9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
โอกาสท่ามกลางวิกฤต (2) : รอดด้วยธรรมะของพระพุทธองค์
อาจารย์ยักษ์ มหาลัยคอกหมู
ในท่ามกลางความมืดบอดของคนที่เป็นใหญ่ เป็นโต ในวันที่ศาสนาพุทธมีอายุกึ่งพุทธกาล ผู้คนไม่ศึกษาธรรมะของพระพุทธองค์กันแล้วอย่างวันนี้ อาจารย์ยักษ์อยากจะชี้ให้เห็น ธรรมะข้อหนึ่งซึ่งจะทำให้เราผ่านเหตุการณ์วิกฤตเลวร้ายไปได้ นั่นคือ ธรรมะของสัตบุรุษ สัปปุริสธรรม 7 ซึ่งหากเรามองให้เห็นจริงแล้ว จะเห็นว่าในท่ามกลางวิกฤตนี้เองที่ “คนดีจะมารวมตัวกัน” เพื่อแก้ปัญหา ดังนั้นหากเรารู้จักมองหาคน “ดีที่แท้” จากบรรดา “คนดี” เหล่านั้น เราก็จะมองเห็นกลุ่มคนที่จะนำพาประเทศไปได้โดยจะได้ทั้งคนดี มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรมมาแก้ปัญหา
คนดีที่แท้หรือสัตบุรุษที่แท้นั้นดูจากอะไร พระพุทธเจ้าท่านได้มองเห็นสัจธรรมเรื่องนี้ และกำหนดไว้ด้วย “ธรรมที่ทำให้คนเป็นคนดี” 7 ประการ คือ 1) ธัมมัญญุตา เป็นผู้รู้จักเหตุ 2) อัตถัญญุตา เป็นผู้รู้จักผล 3) อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน 4) มัตตัญญุต เป็นผู้รู้จักประมาณ 5) กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล 6) ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักชุมชน และ 7) ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตาเป็นผู้รู้จักบุคคล
ข้อสำคัญในสัปปุริสธรรม 7 คือ “ต้องรู้จักเหตุ” คือ รู้จักตัวเอง รู้กำพืดของตัวเอง เช่น รู้ว่าคนในภูมิภาคนี้เป็นนักผลิตข้าวที่เก่งที่สุดในโลก คนไทยเราเป็นนักผลิตอาหาร ผลิตยา เราปลูกข้าว ทำนา เก็บสมุนไพรจากป่ามาทำเป็นยา นำไม้จากป่ามาทำบ้านเรือน ทำของใช้ เมื่อผลิตได้มากเราก็ส่งออกไปขายต่างประเทศจนมีชื่อเสียงเลื่องลือมาแต่สมัยโบราณ หากเราย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์ดูดีๆ เราจะเห็นรากเหง้า เห็นกำพืดของเรา แต่เพียงไม่กี่ปีมานี้ คนไทยเราทำลายของดีของเราเอง ทำลายจุดเด่นของเราจนหมดสิ้น ทำลายป่า ทำลายภูเขา ทั้งที่ป่าไม้คือไพร ในป่ามีต้นไม้ มีสมุนไพร นำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย เมื่อไม่มีป่า ก็ไม่มีทรัพยากร ไม่มีแหล่งอาหาร ที่สำคัญไม่มีรากไม้ที่สานกันอุ้มน้ำเอาไว้ใต้ดิน จนในที่สุดเมื่อฝนตกมาตามฤดูกาล ดินก็ไม่อาจอุ้มน้ำไว้ได้อีกต่อไป กลายเป็นอุทกภัยหลากมาจากต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ ทำความเดือดร้อนให้มากมาย ทั้งที่ความจริงแล้ว ในสมัยก่อนน้ำที่หลากมานี้คือความอุดมสมบูรณ์ที่ธรรมชาติมอบให้กับผืนดิน น้ำที่มาจากป่าเขาจะหลากลงมาอาบแผ่นดินไทยนับเป็นพื้นที่ร้อยล้านไร่ ให้คนไทยได้ทำมาหากินด้วยการเพาะปลูกพืช เราจึงมีความเชี่ยวชาญในการปลูกข้าว เพราะ “ข้าวคือพืชน้ำ” พันธุ์ข้าวที่ลุ่มขึ้นได้ในน้ำขัง ตั้งแต่ครึ่งเมตร จนถึง 1-2 เมตร ต้นข้าวอยู่ได้ โดยการปรับตัวทะลึ่งขึ้นเหนือน้ำ จนเมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ นำการคัดเลือกพันธุ์ข้าวจากห้องทดลองมาปลูกในที่ราบน้ำท่วมถึง พอเวลาน้ำหลากมา ข้าวเหล่านั้นก็จมน้ำหมด เพราะปรับตัวไม่ได้กับสภาพความจริง นี่คือสิ่งที่สังคมไทยกระทำกับพวกเราเอง
คนไทย โดยเฉพาะนักวิชาการไม่เคยให้ความสำคัญกับ “วิถี บ้าน บ้าน” แต่กลับแห่แหนยกย่อง “นักเรียนนอก” ใส่สูทผูกไทด์ ดูถูก ดูแคลนบรรพบุรุษตัวเองว่าเป็นพวก “บ้านนอก” ไม่รู้ตำรับ ตำรา ไม่รู้ภาษาฝรั่ง หารู้ไม่ว่า “ความรู้ที่แท้นั้นอยู่ในเมืองไทย” วิชาการที่เหมาะสมนั้น อยู่ในพื้นที่นี่แหละ เมื่อไม่รู้รากเหง้าจึงเห็นเรื่องราวน่าเวียนหัว เช่น เมื่อคิดจะตั้งสถาบันข้าวไทย ก็เริ่มจาก ไปศึกษาหาความรู้จากสถาบันต่างประเทศ ไม่ได้สนใจที่จะศึกษาหาความรู้จากชาวนาไทยที่ปลูกข้าวมาทั้งชีวิต เพราะคิดว่าเขาไม่มีความรู้ นี่แหละความยึดติดและหลงอยู่ในโมหะภูมิทั้งนั้น ...
น้ำที่หลากลงมาเป็นหมื่นๆ ลูกบาศก์เมตร ทำความเดือดร้อนแสนสาหัสในครั้งนี้แหละ เป็นโอกาสที่เราจะต้องคิดอย่างจริงจังว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะให้ความสำคัญกับ “พวกบ้านนอก” เท่าๆ กับ “นักเรียนนอก” หันมาศึกษาวิถีบ้าน บ้าน ว่าบรรพบุรุษของเราทำอย่างไรถึงอยู่ในแผ่นดินนี้มาได้ยาวนาน แล้วเอามาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีปัจจุบัน จะเป็นทางออกที่เหมาะสมกับสังคมไทย
อาจารย์ยักษ์เชื่อว่า “สัตบุรุษที่แท้นั้นยังมี และวิกฤตครั้งนี้จะทำให้คนจริงเหล่านี้มารวมกัน” ในวิกฤตยังมีโอกาส ในโอกาสคือ “จุดเปลี่ยน” ประเทศไทย +
แหล่งที่มา:
พอแล้วรวย คม ชัด ลึก ฉบับวันเสาร์ที่่ 26 พฤศจิกายน 2554