9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
สอนว่ายน้ำบนกระดานดำ...เลิกทำเสียทีเถิด
การปฏิรูปการศึกษานั้นเป็นแนวทางที่หลายคนรู้ว่าจำเป็น และเราก็มีการปฏิรูปการศึกษากันหลายรอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับการสอนว่ายน้ำบนกระดานดำ คือพูดกันไป เถียงกันไป บันทึกคำโก้ๆ ถกกันด้วยคำใหญ่โต ได้กระดาษสวยหรูมาปึกหนึ่ง แต่พอลงไปปฏิบัติ...คนปฏิบัติกลับทำเหมือนเดิม
อาจารย์ยักษ์จึงคิดว่า การปฏิรูปนั้นไม่ทันเสียแล้ว จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงแบบยกใหญ่ เรียกว่าปฏิวัติ เพื่อที่จะผลิตคนให้มีคุณภาพใหม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เราตกลงร่วมกัน การบริหารประเทศที่ผ่านมา แม้ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาใหม่นี้ ผู้บริหารประเทศล้วนแล้วแต่มาจากนายทุน มาจากคนรวย มาจากคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี
คนเหล่านี้เป็นผู้กุมอำนาจในการบริหารการศึกษาผ่านกลไกรัฐ ผ่านกลไกสื่อ ผ่านกลไกระบบการศึกษา ซึ่งมองเห็นตรงกันแล้วว่า เป็นไปเพื่อให้คนยอมจำนน จำนนต่อการเป็นผู้รับ จำนนต่อเงิน จำนนต่ออำนาจ จำนนต่อความรู้ที่เหนือกว่า ที่ผ่านมาเราถนัดมากในการที่จะปลูกจิตสำนึกโดยใช้ทุกกลไกทุกอย่างในมือ แต่เป็นไปเพื่อปลูกจิตสำนึก “ขอทาน” ให้แก่คนไทย เป็นจิตสำนึกที่ยอมจำนนกับทุกสิ่งที่เหนือกว่า
เราเชื่อว่าความรู้ที่มาจากต่างประเทศก็เหนือกว่าความรู้พื้นบ้าน คนที่จบมาจากต่างประเทศ พูดภาษาฝรั่งได้โก้เก๋นั้นเหนือกว่าเรา เรามองว่าเขาเป็นคนมีเงินมากกว่าเรา มีอำนาจวาสนาเหนือกว่าเรา สิ่งเหล่านี้ถูกปลูกฝังต่อๆ กันมาจนหยั่งรากลึกลงไปในรากของสังคม และหากความคิดเช่นนี้ยังคงอยู่ในวิถีคิด จนนำไปสู่วิธีปฏิบัติ ความเป็นประชาธิปไตยจะไม่มีวันเกิดได้เลย
ดังนั้น หากต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่แท้จริง จำเป็นจะต้องมีการปลูกฝังอย่างถูกต้อง โดยผู้ที่ปลูกฝังหรือครูนั้นก็ต้องรู้จริง เพราะถ้าครูไม่ได้มีจิตสำนึกประชาธิปไตยแท้แล้ว สุดท้ายก็กลับไปเหมือนเดิม คือ เอาแต่สอนว่ายน้ำบนกระดานดำอยู่นั่นเอง
แนวทางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง อันดับแรก คือ ครูที่อยู่ในระบบการศึกษาทั้งหมดทุกโรงเรียน ทุกมหาวิทยาลัย ต้องเรียนรู้ประชาธิปไตยเพื่อที่จะฝึกฝนให้เด็กมีประชาธิปไตย กลุ่มที่สองถือเป็นบุคคลต้นแบบ และเป็นกลุ่มสำคัญ คือ นักการเมือง ทุกพรรคการเมืองต้องกลับไปถามตัวเองว่ามีประชาธิปไตยจริงหรือยัง ถ้าไม่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยจริง ก็ไม่สามารถบริหารประเทศให้เป็นประชาธิปไตยได้
อย่างกรณีโพธิวิชชาลัย ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของการศึกษา อาจารย์ยักษ์เคยเขียนถึงหลายครั้ง ความเป็นนวัตกรรมนั้นดูจากเป้าหมายในการก่อตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนึกรักบ้านเกิด สำนึกที่จะเป็นคนดีมีวินัย สำนึกในความเป็นประชาธิปไตย มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เพราะสังคมโลกต้องการประชาธิปไตย
ประการที่สอง ความสามารถในการพึ่งตนเอง ทำอย่างไรให้เด็กที่จบระดับปริญญาตรี จะไม่เป็นภาระต่อใคร ไปอยู่ที่ไหนก็หาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ใช่แบมือขอเงินพ่อแม่ ให้พ่อแม่ ให้ครอบครัวเลี้ยงจนถึงมีลูกมีเต้าอย่างนี้ใช้ไม่ได้ และประการที่สาม คือ เมื่อเรียนจนจบถึงปริญญาตรีก็น่าที่จะสามารถค้นหาความถนัด ความเชี่ยวชาญของตัวเองได้ และเป็นคนมีคุณภาพพื้นฐานที่ดี จึงสามารถที่จะเจียระไนเป็นอะไรก็ได้ ดังนั้น เขาก็จะเป็นคนที่สามารถที่จะสร้างนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาให้แก่สังคม ประเทศชาติได้
หัวใจสำคัญของการปฏิวัติการศึกษาฉบับอาจารย์ยักษ์ จึงไม่ใช่เรื่องเลิศหรู ไม่ได้เป็นคำใหญ่โตที่เอาเข้าจริงแล้วปฏิบัติไม่ได้ แต่เป็นเพียง 3 ข้อสั้นๆ ที่จะเป็นเบ้าหลอมให้คนที่ “ไร้วินัย ทำอะไรไม่เป็น หาจุดเด่นไม่เจอ คิดแต่เรื่องเพ้อเจ้อไร้สาระ” ให้กลายมาเป็นคนที่ “ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา” และหากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ต้องเพิ่มการกตัญญูต่อแผ่นดินและจิตสำนึกรักบ้านเกิด
เท่านี้การศึกษาที่สร้างปัญหามาตลอดก็จะได้โอกาสแก้ไขความผิดพลาดของตนเอง แบบทำจริง ทำได้ ไม่เปลืองกระดาษ เปลืองเวลา แต่ต้องทำจริงและทำใหญ่ในความหมายของคำ “ปฏิวัติ”
"อ.ยักษ์ มหา’ลัยคอกหมู"