9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ประเทศไทย...สัปดาห์ละ 3 ฤดู
ขบวนจักรยานปั่นกู้วิกฤต คืนชีวิตให้แผ่นดิน ปั่นมาถึงศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรีแล้ว ในวันที่ 15 มีนาคม เป็นการปั่นฝ่าวิกฤตจริงๆ เพราะสองวันแรกที่น่าน เจอสภาพอากาศหนาว เจอหมอกควันไฟป่า ลงมาอีกเจอร้อนจัดอากาศร้อนถึง 40 องศา ผ่านมาอีกวันเจอฝนตกหนักจนน้ำท่วม เรียกได้ว่าสัปดาห์เดียวนักปั่นต้องเจอถึง 3 ฤดูเลยทีเดียว
ภูเขาถูกแผ้วถางเพื่อทำไร่จนหัวโล้น ป่าไม้หายหมด ต้นเหตุน้ำท่วม น้ำแล้ง
อากาศแปรปรวนแบบนี้ ทำให้อาจารย์ยักษ์นึกถึงสิ่งที่เตือนกันมา เรื่อง ความแปรปรวนของสภาพอากาศ หรือ Climate Change นั้น เหตุที่ก่อให้เกิดนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นเพราะว่าขี่จักรยานจากเหนือลงมาใต้แล้วอากาศเปลี่ยนแปลง แต่แม้ปั่นจักรยานอยู่ในภาคเหนือเอง อากาศก็เปลี่ยนแล้ว และความเขลาของมนุษย์ก็ปรากฏให้เห็นเต็มสองตา ภูเขาหัวโล้น เตียนโล่งไปหมด เพราะคนพยายามที่จะไปถางป่า เอาเครื่องจักรไปปรับสภาพพื้นดิน ถมห้วยหนองให้เป็นพื้นที่เตียน เพื่อทำไร่ ทำนา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้เงินทองกลับมาตามที่ตั้งใจ แต่กลายเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แปรปรวนกลับมาแทน
แผ่นดินที่ร้อนและแล้ง สองข้างทาง ก่อนถึงป่าต้นน้ำชาติตระการ
ต้นไม้นั้นเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มา เป็นสมดุลของโลกใบนี้ ที่ภาคเหนืออากาศหนาวเย็นนั้นก็เพราะมีภูเขาจำนวนมาก และบนภูเขามีต้นไม้ ทำให้มีความชื้นสัมพัทธ์สูง เพราะต้นไม้ทำหน้าที่เก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์และใช้ใบไม้ ซึ่งเป็นต้นแบบโซลาร์เซลล์แปรพลังงานนั้นเก็บไว้เป็นคาร์บอนในเนื้อไม้ แล้วคายน้ำออกมาให้เกิดความชุ่มชื้น รากที่เก็บกักน้ำใต้ดินไว้ก็จะทำให้ดินมีความชื้นสูง ไฟป่าก็จะเกิดได้ยาก อากาศหนาวของภาคเหนือจะเป็นหนาวที่ไม่หนาวแห้งแล้งแบบประเทศเขตอบอุ่น แต่เป็นหนาวแบบป่าดิบเขาที่มีน้ำไหลรินตลอดทั้งปี แต่ไปปีนี้ น้ำบนเขาแห้งไม่มีเหลือเลยเพราะไม่มีต้นไม้ แล้วพอฝนตกน้ำก็จะหลากลงมาท่วมบ้านเรือน ไร่นา ดั่งที่เราเห็นกับตาช่วงเดินทางเข้าสู่จังหวัดพิจิตร ขบวนจักรยานพักรับประทานอาหารกลางวันกันอยู่ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในวันที่ฝนตกลงมาอย่างหนักแป๊บเดียว น้ำไหลหลากเข้ามาจนท่วมโรงเรียน ทั้งที่ฝนก็เพิ่งเริ่มตกวันนั้น ขบวนจักรยานปั่นกู้วิกฤต ได้เห็นสภาพวิกฤตจริงๆ แบบแสนสาหัส คือเห็นภัยหนาว ภัยแล้ง และน้ำท่วม แถมด้วยภัยพิบัติหมอกควันอันเกิดจากน้ำมือชนิดด้วยตาตัวเอง ชนิดที่เรียกได้ว่าแม้นักปั่นที่ร่างกายแข็งแรง และเตรียมหน้ากากมาป้องกันแล้ว ยังออกอาการเจ็บป่วย
เช้าวันที่ 10 มี.ค. แดดจัดแต่เช้า ออกเดินทางมาได้ไม่ถึงชั่วโมง ฝนตกซะงั้น
