9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
น้ำมาปลากินมด น้ำลด...คนไทยก็ลืม
หลายคนคงเคยตั้งคำถามอยู่เนืองๆ กับคำกล่าวที่ว่า “คนไทยขี้ลืม” นั้นจริงไหม อาจารย์ยักษ์เองก็ได้ใคร่ครวญถึงเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้งและถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้รับคำตอบที่แน่ชัดว่าจริงหรือเปล่าที่คนไทยขี้ลืม ก็ไม่อยากให้เหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งนี้ต้องกลายเป็นบทพิสูจน์เพื่อหาคำตอบของคำถามนี้ จึงขอเตือนดังๆ ผ่านคอลัมน์ “พอแล้วรวย” ว่าอย่าให้ความสูญเสียครั้งนี้กลายเป็นเพียงสิ่งที่ผ่านเลยไปเหมือนน้ำหลากที่กำลังระเหยไปในอากาศ
หากคนไทยไม่ได้ขี้ลืมจริงๆ แล้วล่ะก็ คงจะจำกันได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เคยเตือนถึงระเบิด 4 ลูกที่รายล้อมประเทศไทยอยู่ ขณะที่ในทะเลเรือสำเภาก็กำลังล่มลง นั่นคือภาพจาก ส.ค.ส. พระราชทาน เมื่อปี 2547 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว คำเตือนถึงระเบิด 4 ลูกนั้น เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติได้ตีความจากการประเมินสถานการณ์โลกและเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังบีบคั้นสังคมไทยในขณะนั้นและในอนาคตเป็น ภัยพิบัติ 4 ประการอันได้แก่ ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ข้าวยากหมากแพง และความขัดแย้งทางสังคม ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ จนถึงขณะนี้เราก็ได้เห็นกันแล้วว่า ภัยพิบัติทั้ง 4 ประการนั้นเกิดขึ้นครบถ้วน เห็นได้ชัดโดยเฉพาะภัยจากน้ำ ที่กลายเป็นมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยที่แม้อุทกภัยยังไม่ทันผ่านพ้นไปด้วยดี ภัยธรรมชาติครั้งต่อไปก็ถาโถมเข้ามาแล้ว นั่นคือภัยแล้งและภัยหนาว ในขณะที่โรคระบาดก็ตามมา บริษัทต่างชาติเจอวิกฤตน้ำท่วมก็ปิดกิจการหนีกลับบ้านไป บริษัทคนไทยที่หมดตัว ล่มจม ทำธุรกิจต่อไปไม่ไหวก็ปิดกิจการ คนตกงานกันมากขึ้น และยังมีนักโทษที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษออกมาสู่สังคมอีกนับหมื่นๆ โอกาสได้งานก็ยิ่งน้อยความเดือดร้อนก็จ่อมาอยู่ที่หน้าประตูทุกหย่อมหญ้า รัฐแจกเงินไป 5,000 บาทแล้วก็หายเงียบไป หรือเพราะว่ารัฐบาลก็เชื่อว่า คนไทยลืมง่าย ทำเงียบๆ แล้วก็หายไป ยังไม่เห็นนโยบายหรือแนวทางอะไรที่ชัดเจน ที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่าจะไม่เกิดภัยพิบัติซ้ำซ้อนขึ้นอีกในปีหน้า
เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง เครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ ในฐานะผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงจากภัยพิบัติทั้ง 4 ประการ พวกเราไม่สามารถรอให้สถานการณ์พิสูจน์ความขี้ลืมของคนไทย จำเป็นต้องหยิบยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาทำให้เกิดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม โดยร่วมมือกันทั้ง 5 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อ หยิบเอากรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมหาอุทกภัย 2554 ที่ผ่านมา ขึ้นมาทำต้นแบบการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ด้วยศาสตร์พระราชา และแนวทางกสิกรรมธรรมชาติ เพื่อเป็นต้นแบบการฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติให้พร้อมที่จะเผชิญภัยพิบัติต่อไปในอนาคต ด้วยวิถีที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
ขณที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ กลุ่มชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มโจนสลัด จากชุมชนเขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ก็กำลังเข้ารับการฝึกอบรมอยู่ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เพื่อเตรียมพร้อมความรู้ ทั้งรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อกลับไปฟื้นฟูและเตรียมการที่จะต่อสู้กับภัยน้ำท่วมในปีหน้า ส่วนเครือข่ายภาคประชาชนก็กำลังรณรงค์ทุกรูปแบบเพื่อจัดตั้งกองทุนขึ้นสนับสนุนกิจกรรมการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน ทั้งทำฝาย ปลูกแฝก ปลูกต้นไม้ รวบรวมพันธุ์ข้าว พันธุ์ไม้ ขุดบ่อน้ำ ทำหนองน้ำ ทำโคก เพื่อเก็บน้ำที่จะหลากมายามหน้าแล้งไว้ใช้ในหน้าฝน เลียนแบบวิถีชีวิตแบบ บ้าน บ้าน...แบบธรรมชาติที่แต่เดิมบรรพบุรุษเราเคยทำมา ด้วยเชื่อว่า “บรรพบุรุษท่านทำไว้ดีแล้ว” หากแต่เราคนรุ่นลูก รุ่นหลาน พากันหลงลืมวิถีชีวิตที่เหมาะกับผืนแผ่นดินที่เป็น แผ่นดินทองแห่งนี้ แล้วไปเลือกเดินตามวิถีคนอีกซีกโลกที่สภาพภูมิศาสตร์ และภูมิสังคมต่างกันสิ้นเชิงจนเกิดเป็นวิกฤตแห่งแผ่นดินอยู่ในขณะนี้
การฟื้นฟูอย่างยั่งยืนเริ่มขึ้นแล้ว ด้วยการรวมพลังของนิ้วทั้ง 5 โดยตั้งต้นจากชุมชนที่พร้อมรับความรู้ใหม่ๆ มีหัวใจที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ เพราะพวกเขาเองก็เชื่อว่า พลังความสามัคคีของคนเท่านั้น ที่จะช่วยให้รอดจากพ้นจากภัยต่างๆ ได้ ดังที่กลุ่มโจนสลัดทำวีรกรรมช่วยเหลือกันและกันไว้เป็นต้นแบบอันดีแล้ว ที่เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี และหลังจากพวกเขาติดอาวุธความรู้ ความคิด คุณธรรม แล้วกลับไปฟื้นฟูชุมชนใหม่ เขาสมอคอนแห่งนี้จะกลายเป็นผืนดินต้นแบบชุมชนพึ่งตนเองอยู่กับวิกฤตได้ด้วยพลังความสามัคคี ด้วยวิถีแบบ บ้าน บ้าน ของบรรพบุรุษเราเอง ส่วนโมเดลที่จะกลับไปทำนั้นเป็นอย่างไร โปรดติดตามฉบับหน้า พร้อมเตรียมตัวเข้าสู่ ปี 2012 +