9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
กลืนชาติ กลืนวัฒนธรรม..ยุทธการล่าทรัพยากรแห่งศตวรรษ (1)
ช่วงเดือนเมษาหรือวันขึ้นปีใหม่ไทยนั้น เป็นช่วงเวลาสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวเกษตรกรรมในเขตร้อนแบบบ้านเรา เพราะบ้านเรามีคลองมากมีน้ำมาก เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำมากถึง 25 ลุ่มน้ำ มีอ่าวเป็นของตนเอง ชีวิตจึงสัมพันธ์กับน้ำ กับการขึ้น-ลงของน้ำและฤดูกาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปฏิทินของบ้านเราจึงยึดตามดวงจันทร์ หรือที่เรียกว่าปฏิทินทาง “จันทรคติ” ซึ่งสอดคล้องกับอาชีพจับปลา เลี้ยงปลา ทำนาข้าว
คนไทยในอดีตใช้ชีวิตใกล้ชิดกับป่า กับน้ำ กับข้าว ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวนั้นเป็นของจริง เมื่อถึงเวลากำหนดปฏิทินชีวิต จึงต้องยึดเอาวิถีของชีวิตเป็นหลัก การกำหนดปีใหม่-ปีเก่านั้น ก็ยึดเอาฤดูการผลิตนั่นเอง ปีใหม่ของไทยจึงเริ่มจากเดือนที่อากาศแล้งที่สุด เป็นการเตือนให้ผู้คนรู้ว่าถึงเวลาต้องเร่งเตรียมตัวเพื่อการเพาะปลูกได้แล้ว เช่น เตรียมเครื่องไม้ เครื่องมือ เตรียมไถ จอบ เสียม เตรียมดิน เตรียมเมล็ดพันธุ์ ในเดือน 5 เมื่อฝนเดือน 6 ตกลงมา คนไทยก็จะเริมไถนาทำกิน กบ เขียด ก็ออกมาร้องกันระงม มีปู มีปลา มีอาหารเต็มผืนนา
การเตรียมดินนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี นาดีๆ จะเกิดมีได้ก็จะต้องคืนชีวิตให้แผ่นดิน ให้ในผืนดินอุดมด้วยสิ่งมีชีวิต ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น เมื่อฝนตกลงมาก็จัดการไถดะ ไถแปร คราดแล้วหมักดินทิ้งไว้สองเดือน ดินที่ได้จากการหมักบ่มซากพืช ซากสัตว์ก็จะอุดมสมบูรณ์ หากมีหญ้าขึ้นมาก็จะถูกไถพลิกกลับเอารากหงายขึ้นตากแดดให้หญ้าตาย เสร็จแล้วทุบลงไปเป็นปุ๋ยชั้นดีของข้าว นาข้าวในสมัยก่อนจึงไม่มีหญ้าที่จะมาเบียดแข่งกับต้นข้าว ส่วนปุ๋ยนั้นนอกจากวัชพืชแล้วก็ได้จากขี้วัว ขี้ควาย ซึ่งใช้ในการทำนา นี่คือการทำดินให้อุดมสมบูรณ์ด้วยวิถีกสิกรรมธรรมชาติ เมื่อเพาะปลูกโดยการเลือกข้าวพันธุ์ดี และภูมิปัญญาในการรู้จักผืนนาก็จะได้ผลผลิตที่ดีตามมา ชาวนาในสมัยก่อนรู้ว่าบางพื้นที่เป็นนาดอนจะต้องหว่านกล้าบางๆ ลงไปทั้งผืนนา บางพื้นที่เป็นนาลุ่ม ต้องใช้วิธีการตกกล้าเป็นแปลงเล็กๆ แล้วจึงถอนออกไปดำ ที่ลุ่มน้ำนั้นน้ำท่วมเร็วต้องอาศัยกล้าที่ต้นสูงกว่า เมื่อปักดำลงไปน้ำมาถึงกล้าก็จะพุ่งหนีน้ำได้พอดี เพราะดินดี รากแข็งแรง มีอาหารที่เป็นอินทรียวัตถุอุดมสมบูรณ์ เรื่องน้ำท่วมก็ไม่เป็นปัญหา คนก็ลอยเรือ หาปู หาปลา หาผักน้ำมากินเป็นอาหาร
