9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ฉันเดินทาง...ตามรอยเท้าของพ่อ
จากการประเมินสถานการณ์ท่ามกลางความพยายามดิ้นรนของทุกฝ่าย อาจารย์ยักษ์มีความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ทำให้คนไทยรู้สึกออกมาจากข้างในว่าถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน คนไทยทุกระดับมองเห็นปัญหาที่กำลังใกล้เข้ามาทุกวันๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจตกสะเก็ดของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปที่เป็นตลาดใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งบางคนก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าความตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศอีกซีกโลกจะเกี่ยวพันกับเราอย่างไร แต่ส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้แล้วว่าระบบการค้าในปัจจุบัน ผูกผันกับตลาดทั่วโลก หากตลาดใหญ่ของเราเจ๊งลงเรื่อยๆ ค่าเงินดอลลาร์แย่ลง จะส่งผลกระเทือนถึงเงินในกระเป๋าของทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งชาวนา ชาวไร่ ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกผัก ปลูกหญ้าไป ไม่รู้ อิโหน่ อิเหน่ เพราะเมื่อค่าเงินเสื่อมลงไป เงินที่มีอยู่ในกระเป๋าแม้จะมีเท่าเดิมแต่ค่าก็จะเริ่มลดลง และไม่เพียงแค่นั้น ภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้น เห็นจริง ก็ทำให้ความสงสัยของคนทั่วไปได้รับคำตอบ เพราะเหตุที่เห็นประจักษ์ถึงความเดือดร้อนมากมายในสังคม
เหตุต่างๆ เหล่านี้ ก็ทำให้อาจารย์ยักษ์รู้สึกไปเองว่าคนก็อยากช่วยกัน อยากจะให้สังคมไทยฝ่าวิกฤตไปให้ได้ แม้กระทั่งยิ่งลักษณ์เอง เพิ่งเข้ามาเป็นนายกไม่กี่วันก็พยายามจะสร้างโมเดล “บางระกำโมเดล” ให้คนหลุดพ้นความระกำอันเกิดจากนกเต็นบินผ่าน เกิดน้ำท่วมแช่ขังเดือดร้อนกันทุกมิติ ไหนจะโรคระบาด ไหนจะการไม่มีจะกิน ไหนจะต้องมานอนกันอยู่บนถนน รถจะเบรกแตกมาเหยียบย่ำกระต๊อบหรือที่นอนกันเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ชีวิตไม่มีความมั่นคง เสี่ยงภัยกันสารพัด คนไทยก็เริ่มรู้สึกมากขึ้น อาจารย์ยักษ์รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ว่า คนไทยทุกระดับเริ่มสำนึกอยากจะมารวมตัวกัน อยากช่วยกัน
เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติก็รู้สึกเหมือนกัน ว่าในภาวะที่โลกมันโกลาหลเช่นนี้ เราเองก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองในทุกด้าน พัฒนาทั้งคุณธรรมให้สูงขึ้น ความเสียสละให้สูงขึ้น พัฒนาฝีมือการวางแผน การแปลงแผนลงสู่การปฏิบัติ ฝีมือที่จะไปอุ้มชูตัวเอง ที่จะไปอุ้มชูคนอื่นในสังคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งความรู้ ทั้งคุณธรรม ทั้งคุณภาพ ก็ได้เร่งพัฒนากันมากขึ้น จึงได้จัดการอบรมหลักสูตร “การบริหารโครงการแบบมีส่วนร่วม” ขึ้น เพื่อเคี่ยวคนของเราโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานความรู้ในการจัดการ ในการบริหารโครงการให้ได้ยกระดับขึ้น โดยกำหนดว่าช่วงนี้จะอบรมเฉพาะภาคใต้กับภาคกกลางก่อน เพราะมีงานด่วนเฉพาะหน้า 4 โครงการที่ได้กำหนดไว้แล้ว อันได้แก่ งานที่จะจัดขึ้น ณ โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ จ.