9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ยุทธศาสตร์ภาคประชาชน เพื่อรับมือวิกฤติการณ์ (2)
ยุทธศาสตร์ภาคประชาชนเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ เรายึดเอาชัยภูมิที่ตั้งหลักของเรา คือ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติที่เป็นเครือข่ายกันทั่วประเทศกว่า 50 ศูนย์ รวมศูนย์เตรียมการ 30 ศูนย์ อาศัยจุดเด่นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และเครือข่ายใยแมงมุมภาคประชาชนเข้าต่อกรกับวิกฤติการณ์
การยกระดับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ สู่ “ค่ายกสิกรรมธรรมชาติ” ซึ่งเป็นทั้งค่ายอพยพที่มีทั้งอาหาร ที่พัก ความรู้ หรือถ้าศูนย์มีกำลังไม่เพียงพอก็มีแผนรับมือทั้งการวิเคราะห์แนวโน้มวิกฤติที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของแต่ละศูนย์ ด้วยข้อมูลที่ทีมข่าวรวบรวมจากทุกหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ทั้งคำเตือนจากผู้รู้ การทำนายด้วยศาสตร์แห่งโหราพยากรณ์ การหยั่งรู้ด้วยฌานจากพระเกจิอาจารย์ที่ท่านหวังดีเตือนมาซึ่งข้อมูลเหล่านี้
ทางวิทยาศาสตร์แล้วเขาไม่เชื่อ แต่เครือข่ายเราไม่ได้ละเลย ติดตามรับฟังแล้วสำทับด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากเว็บไซต์หน่วยงาน ทั้งจากภายในประเทศและจากหน่วยงานต่างประเทศ ทำให้เรื่องข้อมูลของเราเปิดกว้างรับทุกข่าวสาร ผ่านตัวกรองคือ สติ ปัญญา ยึดหลักไม่ตระหนก แต่ตระหนัก จึงกลายเป็นจุดได้เปรียบเพราะเครือข่ายเราเป็นแบบบ้าน
บ้าน จึงฉีกกรอบของทฤษฎีวิทยาศาสตร์ มาเชื่อมเข้ากับโหราศาสตร์ ศรัทธา ผนวกความรู้แบบบ้านบ้าน การดูพฤติกรรมสัตว์ และข้อมูลความผิดปกติที่เกิดขึ้นในพื้นที่แบบทันทีทันควัน ก็พอทำให้เราเป็นเครือข่ายที่มีข้อมูลทุกด้านมาแลกเปลี่ยนเพื่อวิเคราะห์ร่วมกัน
เมื่อมีความรู้แล้วก็ต้องมีแผนดำเนินการ แผนยุทธศาสตร์รับมือวิกฤติการณ์ของเครือข่าย เกิดจากการระดมสมองของผู้นำศูนย์ของแต่ละภาค เข้าร่วมเอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยน แล้วกำหนดทิศทางการรับมือที่เหมาะสมของแต่ละภาค
ทั้งด้านการพัฒนาคน การจัดการด้านสถานที่ เตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์ วางเส้นทางอพยพ สถานที่พักและการเตรียมอาหารให้พร้อมรับมือในจำนวนคนที่กำหนดขึ้น เช่น ศูนย์ภาคใต้วางแผนว่า หากเกิดเหตุขึ้นที่ชุมพร ศูนย์ชุมพรคาบาน่า คาดจะรับคนได้ 200 คนในเวลา 30 วัน นานกว่านั้นไม่ไหวต้องขอความช่วยเหลือไปที่ศูนย์วัดป่ายาง จ.นครศรีธรรมราช หรือไปเชื่อมศูนย์ทุ่งสง จ.สุราษฎร์ธานี ที่เชื่อมกันเป็นเครือแห เมื่อแต่ละศูนย์ทราบแผนแล้วก็กลับไประดมสรรพกำลังเตรียมพร้อมกัน
อาจารย์ยักษ์ก็ได้ติดตามลงไปดูการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของภาคต่างๆ โดยเชื่อว่าภาคประชาชนอย่างเรานี่แหละ จะต้องเตือนตัวเอง วางแผนรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะกระทบถึงเรา-ท่านแน่ๆ ด้วยตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีเฉพาะภัยพิบัติธรรมชาติเท่านั้น โรคระบาด วิกฤติเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางสังคมอย่างเหตุการณ์สู้รบชายแดนไทย-กัมพูชาก็เป็นเหตุที่จะต้องเตรียมตัวรับมือให้พร้อม นอกจากนั้นหัวใจสำคัญของการวางยุทธศาสตร์ในช่วง 6เดือนต่อจากนี้ไปของเครือข่ายภาคประชาชน คือ การประสานสิบทิศ เพราะอาจารย์ยักษ์เชื่อเหลือเกินว่าเหตุที่เราจะต้องเผชิญนั้นจะหนักหนาและรุมเร้าเกินกว่าที่ภาคประชาชนจะรับมือได้ตามลำพัง
ดังนั้น เมื่อลงไปทำงานในพื้นที่จะต้องประสานกับ 5 ภาคีให้ได้ เช่น ประสานกับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นเพื่อทราบข้อมูล ประสานกับอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ที่มีความชำนาญในหลายๆ ด้าน ประสานกับวัดหรือโรงเรียนที่มีสถานที่พร้อมรับคนในชุมชน ถ้าภาคเอกชนจะเข้าร่วมด้วยเพราะก็อยู่ในพื้นที่เดียวกัน สื่อมวลชนเข้าร่วมด้วยก็จะเป็นการวางแผนรับมือที่ทุกฝ่ายรับทราบร่วมกัน ก็จะเป็นแนวทางที่จะทำได้สำเร็จในรูปแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับการขับเคลื่อนลุ่มน้ำ
ยุทธศาสตร์ภาคประชาชนเพื่อรับมือวิกฤติ จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่เริ่มด้วยประชาชนแต่จะสำเร็จได้ต้องลงไปจับมือกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ให้ครบทั้ง 5 ภาคี คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสื่อ โดยมีเป้าหมายร่วมกันเอาปัญหาเป็นหลัก เอาวิกฤตินำหน้าหาทางรอดร่วมกัน โดยไม่เลือกมิตร-ศัตรู
เพราะยามเกิดเหตุขึ้นจะเหลือเพียง “ผู้ประสบภัยพิบัติ” และ “ผู้ร่วมชะตากรรม” ที่จะรอดได้ด้วย รู้-รัก-สามัคคี เท่านั้น
"อาจารย์ยักษ์ มหา’ลัยคอกหมู"