อาจารย์ยักษ์ก็อยากจะเตือน ย้ำว่า ที่นักปั่นมือใหม่อย่างอาจารย์ยักษ์ ยอมเหน็ดเหนื่อย แสนสาหัส ก็เพราะอยากจะบอก อยากจะเตือนให้ทุกคนเห็นว่า จากนี้ไปอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าน้ำจะท่วม หรือน้ำจะแห้ง อย่ามัวแล้งน้ำใจกันอยู่ ให้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกันคนละไม้ คนละมือได้แล้ว อย่ามัวแล้งน้ำใจอยู่ เพราะสภาพบ้านนี้ เมืองนี้ไม่ไหวแล้ว รอใครอีกไม่ได้แล้วต้องช่วยกัน แต่ขบวนจักรยานปั่นกู้วิกฤตก็ได้เห็นนิมิตหมายที่ดี เห็นน้ำใจของความพยายามคืนชีวิตให้แผ่นดินตลอดเส้นทาง เช่นที่พิจิตร นายก อบต.หัวดง จับมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ พิบูลสงคราม และหน่วยงานในพื้นที่อื่นๆ พยายามที่จะเพียรชวนชาวบ้านให้เปลี่ยนมาทำนาอินทรีย์ เพราะทนเห็นชาวบ้านด้วยกันเอง ป่วยด้วยอาการของพิษที่สะสมลงไปในเลือดต้องเข้าโรงพยาบาลรายวันไม่ไหว จึงพยายามบอก พยายามสอนมาแล้วสองปี ชาวนาจบไปทำนาอินทรีย์แล้ว 2 รุ่น ได้ราว 70-80 คน ตอนนี้ก็ได้ตั้ง ”วิชชาลัยชาวนา” ขึ้น แล้วยังมีน้ำใจเผื่อแผ่ แบ่งปันพันธุ์ข้าวจำนวน 9 ตัน ฝากขบวนจักรยานไปให้กับชาวเขาสมอคอน ที่จังหวัดลพบุรี เพราะชาวนาที่นั่น ถูกน้ำท่วมสูงถึง 6 เมตร พันธุ์ข้าวหายไปกับสายน้ำไม่มีแม้ข้าวพันธุ์ไว้ปลูก แต่พวกเขาก็มีพลังความสามัคคีเมื่อได้ ทีวีบูรพา เข้ามาช่วยเป็นตัวกลางช่วยเหลือ วันนี้พวกเขาก็พากันลุกขึ้นมาเปลี่ยนนาเคมี เป็นนาอินทรีย์เริ่มชีวิตใหม่ ด้วยการทำ “นาคุณธรรม” ที่ไม่เริ่มจากการฆ่า แต่เริ่มจากการคืนชีวิตให้กับดิน และเพื่อแก้ไขสิ่งทีเกิดขึ้น เพื่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม พวกเขาจะเป็นพื้นที่นำร่องทำ “โคก หนอง นา” โมเดล ให้ปรากฏจริง โดยจะลงมือทำเลยจะใช้แรงงานขุดกันเองเหมือนสมัยก่อน แม้อาจารย์ยักษ์จะบอกว่ากำลังปั่นจักรยานเพื่อหาทุนมาซื้อรถแบคโฮลเข้าไปช่วยขุด พวกเขาก็เลือกที่จะเริ่มต้นด้วยการช่วยเหลือตนเองก่อน เป็นที่น่าประทับใจของทุกผู้คนในขบวนจักรยานครั้งนี้
วันนี้ ขบวนจักรยานมาถึงงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินครั้งที่ 6 ที่มาบเอื้องแล้ว กำลังจัดงานด้วยการเอาดีออกอวด เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติทั่วประเทศได้มารวมตัวกัน “เอาแรง” มารวมกัน “เอาบุญ” จัดงานนี้ขึ้น ก็ขอเชิญท่านที่ได้อ่านคอลัมน์นี้เข้าร่วมงานที่ยังจัดอยู่ถึงวันที่ 18 มีนาคม มาพิสูจน์กันว่า แม้ประเทศไทยจะมีสัปดาห์ละ 3 ฤดู...ไม่ว่าน้ำจะท่วม หรือน้ำจะแห้ง ใครจะแล้งน้ำใจ แต่ขอให้พวกเราสามัคคีและมีน้ำใจเหมือนที่อาจารย์ยักษ์ได้พบมาตลอด 12 วันก็เชื่อว่า เราจะ...อยู่ด๊ายยยยย! จริงๆ นะ +
แหล่งที่มา:
พอแล้วรวย คม ชัด ลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2555