ชุมพร ในวันที่ 24-25 กันยายนที่จะถึงนี้ การเตรียมงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน งานประจำปีของเครือข่ายในวันที่ 17-19 มีนาคมของทุกปีที่มาบเอื้อง งานมหกรรมฟื้นฟูลุ่มน้ำและทะเลไทย ที่จัดขึ้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ซึ่งปีนี้จะได้จัดขึ้นที่ เดวา รีสอร์ท ในวันที่ 9 กันยายนนี้ นอกจากนั้นยังมีโครงการระยะยาวซึ่งจะต้องเร่งวางแผน จึงได้จัดหลักสูตรอบรมระยะสั้น 2 วันขึ้นมาในเวลาอันจำกัด แต่เรามองว่าการขาดแคลนเวลาไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเรา แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องเร่งปัญญามากขึ้น เร่งความอดทนให้มากขึ้นเพื่อให้ทันการณ์ โดยมีกระบวนการหลักๆ สำคัญๆ 2 กระบวนการ คือ กระบวนการที่มุ่งเป้าหมายให้รู้จักตัวเอง รู้จักผู้อื่น เข้าใจเป้าหมายองค์กรร่วมกัน เนื่องจากองค์กรในลักษณะของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ และเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นองค์กรอาสา หรือ Volunteer Organization ที่มีลักษณะเฉพาะไม่ใช่ทั้ง NGO (Non-Government Organization) และไมใช่ทั้ง GO (Government Organization) แต่เป็นองค์กรที่มีความร่วมกันคือ “จิต” ที่อาสาจะมาทำงานเดินตามรอยเท้าพ่อร่วมกัน องค์กรจึงมีความไม่อยู่นิ่ง มีความหลากหลาย มีคนเข้า คนออกอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า Dynamic Organization ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่คนที่ทำงานในองค์กรในลักษณ์นี้ ควรจะได้เข้าใจถึงธรรมชาติขององค์กรที่มีความหลากหลาย จากนั้นจึงทบทวนเป้าหมายและอุดมการณ์ร่วมกันทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญก่อนที่จะเรียนรู้เรื่องของการบริหารโครงการแบบมีส่วนร่วม
การจัดกระบวนการในครั้งนี้ก็ทำให้แม้การจัดฝึกอบรมที่ตามปกติเขาเคร่งเครียดกัน เราก็ทำให้คึกคักได้ ครื้นเครงได้ และเชื่อว่าภายหลังการฝึกอบรมจะทำให้เกิดความคล่องแคล่วในการที่จะทำให้การบริหารโครงการง่ายขึ้น และเป็นชนวนทำให้เกิดการพัฒนากองกำลังเกษตรโยธินให้มีความคึกคัก คล่องแคล่ว ครื้นเครง และเราได้จัดเตรียมหลักสูตรการพัฒนาไว้เป็นระยะๆ เพื่อให้ภาคเหนือ ภาคอีสานได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันหลักสูตรการพัฒนาวิทยากรของเราให้เก่งขึ้นก็ยังคงทำต่อเนื่อง แม้นเครือข่ายเราจะอาจหาญไปจัดหลักสูตรบ่มเพาะคนให้ลุกขึ้นเผชิญกับภัยพิบัติได้นั้น เราก็ต้องลุกขึ้นอบรมบ่มเพาะกันเองด้วยนี่จึงเป็นเรื่องสำคัญซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทำไว้เป็นตัวอย่างแล้ว เรียกว่า การพัฒนาบริษัทพุทธขึ้นทั้ง 4 กลุ่ม อันได้แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เครือข่ายเราไม่ใช่บริษัทพุทธก็จริง แม้จะมีหลากความคิด หลากศาสนา หลากความเชื่อ เราก็รวมกันได้ภายใต้ปรัชญาของพ่อที่ชื่อว่า “พอเพียง”