุมร่วมกันทั้งขบวนจักรยานกู้วิกฤตคืนชีวิตให้แผ่นดิน ทีมงานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ทีมสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และแม่งานสำคัญ คือ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe) โดยคุณไก่ สัณหจุฑา จิราธิวัฒน์และมีอีกหลายคนมาเตรียมการเชื่อมต่อกันเข้ามา อาทิ อาจารย์ไตรภพ โคตรวงษา จากสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ก็ได้ไปเชื่อมต่อกับชาวบ้านริมทะเลอีกหลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานฟื้นฟูป่าชายเลนและทะเลอ่าวไทยรูปตัวก. เมื่อเชื่อมร้อยเครือข่ายได้พลังที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งใหญ่และเข้มแข็ง
หลังจากนั้น ในเดือนกันยายน ก็จะเป็นงานจริง คือการปั่นจักรยานเลาะเลียบอ่าวไทยลงไปถึงภาคใต้ ระยะเวลากว่า 10 วัน จากสัตหีบไปถึงอ่าวทุ่งวัวแล่น จ.ชุมพร เป็นงานใหญ่อีกครั้งของกลุ่มคนที่รัก ตั้งใจ และหวังดีที่จะคืนชีวิตให้กับท้องทะเลไทย
นอกจากนั้นก็มีอีกข่าวที่น่าสนใจ กองทัพเรือก็กำลังจะก้าวสู่บันไดขั้นที่ 8 ตามทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง หลังจากพอมี พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษาแปรรูปไว้จนฐานรากมั่นคงแล้วก็สามารถค้าขายได้ ร้านค้าของกองทัพเรือก็จะมีผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านและสมาชิก เป็นของที่ระลึกต่างๆ จะอยู่ใกล้ๆ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลที่มีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 คน ก็จะได้พัฒนาความรู้และมีการสื่อสารต่างๆ ไปถึงกลุ่มคนที่สนใจความเปลี่ยนแปลงของท้องทะเล ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ว่าจะอนุรักษ์และสร้างความมั่นคงทางอาหารในทะเลได้อย่างไร ร้านค้าที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ก็ไม่ใช่ระดับเล็กๆ มีพื้นที่กว่า 80 ตารางเมตร ได้ทีมงานออกแบบของมูลนิธิรักษ์ดิน รักษ์น้ำ มาออกแบบให้สวยงามใช้เป็นสถานที่นั่งพักผ่อนขณะมาเรียนรู้เรื่องเต่าทะเล ดูๆ แล้วเมื่อกองทัพเรือเอาจริงเอาจัง อาจารย์ยักษ์ก็วางใจ
วันที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้อาจารย์ยักษ์เดินทางมาบรรยายที่ชุมพรคาบาน่า ให้กับทีมข้าราชการของกทม. ฟัง โดยทางกทม.ส่งข้าราชการ 1,400 คน มาเรียนรู้ในหัวข้อ “บริหารทรัพย์ บริหารสุข หลังเกษียณอายุข้าราชการ” แบ่งกันมาเรียนเป็น 9 กลุ่ม อาจารย์ยักษ์ก็ต้องเดินทางมาบรรยายให้กับข้าราชการทั้งหมด 9 ครั้ง โดยใช้บริการของเครื่องบินเล็กก็เลยได้ถือโอกาสเอาหน้าแนบกระจกมองความงามของอ่าวไทย และแอบภูมิใจลึกๆ ว่าประเทศไทยนี้ช่างเป็นประเทศที่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ทั้งภูเขา น้ำตก ที่ลุ่ม ที่ดอนและที่สำคัญมีอ่าวไทยเป็นทะเลน้ำตื้นแหล่งอนุบาลอาหารที่สำคัญของมนุษย์โลก...ติดอยู่ที่ว่าคนไทยให้ความสำคัญกับอ่าวไทยพอหรือยัง อาจารย์ยักษ์ยังสงสัย +
แหล่งที่มา:
พอแล้วรวย คมชัดลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 16 มิ.ย..2555