9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ปลุกพระ...ขึ้นสู้ภัย (2)
“พอ” แล้วรวย
อาจารย์ยักษ์ มหา’ ลัยคอกหมู
ปลุกพระ...ขึ้นสู้ภัย (2)
จากการบรรยายถึง 9 ยุทธวิธีกู้วิกฤติชาติที่ได้กล่าวถึงในฉบับที่แล้ว ก็มาถึง บันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นแนวทางให้เดินตามได้ง่ายๆ เป็นขั้น เป็นตอน โดยขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 4 ถือเป็นขั้นพื้นฐาน เมื่อทำได้ก็หมายถึงได้เดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน พร้อมที่จะก้าวไปสู่เศรษฐกิจพอเพยงขั้นก้าวหน้าต่อไป
เศรษฐกิจพอเพียงขึ้นพื้นฐาน ที่ไปถึงได้โดยบันไดขั้นที่ 1 ถึง 4 คือพอกิน พออยู่ พอใช้ เป็นบันได 3 ขั้นแรก และพอร่มเย็นเป็นบันไดขั้นที่ 4 ซึ่งคือแนวทางในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคำตอบแรก คือ “ทำอย่างไรจึงจะพอกิน” เพราะว่า โลกวันนี้มันวิกฤตแล้วน้ำที่ท่วมนาข้าวก็ทำให้อาหารลดลง ราคาแพงขึ้น ปลอดภัยน้อยลงเพราะเขาเร่งใส่สารเคมีและยาฆ่าแมลง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นพื้นฐานให้ความสำคัญกับ ข้าวปลาอาหาร ไม่ให้ความสำคัญกับเงิน ซึ่งเป็นเพียงแค่ “ตัวกลาง” ในการแลกเปลี่ยน จากพอกิน คือ “พออยู่” หมายถึงมีที่พักอาศัยซึ่งสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้านไม้ บ้านดิน ที่เหมาะกับสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ขั้นต่อไปพึ่งตนเองได้ด้านการพอใช้ ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึง “เงินทองพอใช้” อย่างที่คนส่วนใหญ่ไพล่ไปนึกถึงเมื่อได้ยินคำนี้ เพราะว่าจิตผูกอยู่กับ “ความพอใช้” เพียงประการเดียว คือ “เงิน” แต่ความพอใช้ในวิถีที่เป็นจริงของชีวิตคือ ความเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการทำเครื่องใช้ไม้สอย เครื่องนุ่งห่ม น้ำยาอเนกประสงค์ที่ใช้แทน แชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูบ้าน น้ำยาไล่ยุง ไล่แมลง เหล่านี้เราสามารถทำขึ้นมาใช้เองได้ทั้งสิ้น ซึ่งทั้ง 3 พอนั้นได้มาจากบันไดขั้นที่ 4 คือ “พอร่มเย็น” อันเกิดจากการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ ป่าที่มีไว้เพื่อการพอกิน พออยู่ พอใช้ และคืนกลับความร่มเย็น ความสมดุลให้กับระบบนิเวศเป็นประโยชน์อย่างที่ 4 ตามแนวทางการปลูกป่าจากพระราชดำริ “ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง”
