9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
"ธนาคารต้นไม้" นำร่อง 984 สาขาทั่วไทย ปลดล็อก "บ้าน-ที่ดิน" เกษตรกรหลุดมือ
จากแนวคิด "พงศา ชูแนม" อดีตหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ จ.ชุมพร เจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียว และผู้นำการประชาสัมพันธ์เพื่อการป้องกันบุกรุกป่า องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารต้นไม้ที่ว่า "ต้นไม้ควรมีค่า ขณะที่มีชีวิต ไม่ใช่ต้องตัดตายเสียก่อนจึงมีค่า"
โดยแนวคิดดังกล่าวได้เกิดเป็นรูปธรรมครั้งแรกเมื่อปี 2548 มีรูปแบบโครงสร้างด้วยการนำต้นไม้ที่ปลูกมาฝากไว้ที่ธนาคารแล้วแปลงมูลค่าเป็นทรัพย์สิน มีชื่อว่า "ธนาคารต้นไม้" ภายใต้สโลแกน "พอเพียง มั่งคั่ง ยั่งยืน" มีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการชุมชนที่เป็นเครือข่ายชาวบ้าน จากนั้น ไสว แสงสว่าง อดีตผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาหลังสวนในขณะนั้นและเจ้าของรางวัลลูกโลกสีเขียวอีกรายนำไปต่อยอดกับลูกค้า ธ.ก.ส.ในพื้นที่ ภายใต้ชื่อโครงการปลูกต้นไม้ใช้หนี้ธนาคารต้นไม้ โดยมีหลักการว่า
"ที่ผ่านมารัฐบอกว่าการดูแลป่าเป็นหน้าที่ของรัฐ ตั้งหน่วยงานใช้งบประมาณมากมาย แต่ยิ่งทำป่ายิ่งหมด เราคิดว่าน่าจะส่งเสริมประชาชนที่ปลูกและดูแลต้นไม้ในพื้นที่ตัวเอง จ่ายเงินให้ต้นละ 100 บาทสำหรับต้นไม้อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มมูลค่าเมื่อต้นไม้อายุมากขึ้น ราคานี้เราได้จากกรมป่าไม้ที่คำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการปลูกป่าของภาครัฐ นี่คือการทำให้ต้นไม้มีค่าขณะมันมีชีวิต จากเดิมที่มีค่าต่อเมื่อแปรรูปขายเท่านั้น ถ้าทำได้จะแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินเกษตรกร รัฐจะได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มโดยไม่ต้องจ้างใครปลูกป่า แถมได้คนดูแลฟรีๆ ผลต่อเนื่องคือคนไม่เข้าไปตัดไม้ในป่าธรรมชาติอีกด้วย"
พงศา ย้อนอดีตให้ฟังอีกว่า หลังธนาคารต้นไม้มีความเข้มแข็งและขยายสาขาไปทั่วประเทศ ในที่สุดคณะกรรมการผู้นำชุมชนแห่งชาติ ที่มีตนเองเป็นกรรมการอยู่ด้วยนั้น ได้เสนอแนวคิดนี้ต่อรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จนมีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติว่าด้วย "การปลูกต้นไม้ใช้หนี้" เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 โดยมีงบประมาณสนับสนุนจากโครงการพัฒนาชุมชน/หมู่บ้านตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ปัจจุบันมีธนาคารต้นไม้กว่า 3,000 สาขากระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ภายใต้การนำของพงศา ชูแนม หากแต่เป็นการขับเคลื่อนโดยเครือข่ายชาวบ้าน ไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุน แม้ว่าจะบรรจุอยู่ในวาระแห่งชาติแล้วก็ตาม ถึงแม้ที่ผ่านมารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะประกาศเป็นนโยบาย พร้อมตั้งคณะกรรมการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน แต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อธ.ก.ส.ไม่ปฏิบัติตามหลักการที่คณะกรรมการธนาคารต้นไม้วางไว้ในทุกหัวข้อ
"ตอนแรกทำไมเรามุ่งเป้าไปที่ ธ.ก.ส. ก็เพราะเป็นหน่วยงานรัฐและประชาชนส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธ.ก.ส. ถ้าเราตีค่าต้นไม้เป็นอสังหาริมทรัพย์ เอาเข้าธนาคารน่าจะดีกว่าบ้านและที่ดิน ต้นไม้ก็อยู่ที่เดิม เป็นทรัพย์ไม่เคลื่อนที่เหมือนกัน แต่วันนี้คุณเอาเฉพาะดินกับบ้าน เวลายึดคุณยึดไปเลย ประชาชนก็สูญเสียที่ดินทำกิน ต่อไปนี้เราจะเอาต้นไม้ไปเข้าธนาคารแทน คิดบนพื้นฐานที่ว่าถ้าเอาต้นไม้ยุติธรรมกับธนาคารไหม มันอยู่ที่เดิมเหมือนกับบ้านและที่ดิน ดินมันเท่าเดิม 15 ปีมันก็ไม่เพิ่มขึ้น แต่ต้นไม้มูลค่าเพิ่มขึ้นและอยู่ที่เดิมด้วย หลักคิดง่ายๆ ต้นไม้เอาเข้าธนาคาร น่าจะดีกว่าที่ดินหรือบ้านด้วยซ้ำไป"