ช่วงปีใหม่นี้จึงเป็นช่วงที่ชาวนาจะมีการคำนวณวันที่เหมาะสม เรียกว่า “วันลอย” กับ “วันจม” ชาวนานิยมตกกล้า ดำนา และเพาะปลูกใน “วันลอย” ส่วน “วันจม” นั้นไม่เป็นที่นิยมเพราะว่าวันจมนั้นความยาวของวันน้อยกว่า หมายถึงในแต่ละวันจะมีแสงที่ช่วยในการเติบโตของกล้าน้อยกว่า ปริมาณความเข้มข้นของแสงจึงไม่เหมาะที่จะทำให้ต้นไม้เจริญออกดอกออกผล ในขณะที่วันลอยนั้น ความยาวของแสงมีมากกว่า จึงเหมาะสำหรับการเพาะปลูก
พ่อของอาจารย์ยักษ์นั้นเป็นผู้รู้ เป็นทั้งครู เป็นทั้งหมอ เป็นทั้งช่าง ส่วนแม่นั้นเป็นนักเก็บ นักแปรรูป เป็นคลังของบ้าน หมอในความหมายสมัยก่อนนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นหมอรักษาคน รักษาสัตว์ รักษาพืชเท่านั้น แต่ต้องเป็นหมอทำนายด้วย ต้องดูดาวเป็น ดูดวงจันทร์เป็น ดูวันจม วันลอยเป็น ต้องรู้จักข้างขึ้น ข้างแรม ดูลักษณะของพระอาทิตย์ พระจันทร์ เป็นอย่างไร เพื่อกำหนดวันปลูกพืชให้กับคนในชุมชน พ่ออาจารย์ยักษ์จึงเป็นคนที่ชาวบ้านเคารพนับถือ เขาจะมาขอให้ดูวันเพาะปลูกพืชให้ เพราะในเดือนหนึ่งๆ ก็จะมีวันลอยอยู่มากพอสมควร ดังนั้นชาวนาต้องเป็นนักสังเกต นักวางแผน ต้องเตรียมการล่วงหน้า หลังเฉลิมฉลองปีใหม่เรียบร้อยแล้ว ก็ต้องตระเตรียมว่าบ้านไหนจะเพาะปลูกก่อน-หลัง ใครจะเริ่มเมื่อไหร่ เพราะถ้าไปทำงานวันเดียวกัน ปลูกวันเดียวกัน ถอนกล้า ดำนาวันเดียวกันก็ไม่สามารถไปลงแขก เอาแรงใครได้ การทำนาของชุมชนจึงมีการกำหนดวัน ไล่กันไปเรื่อยๆ แต่ละบ้านก็จะนัดหมายกันไปช่วยกันทำกิจกรรม เป็นที่รู้กัน
อาจารย์ยักษ์คิดเห็นว่า สังคมอย่างนี้ต่างหาก ที่เป็นสังคมที่เจริญก้าวหน้า สังคมที่พึ่งตนเองได้ ไม่ต้องไปพึ่งพาเครื่องจักร ไม่ต้องไปพึ่งพาต่างประเทศเป็นสังคมแห่งไมตรีจิตร น้ำจิต น้ำใจ เป็นสังคมอารยะ แต่ดูเหมือนว่าอาจารย์ยักษ์จะเห็นแตกต่างกับคนหมู่มาก จึงโดนว่าบ่อยๆ ว่า “เพี้ยน” คนหมู่มากของยุคนี้เขาเห็นว่าการทำเกษตรขนาดใหญ่ใช้เครื่องจักรกล ใช้น้ำมัน ทำนาทีได้เป็นร้อยๆ ไร่ ใช้วิธีสั่งการ ได้ข้าวแล้วเอารถมาเกี่ยว มาสี เสร็จแล้วบรรจุถุงแพ็คส่งนอกนั้นจึงเป็นความเจริญ ต้องพึ่งน้ำมัน ต้องพึ่งฝรั่งจึงจะก้าวหน้า...วิถีแห่งไมตรีจิต น้ำจิตน้ำใจ นั้นล้าสมัย เชยแล้ว ต้องเอารัด เอาเปรียบให้ได้ประโยชน์สูงสุดจึงจะเป็นคนฉลาด ...ท่านผู้อ่านว่าจริงไหม ... สัปดาห์หน้าอาจารย์ยักษ์จะมาชวนกันคิดต่อ +
แหล่งที่มา:
พอแล้วรวย คม ชัด ลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 14 เมษายน 2555