9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ
ประโยคคำสอนของ “ท่านพุทธทาสภิกขุ ” สอดคล้องและเหมาะสมอย่างยิ่งกับสถานการณ์สังคมไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในห้วงเวลานี้ ที่เกิดการขัดแย้งในหมู่กลุ่มต่างๆ มากมาย ทั้งคู่ขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองกับกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มเกษตรกรรมกับกลุ่มอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ความขัดแย้งในพวกเดียวกันเอง อาชีพเดียวกันเอง อย่างครูบาอาจารย์ นักบริหาร หรือในหมู่ข้าราชการ เมื่อต้องเลื่อนยศ ปลดย้าย แต่งตั้ง ก็เกิดความขัดแย้งกัน เหตุเพราะปฏิบัติต่อกันด้วยความไม่เป็นธรรม เลยเถิดไปจนถึงการปล้นสะดมกัน อาจารย์ยักษ์อยากให้ลองย้อนกลับไปนึกถึงคำเตือนของพระเจ้าอยู่หัวฯ และอยากเน้นย้ำ ยืนยันอีกครั้งว่า วิกฤต 4 ด้าน กำลังแผ่ซ่านไปทั่วทุกมุมโลก แม้ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ เต็มไปด้วยสิ่งที่เป็นโทษ เป็นภัยต่อมนุษย์ด้วยกันเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไทยใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างหาความสุขไม่ได้
ในยามนี้สังคมไทยต้องการ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องน้อมนำ “ศีล” และ ”ธรรม” กลับมาสู่สังคม และหากย้อนไปถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่คนหมู่ใหญ่ของชาติ เคารพนับถือเป็นศาสนาหลัก ธรรมข้อที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์นี้ ก็คือ สามัคคีธรรม หรือ สาราณียธรรม 6 เป็นธรรมะ 6 ประการ ที่นำมาซึ่งความสามัคคี ไว้ต่อสู้กับความขัดแย้ง ซึ่งเมื่อจะสอนคนอื่นก็ต้องพยายามทำตนเป็นต้นแบบ เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติก็พยายามอย่างยิ่งที่จะเริ่มปฏิบัติจากตนเอง แม้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธีจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่ถึงกับว่าทำไม่ได้ หากเรามีความพยายาม และตั้งใจจริง
สาราณียธรรม 6 ทำให้สังคมน่าอยู่ได้ เพราะผู้ปฏิบัติยึดหลัก 1) เมตตากายกรรม หมายถึง การกระทำต่อกันด้วยความเมตตา ปรารถนาดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน พร้อมใจกันทำงานประสานกัน 2) เมตตาวจีกรรม การพูด การจากัน ก็ต้องเต็มไปด้วยการช่วยเหลือจุนเจือ 3)เมตตามโนกรรม แม้แต่การคิดก็ต้องไม่เคียดแค้น ขัดแย้งในใจ ไม่ติดกับความโกรธ เรียนรู้ที่จะให้อภัยกัน อยู่ร่วมกัน ข้อนี้สำคัญเพราะหาก กายยิ้ม ปากพูดจาดีต่อกัน แต่จิตใจยังขึ้งโกรธ ความสามัคคีย่อมไม่เกิดขึ้นแน่ ข้อ 4) สาธารณโภคี แบ่งปันลาภแก่กันเป็นสาธารณะ สังคมไทยเราแสดงออกชัดเจนว่า อะไรที่เป็นเรื่องสาธารณะจะได้รับการเสียสละแบ่งปัน ยิ่งในยามวิกฤตก็จะเห็นความช่วยเหลือจากคนไทยด้วยกันหลั่งไหลกันเข้ามามากมาย ในหลายรูปแบบ ตัวอย่าง การเกิดอุทกภัยในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเสียสละ จนเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก ในอดีตก็เช่นกัน คนไทยเราหากมีการบอกบุญ สร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร เป็นสาธารณโภคี หรือสมบัติสาธารณะ คนไทยเราก็ยินดี ทำทุกวิถีทางที่จะให้กับสาธารณะยิ่งกว่าให้กับตัวเอง และคนไทยค่อนข้างที่จะถือกับเรื่องนี้ ของวัดแม้แต่ชิ้นเดียวจะเอาเข้ามาในบ้านไม่ได้ จะเป็นบาป วัดจึงเป็นสาธารณโภคี เป็นสมบัติส่วนกลางที่ทุกคนสามารถเข้าไปกิน ไปอยู่ ไปใช้ได้ และไม่ใช่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่จะได้อาศัยสมบัติสาธารณะนี้ แม้แต่หมา แมวก็ได้อาศัยอยู่กินในวัด สาราณียธรรม ประการที่ 4 นี้ จึงมีความหมายมากมายในสังคมไทย ถึงแม้ว่าทุกวันนี้อาจจะดูเบาบางลงไปบ้าง เพราะถูกกระแสของคลื่นทุนนิยม คลื่นโลกาภิวัตน์กระแทก จนผู้คนไม่เห็นคุณค่าของวัด ของส่วนรวม แม้แต่โรงเรียนนั้น ในอดีตก็อยู่ร่วมกับวัดเป็นส่วนเดียวกัน ต่อมาในยุคการเมืองสมัยใหม่ หลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราก็ไปลอกแบบมาจากตะวันตก แยกการศึกษาออกไปจากวัด เพื่อไม่ให้วัดถ่วงความเจริญ (ทางวัตถุ) ไม่ให้วัดไปคอยถ่วงความโลภ เพราะโลกยุคใหม่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ให้มนุษย์มีความละโมบ โลภมาก ดังนั้น วัดจึงเป็นตัวถ่วง ตัวขัดขวางสิ่งที่สมมติว่าเป็นความเจริญไป เหมือนกับศาสนาคริสต์บางนิกาย ที่ถูกดึงกิจกรรมการเรียนการสอนไปหมดสิ้น สิ่งที่ทำให้ “ทาน” นั้นคงอยู่ในวิถีชีวิตจึงหมดไป ไม่ได้ถูกหยิบยกมาสอนกันอย่างจริงจัง ส่วนอีก 2 ข้อสุดท้ายของสาราณียธรรม 6 คือ 5) สีลสามัญญตา และ 6) ทิฐิสามัญญตา การมีกฎระเบียบ หรือศีลร่วมกัน และการมีความเห็นที่เสมอกัน ทั้ง 6 ประการนี้เป็นธรรมะที่สำคัญ เพื่อให้สังคมเราอยู่รอดได้ ส่วนผลของการปฏิบัติตามสาราณียธรรม 6 นั้นจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร โปรดติดตามต่อฉบับหน้า +