พงศาแจงข้อดีการใช้ต้นไม้ค้ำประกันแทนบ้านและที่ดิน เพราะจะช่วยให้ชาวบ้านไม่สูญเสีย มีที่ดินทำกิน หากมีปัญหาในเรื่องหนี้กับธนาคาร ซึ่งในแง่เศรษฐกิจ ชาวบ้านก็จะมีรายได้ตลอดเวลา ในที่สุดจะก้าวพ้นจากความยากจน แต่การปลูกต้นไม้ตามแผนดังกล่าวจะต้องมีเงื่อนไขว่าไม่โค่นต้นไม้เก่าทิ้ง แต่ให้ปลูกเพิ่มหรือเสริมต้นไม้เก่าที่ปลูกอยู่ก่อนแล้ว โดยใช้พันธุ์ไม้ที่มีความเกื้อกูลกันหรืออยู่ร่วมกันได้
ขณะที่ประเทศชาติก็ได้ต้นไม้ โดยรัฐไม่ต้องสูญเสียเงินลงทุน เพราะประชาชนเป็นผู้ลงทุนให้แทน อย่างไรก็ตามแม้รัฐจะรับรองเป็นมูลค่าในบัญชีธนาคารต้นไม้แล้วก็ตาม แต่รัฐยังไม่ได้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นรัฐจึงควรตอบแทนประชาชนด้วยการจ่ายดอกเบี้ยแทนประชาชนด้วย โดยการตีมูลค่าจากต้นไม้ที่ปลูกไว้ในแต่ละปีด้วย
ส่วนประชาชนที่ไม่เป็นหนี้ รัฐก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เหมือนกัน แต่เป็นเงินฝากในอัตราเท่ากับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ประชาชนจ่ายกับ ธ.ก.ส.ซึ่งเป็นการจัดสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน ทั้งยังเป็นแรงจูงใจในการปลูกต้นไม้ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เมื่อมีต้นไม้เกิดขึ้นในประเทศ ไม่ว่าที่ดินนั้นโดยการครอบครองของใครก็ตาม ถือว่าเป็นต้นไม้ของประเทศไทย
"เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2553 ธ.ก.ส.ประกาศว่าจะทำเอง จึงไม่ส่งรายงานให้รัฐบาล แต่เขากลับไม่ได้ทำทุกข้อ คณะกรรมการธนาคารต้นไม้ไม่ยอม เป็นการบีบเราไม่ให้เกิด จนเกิดแตกหัก สุดท้ายก็เลยมาจับมือกองทุนฟื้นฟู โดยให้กองทุนฟื้นฟูเข้าไปซื้อหนี้ก่อน แล้วผลักดันให้กองทุนฟื้นฟูรับ ยังไงผมเชื่อ 100% ว่าธนาคารต้นไม้มันต้องเกิด ถ้าไม่เกิดถือเป็นความล้มเหลวของชาติ จะปล่อยให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกินปีละแสนครัวเรือนไม่ได้ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปเชื่อว่าไม่กี่ปีที่ดินก็จะตกไปอยู่ในมือของนายทุนหมดแน่" รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารต้นไม้กล่าวย้ำ
ธนาคารต้นไม้ภายใต้สโลแกน "พอเพียง มั่งคั่ง ยั่งยืน" นอกจากจะนำมาซึ่งความความมั่งคั่งยั่งยืนแล้ว ยังช่วยชะลอภาวะโลกร้อนและช่วยให้เราสามารถส่งมอบแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ให้แก่คนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปด้วย
984 สาขาถวายองค์ราชันย์
วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์ มหา'ลัยคอกหมู ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคารต้นไม้กล่าวถึงโครงการนำร่องธนาคารต้นไม้ 984 สาขาต้นแบบเพื่อถวายองค์ราชันย์ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา หรือ 7 รอบในปี 2554 นี้ ว่าขณะนี้คณะกรรมการได้เร่งดำเนินการสำรวจสาขาที่มีความพร้อมมากที่สุดและได้ดำเนินการตามหลักการของธนาคารต้นไม้ในทุกขั้นตอนมาเป็นแบบอย่างในโครงการนำร่องดังกล่าว
"ขณะนี้เรามีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนในด้านงบประมาณบางส่วน แต่สิ่งสำคัญทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม มีใจที่จะทำให้มันเกิดให้ได้ เพราะผลที่ได้รับทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ชาวบ้านก็ได้ต้นไม้ ประเทศชาติก็ได้ผืนป่า ภาคเอกชนก็ได้คาร์บอนเครดิตไป ไม่มีใครเสียอะไรเลย ถามว่าทำไมต้องนำร่องที่ 984 สาขาก่อน เพราะปีนี้ในหลวงรัชกาล 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา พวกเราจึงถือตัวเลขนี้เป็นเลขมหามงคลจะได้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป" อ.ยักษ์ กล่าวทิ้งท้าย
"สุรัตน์ อัตตะ "