9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
บ้านเมืองนี้ไม่เหลืออะไรให้ดูดกิน!
ขณะเวลานี้ เป็นเวลาแห่งการจัดตั้งคณะรัฐบาล ประเทศไทยคงจะได้คณะผู้บริหารประเทศใหม่ในเร็ววันนี้ หลังจาก กกต.รับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการ ซึ่งที่จริงแล้วคณะรัฐบาลชุดใหม่ก็ได้มีการวางตัวกันให้เห็นหน้าค่าตากันแล้วว่าใครเป็นใคร
อาจารย์ยักษ์อยากฝากถึงทุกท่านที่จะเข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ ให้พิจารณาถึงความจำเป็นที่เราจะต้องมีการปฏิวัติการศึกษาใหม่ โดยเน้นให้อิสระกับผู้ที่ต้องการศึกษา ให้มีโอกาสสามารถเลือกได้ โดยเฉพาะการศึกษารากเหง้า ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ส่วนกลางต้องเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ไม่ใช่จ้องแต่จะทำลายด้วยการผูกขาดการวางหลักสูตร ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “มาตรฐาน” อะไรก็ตามที่ไม่ได้มาตรฐานไม่สามารถทำการเรียนการสอนได้ในประเทศนี้ ซึ่งชัดเจนว่า “ผิด” และเป็นการทำลายรากเหง้าของประเทศชาติไปอย่างยับเยิน
อาจารย์ยักษ์เพิ่งกลับจากงานชุมนุมปราชญ์เกษตรทฤษฎีใหม่ 84 พรรษามหาราชา ซึ่งจัดขึ้น ณ วัดมงคลชัยพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ได้พูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านที่ให้เกียรติมาร่วมงาน และประโยคหนึ่งจากพ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว จากสกลนคร ก็ได้ตอกย้ำว่ามาตรฐานที่กำหนดโดยส่วนกลางนั้นไม่สามารถครอบคลุมได้ทั่วทั้งประเทศ ไม่ใช่ไม้บรรทัดที่จะวัดความถูก ผิด ความเหมาะสมขององค์ความรู้ที่ปู่ย่า ตายาย ใช้สอนลูกหลานในท้องถิ่น
เช่น พ่อเล็กเอง ต้องการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้าของชาวบ้านอินแปง ท่านได้ผลักดันให้วิชาการทอผ้าเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน แต่ก็มีปัญหาเพราะว่าไม่สามารถหาคนจากส่วนกลางมาประเมินหลักสูตรได้ เหตุก็เพราะความรู้ด้านทอผ้านั้นไม่มีใครสักคนจากส่วนกลางที่จะรู้ดีกว่าชาวบ้าน อาจารย์ยักษ์ถามว่า การสอนให้เด็กๆ เรียนรู้การทอผ้าท้องถิ่นนั้นดีไหม ทุกคนคงตอบว่าดี แม้แต่คนในกระทรวงศึกษาธิการเอง แต่ในกระบวนการปฏิบัติกลับวางหลักเกณฑ์ให้การศึกษารากเหง้าท้องถิ่น ไม่อาจเข้าสู่กลไกการศึกษาได้ ระบบจากส่วนกลาง จึงทำลายรากเหง้าของเราเอง โดยไม่มีใครคิดแก้ไข
หากคนที่เข้ามากลุ่มใหม่นี้ มีความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ก็จะต้องปฏิวัติการศึกษา เพราะระบบการศึกษาต้องรับผิดชอบต่อแผ่นดิน หลักคิดเรื่องมาตรฐานเดียวทั้งประเทศใช้ไม่ได้แล้วทุกวันนี้ ก็ต้องจัดหลายมาตรฐาน ไม่ใช่สองมาตรฐาน ไม่ใช่ Double Standard เพื่อให้เหมาะสมกับท้องถิ่นต่างๆ ที่จะต้องพัฒนาขึ้นให้ได้ การเรียนการสอนในโรงเรียนจะต้องใส่วิชาการต่างๆ เข้าไป วิชาช่าง วิชางานหัตถกรรม วิชาหมอรักษาคน วิชาการคลัง การแปรรูป รู้จักเก็บรักษาสิ่งที่ควรทำ ควรเป็นไว้ในยามยาก ยามแห้งแล้ง ยามน้ำท่วม ก็จะมีความสามารถในการแปรรูปวัตถุดิบไม่ทิ้งไปเสียเปล่า จนถึงวันนี้หลายคนเริ่มยอมจำนนแล้วว่าเราเดินทางผิดมานานมากแล้ว จากการไปลอกระบบการเมืองเขามาโดยไม่ดูวัฒนธรรมของตัวเอง
เป็นวัฒนธรรมเอื้อเฟื้อ เฟือฟาย ยิ้มแย้มแจ่มใสแบ่งปันกันกิน ใครมาถึงเรือนชาน เราก็ต้อนรับขับสู้ แบ่งปันกันกินเป็นปกติ แต่เราก็พัฒนาประเทศจนสิ่งดีงามเหล่านี้ที่หาไม่ได้ที่ไหนในโลกถูกทำลายลงไปหมดแล้วด้วยตัวของเราเอง แต่เมื่อเราเห็นเหตุแล้วก็จำเป็นต้องกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ นี่เป็นเรื่องใหญ่เหลือเกิน แต่ถ้าคิดจะมาเอาตำแหน่งเสพสุข ทำงาน 9 โมง 10 โมง ทำอย่างอื่นเถอะ อย่าคิดที่จะมาดูดกินสังคม...สังคมในอดีตมันยังพอมีให้ดูดกินได้ แต่วันนี้บ้านเมืองนี้ไม่เหลืออะไรให้ดูดกินอีกแล้ว!
"อาจารย์ยักษ์ มหา’ ลัยคอกหมู"