9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
วิจัยแบบไหนไม่ขึ้นหิ้ง (3)
อาจารย์ยักษ์เล่าถึงแนวทางการวิจัยแบบที่ไม่ขึ้นหิ้งติดต่อกันมาเป็นตอนที่ 3 เพราะเชื่อว่า นี่คือสิ่งสำคัญ และเป็นความเป็นความตายของผู้คนในสังคม จึงให้ความสำคัญและใช้พื้นที่คอลัมน์พอแล้วรวย ผ่าน คม ชัด ลึก บอกเล่าถึงผู้คนที่มีอำนาจหน้าที่และมีส่วนเกี่ยวข้องได้คิดเห็นร่วมกัน ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้น อาจารย์ยักษ์คงไม่สามารถไปบังคับได้ แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า แม้วันนี้จะยังคงสุขสบายอยู่ ยังคงมีรายรับประจำทุกเดือนจากรัฐบาล หากลองมองดูความเป็นจริงของภาครัฐ ก็จะเห็นว่าภาครัฐเองก็กำลังจะแย่ เหมือนพ่อที่กำลังถังแตกอยู่ แต่สิ้นเดือนพ่อก็ต้องหาเงิน ควักเงินมาใส่กระเป๋าให้ลูก ลูกเองก็ไม่ได้เอะใจ ไม่ได้ตระหนักว่าพ่อกำลังสูบเลือดตัวเองให้ลูกกิน เพราะคิดแต่ว่า พ่อแม่รวย จะทำอะไรก็ได้ จะเสพสุขอย่างไรก็ได้
แล้วเมื่อวันหนึ่งที่ความจริงปรากฏ พ่อมาร้องไห้ต่อหน้าลูก หรือไม่มีเงินให้ลูกอีกแล้ว ครอบครัวนี้จะเป็นอย่างไร
ในฐานะของสถาบันการศึกษา ด้วยบทบาทของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทั้ง 40 มหาวิทยาลัย จะต้องตระหนักถึงบทบาท 4 ประการ คือหนึ่ง จะต้องสอน ต้องสร้างคนขึ้นมาใหม่ หาความรู้ขึ้นมาใหม่ ปั้นคนขึ้นมา ปั้นนักวิจัยขึ้นมาทำงานบริการ และจะต้องไม่เพียงแค่สอนในขอบเขตรั้วของตัวเองเท่านั้น แต่จะต้องเอื้อมมือไปจับกับระดับจังหวัด
เช่นมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้ไปเซ็นเอ็มโอยูไว้กับผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัดคือนครนายก ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา มหาวิทยาลัยจะต้องตระหนักว่าจะทำอะไรที่จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ สิ่งใดที่เป็นศิลปะ วัฒนธรรมดีๆ เช่น อารยธรรมการผลิต อารยธรรมลุ่มน้ำ จะต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ รักษาไว้ในสิ่งที่เป็นอารยธรรม ไม่ใช่หายนะธรรม
หากทำเช่นนี้ได้ในพื้นที่ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ โลกจึงจะไม่ขาดอาหาร เราจะต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารขึ้นมา ต้องธำรงรักษาวัฒนธรรมชาวนาที่เป็นความมั่นคงทางด้านการผลิตเอาไว้ให้ได้ โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ หรือประเด็นวัฒนธรรมด้านภาษา เป็นเรื่องที่ดีงาม เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ทำไมไม่วางแผนรักษาเอาไว้ ความหมายของวัฒนธรรม มันมีความลึกซึ้งมาก เป็นทั้งวิธีคิด และวิถีชีวิต หรือฝรั่งเรียกว่า Way of thinking, Way of life วัฒนธรรมคือชีวิต คือจิตวิญญาณ ที่วิ่งพล่านอยู่ในสายเลือด ไม่ใช่มีความหมายเพียงแต่เต้นกำ รำเคียว
วัฒนธรรมของเราเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ เช่น วัฒนธรรมการเดินเรือ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความชาญฉลาด การแข่งเรือที่เห็นเป็นเพียงแค่ประเพณี แท้จริงแล้วแฝงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และจิตใจที่จะต้องรักษาแม่น้ำคูคลองเอาไว้ให้สะอาด เพราะหากไม่มีแม่น้ำสะอาดจะแข่งเรือได้อย่างไร
ดังนั้น มีการแข่งเรือได้ ก็แปลว่าต้องรักษาแม่น้ำลำคลอง จึงจะมีสนามแข่งเรือ
นอกจากนั้น คูคลองยังเอาไว้ขนส่ง เอาไว้ทำอะไรต่ออะไร ที่มีประโยชน์มากมาย ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงยิ่งต้องกล้า อาจหาญ ลุกขึ้นสู้ ใส่องค์ความรู้ลงไป ปลุกระดมคนทั้งลุ่มน้ำ ให้ผูกพันกับสายน้ำ ต้องชักชวนกันมาถอยหลังเข้าคลอง เพราะในทะเลมีพายุใหญ่ หากพากันออกทะเลไปก็จะยิ่งสูญเสีย จำเป็นต้องถอยหลังเข้าคลอง
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ ไม่ใช่วิจัยแล้วต้องไปปลูกต้นไม้อย่างเดียว ไม่ใช่มีความหมายเพียงแค่นั้น ต้องวิเคราะห์ถึงผลกระทบระดับโลก การค้าเสรี การเกิดสงครามในประเทศผลิตน้ำมัน น้ำมันราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบอะไรกับมหาวิทยาลัย ส่งผลกระทบอะไรกับหลักสูตรที่สอนอยู่ หากเชื่อมโยงไม่ได้ยังคงสอนไปตามเดิม ผลกระทบจะถึงลูกถึงหลาน
เมื่อถึงวันนั้นจะคิดอ่านปรับตัวก็คงไม่ทัน ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่ในวันนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองไปข้างหน้า และผลิตงานวิจัยหาองค์ความรู้ นำมาพัฒนาหลักสูตร ผลิตบัณฑิตไปดักหน้าอนาคต เป็นเสาหลักของแผ่นดินให้ได้ เมื่อทำดังนี้ได้ มหาวิทยาลัยก็จะรอดด้วย ไม่เช่นนั้น ทั้งประเทศก็จะจมอยู่กับอวิชชา ก็ล่มจมกันทั้งมิถิลา ตั้งแต่คนรักษาช้าง คนรักษาม้า ไปจนถึงอุปราช โดยเฉพาะเหล่าอำมาตย์
แต่เมื่อเหตุการณ์วันนี้แสดงความจำเป็น อาจารย์ยักษ์ก็เชื่อว่า หากแม้นมิถิลาเองยังไม่สิ้นคนดี สยามประเทศก็น่าจะมีคนหาญกล้าลุกขึ้นมานำพาประเทศ
ด้วยคบไฟแห่งปัญญาเช่นกัน
"อาจารย์ยักษ์ มหา’ ลัยคอกหมู"