9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
มาบเอื้องโมเดล (2) : พิสูจน์ทฤษฎี วิถี บ้าน บ้าน
อาจารย์ยักษ์ มหา'ลัยคอกหมู
“มาบเอื้อง โมเดล” เกิดขึ้นที่ ค่ายกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี แต่กว่าจะมาถึงวันนี้นั้นต้องผ่านการเตรียมการหลายขั้นตอน อาจารย์ยักษ์อยากจะชี้ให้ชัดตรงจุดนี้ว่า ไม่มีอะไรเลยที่จะได้มาโดยง่าย โดยไม่เตรียมการ แม้ผลของความสำเร็จจะปรากฏเป็นจุดของเหตุการณ์ แต่เบื้องหลังจุดความสำเร็จนั้นย่อมมีรากเหง้า และเรื่องราวความเป็นมา หากเข้าใจตรงนี้การจะนำต้นแบบไปปฏิบัติตามจึงสำคัญที่การทำความเข้าใจ “กระบวนการ” มากกว่า “วิธีการ” หรือเพียงแค่ “เทคนิค”
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เปิดเป็นศูนย์พักพิงจริงได้ 1 เดือน มีผู้เข้ามาพักพิงกว่า 180 คน มีอาสาสมัครเข้ามาช่วยดูแลอีก 90 กว่าคน รวมอาสาสมัครมาบเอื้องด้วยแล้ว มาบเอื้องต้องรับรองคนทั้งสิ้นเกือบ 300 คน โดยที่ ระยะเวลากว่า 30 วันที่ผ่านมานั้น มาบเอื้องไม่ต้องเสียเงินแม้แต่แดงเดียว เพราะว่าเราวางแผนรับมือวิกฤตโดยใช้ “วิถีบ้าน บ้าน” บวกกับการฝึกอบรม บ่มเพาะ การจัดตั้งความคิด โดยให้ผู้พักพิงพัฒนาตัวเองขึ้นมาพึ่งตนเองให้ได้ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
กิจกรรมในแต่ละวันที่มาบเอื้องจึงเริ่มจากการประชุมหน้าเสาธง ทุกเช้าก่อนเคารพธงชาติ ทุก 8 โมงเช้า และทุก 6 โมงเย็น จะมีการประชุม กล่าวคำปฏิญาณ ร้องเพลงชาติ สวดมนต์ สงบนิ่งตั้งสติ มีการพูดคุยปรับทุกข์สุข มีการนัดหมายทำกิจกรรมกันระหว่างวัน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้เดือดร้อนคลายจากความโศกเศร้าเสียใจได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ แนวทางนี้อาจารย์ยักษ์เรียกว่า “เอางานนำ”
หลังจากนั้น ผู้พักพิงจะได้เรียนรู้ การพึ่งตนเอง การอยู่ร่วมกัน ฉันท์พี่น้องในศูนย์พักพิง เสมือนกับที่นี่เป็นบ้านหลังที่สอง เมื่อมีเพื่อนให้ได้พูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกันเพียงไม่ถึงสัปดาห์ต่อมาผู้พักพิงก็สามารถจัดระบบการอยู่ร่วมกันเป็นบ้าน เป็นตำบลได้ โดยแบ่งเป็นสี่หมู่บ้าน รวมเป็นตำบลเพื่อปกครองกันเอง แบ่งทีมกันปลูกผัก ปลูกข้าว หาปลา ปรุงอาหารกันเอง ปรุงยา ดูแลทำความสะอาดสถานที่บริเวณรอบๆ เรียนรู้การทำปุ๋ยน้ำหมัก การผลิตระเบิดจุลินทรีย์ ระเบิดสันติภาพที่คอยให้ความช่วยเหลือในพื้นที่น้ำเน่าเสีย
เมื่อผู้พักพิงรวมตัวกันโดยผ่านกระบวนการฝึกอบรมบ่มเพาะของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จึงสามารถยกระดับจากเศร้าสร้อยเสียใจ ขึ้นเป็นกุลีกุจอ ช่วยเหลือ พึ่งตนเอง มีการปกครองตัวเองได้ จนถึงขั้นรวบรวมสิ่งของ ผลิตยา ปุ๋ย ผลิตอาหารการกิน แปรรูป อาหารการกินที่ได้รับจากผู้มาบริจาคเป็นรายวันออกไปช่วยเหลือเผื่อแผ่ผู้อื่น เพราะที่นี่อาหารการกินอุดมสมบูรณ์แต่ละวันมีเจ้าภาพจากเมืองชลบุรี หรือจากจังหวัดอื่นๆ มาจองเลี้ยงอาหารกลางวัน เย็นทุกวัน เพราะพวกเขาก็อยากช่วยเหลือ
นอกจากนั้นเครือข่ายพวกเราก็ได้นำข้าวสาร อาหารแห้งมาบริจาคเป็นสิบๆ ตัน ทั้งของใช้ อาหารสด สารพัด เมื่อเพียงพอ จนเหลือกิน ผู้พักพิงก็รวมตัวกันแปรรูปจัดเป็นถุงยังชีพได้เป็นจำนวนมาก แล้วก็ขนไปส่งผู้ที่ยังเดือดร้อนจากน้ำท่วม ซึ่งผลทางอ้อมคือการได้ออกจากทุกข์ของตัวเองไปช่วยเหลือเยียวยาทุกข์ของผู้อื่น ส่วนแผนการฟื้นฟูระยะยาว ก็ได้ใช้การกำหนดตุ๊กตาร่วมกัน คือให้ลองร่วมกันทำแผนฟื้นฟูพื้นที่ของชาวบ้านที่มีความเดือดร้อน ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการเตรียมใจให้พร้อมรับกับสถานการณ์ในอนาคต แต่ใช้เทคนิคการคิดออกจากกรอบของตัวเองไปยังจุดหมายอื่นที่ทำร่วมกัน ดังนั้นเมื่อพวกเขากลับบ้าน สิ่งที่เคยร่วมกันคิดก็จะกลายเป็นแนวทางในการฟื้นฟูบ้านตัวเองจริงๆ
ยุทธวิธีการเตรียมเผชิญเหตุภัยพิบัติธรรมชาติแบบมาบเอื้องโมเดลนั้น ไม่เพียงแต่ทำเฉพาะ ค่ายพักพิง เท่านั้น แต่มาบเอื้องโมเดล หมายถึงการจัดตั้งองค์กร การเตรียมกำลังพลเพื่อรับมือเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติทั้งระบบ ซึ่งได้จากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำสงครามของหลายชาติ เพื่อนำมาเตรียมพร้อมรับมือสงครามกับธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นหลายรูปแบบ
สำคัญที่สุด คือ เรามีการเตรียม “คน” ไว้พร้อมรับมือ เป็นกำลังพลที่มีความรู้ ทั้งรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง มีคุณธรรม และยังมีการจัดวางกำลังในองค์กรให้เหมาะสมเป็นสายงานต่างๆ จึงทำให้การทำงานของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ได้รวมตัวกันเป็นองค์กรแน่นหนา แต่คล้องเกี่ยวกันไว้เพียงหลวมๆ นี้ เกิดพลังและสำเร็จขึ้นมาได้จริง
การจัดทัพ หรือจัดกำลังพลแบบ “มาบเอื้องโมเดล” นั้น เขาทำกันอย่างไร อาทิตย์หน้าโปรดติดตาม +
แหล่งที่มา:
พอแล้วรวย คม ชัด ลึก ฉบับวันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม 2554