เมื่อฐานรากมั่นคงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ห้ามค้าขาย ไม่ได้ห้ามไม่ให้ร่ำรวย แต่ควรค้าขายบนรากฐานที่มั่นคง เพราะสังคมเราเป็นสังคมที่มีพื้นฐานมาจากการเกษตร เราชำนาญด้านการเพาะปลูก เป็น “ผู้ผลิต” การจะก้าวข้ามไปเป็น “พ่อค้า” เลยนั้นอาจจะทำให้เราพลาด เราหกล้มได้ง่าย การทำฐานให้มั่นคงทั้ง 4พอ ก็คือความปลอดภัย คือฟูกที่รองยามเราล้ม และหากจะให้มั่นคงจริงๆ นั้น บันไดขั้นที่ 5 ขั้นที่ 6 ก็ต้องทำบุญ ทำทาน และเก็บรักษา แปรรูปสำรองไว้ใช้ในอนาคตยามขัดสน รู้จักเก็บเป็นคลัง คลังอาหาร คลังยา คลังความดี คลังคนดี เป็นบันไดขั้นที่ 7 สำเร็จแล้วค่อยค้าขาย ขยายไปที่คนอื่นต่อได้เป็นบันไดขั้นที่ 8 และบันไดขั้นที่ 9 คือ การเชื่อมเครือข่าย จับมือกันสร้างเป็นตาข่ายของเพื่อน ของกัลยาณมิตร ที่จะช่วยเหลือกัน ดูแลกันแม้ในยามเผชิญกับวิกฤตการณ์ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติธรรมชาติ น้ำท่วมนาข้าวเสียหายหมด ยังมีเพื่อนช่วยเหลือดูแลกัน หรือโรคระบาดเราก็มีเครือข่ายมาให้ความรู้แลกเปลี่ยนกัน เกิดภัยจากเศรษฐกิจ ข้าวยาก หมากแพง เพื่อนที่เชื่อมกันไปทั่วประเทศก็จะยื่นมือมาช่วยเหลือ สุดท้ายภัยสงคราม ความขัดแย้งรุนแรงในสังคม เครือข่ายที่จับมือด้วยอุดมการณ์เดียวกันโดยเอาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นธงนำก็จะยังคงเกี่ยวร้อยไปด้วยกัน เพราะมี “แก่น” เดียวกันนั่นเอง
บันได 9 ขั้น นั้นเป็นแนวทางเหมือนบันไดจริงๆ ที่ช่วยให้คนเริ่มเดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ถูกทาง ปลดออกจากห่วง และเงื่อนไขมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติจริง จะได้เริ่มได้เสียที ไม่ต้องติดหลักคิด ติดตำรากันอยู่
การบรรยายครั้งนี้ อาจารย์ยักษ์ได้มีโอกาสถวายความรู้ให้กับ “พระนิสิต” ซึ่งส่วนใหญ่ที่เข้ามาร่วมฟังนั้นเป็นพระนักเทศน์ และเป็นผู้นำในสถาบันสงฆ์อยู่แล้วหลังจากบรรยายจบท่านเจ้าอาวาสได้ให้พระนิสิต ร่วมกับพระอาจารย์ เขียนบทเทศน์ว่าด้วยเรื่อง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง และ 9 ยุทธวิธีกู้วิกฤตชาติด้วยศาสตร์พระราชาขึ้น และจะได้คัดบทที่ดีที่สุดบันทึกลงบนใบลานเพื่อให้ไปเทศน์แจกจ่ายกัน สอนกันทั้ง 44,000 วัด เหมือนกับที่นางมณีเมขลาบอกกับพระมหาชนกยามเมื่อเวลาสมควร ให้ตั้งปูทะเลย์มหาวิชชาลัยขึ้น เหตุเพราะ “วาจาอันมีปาฏิหาริย์ของท่าน มิบังควรหายไปในอากาศ” เราก็เชื่อว่าศาสตร์ของพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้ทรงพระราชทานไว้ให้ ต้องเอามาถ่ายทอดให้กันเพราะว่าเป็นที่พึ่งได้จริง ศาสตร์ของพระราชานี่แหละที่จะเป็นที่พึ่งได้ยามวิกฤต จึงจำเป็นต้องตั้งศูนย์ฝึกขึ้นมาทั่วประเทศ โดยใช้วัดนี่แหละเป็นศูนย์กลาง งานนี้มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยก็เป็นแม่งาน ลุกขึ้นปลุกระดมให้เดินตามรอยพระองค์ท่าน เพราะเชื่อว่าจะหยุดยั้งภัยพิบัติ หยุดยั้งสงครามได้จริง อาจารย์ยักษ์ก็เลยมีกำลังใจขึ้นมาก
สรุปสุดท้าย งานนี้ท่านเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุได้ปลุกพระขึ้นมากู้วิกฤต หรือที่อาจารย์ยักษ์เปิดไว้ว่า ปลุกพระขึ้นสู้ภัย แต่พระกันภัยรุ่นนี้ ไม่มีให้เช่า ถ้าอยากจะได้ “ธรรมะ” ข้อนี้ก็คงต้องใช้วิธี “นิมนต์” แทน +