9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
อุตสาหกรรมพอเพียง
อาจารย์ยักษ์ได้รับคำถามเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับภาคอุตสาหกรรมหลายครั้ง คำถามส่วนใหญ่สะท้อนความคิดความเชื่อ เจตนาที่ดีของผู้ถาม ที่พยายามจะนำกรอบคิดของตะวันตกมาทำความเข้าใจและอธิบายปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกล่าวได้ว่าอาจถูกต้องเพียงครึ่งเดียว และเมื่อผู้ถามได้รู้สึกหรือคิดเอาเองว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็เหมือนกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทฤษฎีนั้น ทฤษฎีนี้ ที่ตนเองรู้จัก ก็รู้สึกสบายใจ โล่งใจ อ๋อ...เข้าใจแล้ว ที่แท้ก็เป็นเช่นนั้น เช่นนี้นี่เอง
เหตุการณ์เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นความคิด ความเชื่อว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ยังถูกจำกัดอยู่ในกรอบคิดของทุนนิยมเสรี ผู้มีปัญญาแม้จะเห็นทางหรือสนใจในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้วก็ตามแต่ก็ยังไม่อาจนำตนเองให้หลุดพ้นจากกรอบคิด หลักการที่ถูกบ่มเพาะมาได้ แต่อาจารย์ยักษ์ว่าอย่างน้อยก็ยังเป็นแนวโน้มที่ดีกว่าเมื่อก่อน ที่ล้วนมองว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรกับการดำเนินชีวิต เป็นเรื่องของการหาอาหารใส่ปาก ใส่ท้องเพื่อให้พออยู่ พอกิน พอใช้ เพื่อผลักดันให้เป็นเรื่องไกลตัวไม่สามารถปฏิบัติได้ในภาคอุตสาหกรรม หรือไม่เช่นนั้นก็ทำให้เป็นเรื่องง่ายๆ พื้นๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างข้อจำกัดให้ตนเองทั้งสิ้น
หากมองย้อนกลับไปในอดีต จะเห็นถึง พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปี 2540 ซึ่งครั้งนั้นประเทศชาติต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่รุนแรง ผลกระทบจากเศรษฐกิจตาโต ก่อความเดือดร้อนแสนสาหัสให้กับพสกนิกรของพระองค์ นั่นก็มาจากเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมล่มสลาย แต่แล้วเมื่อพระองค์พระราชทานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง กลับถูกจำกัดการตีความและนำไปใช้กับภาคเกษตร กับชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เท่านั้น บอกว่าไม่เหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรม เพราะหาตัวชี้วัดไม่ได้ ไม่เป็นทฤษฎี เพราะไม่มีหลักการทางวิชาการตะวันตกรองรับ ทั้งเชื่ออย่างปักใจ หรือบางท่านก็แสร้งทำเป็นหลงลืมว่า...ก็เพราะหลักการทางวิชาการตามปรัชญาตะวันตก ที่กำหนดกฎเกณฑ์ถูกต้องเหมาะสมตามที่ร่ำเรียนมานั้นมิใช่หรือ ที่ส่งผลเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่
ด้วยเหตุที่ต้องการชี้ให้เห็นในจุดนี้ ผนวกกับได้มีโอกาสพบกับ คุณวริสร รักษ์พันธุ์ เจ้าของชุมพรคาบาน่า เมื่อหลายปีก่อน อาจารย์ยักษ์จึงได้ชี้แนะแนวทาง และให้หลักคิดบางประการกับคุณวริสร เพื่อการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงกับอุตสาหกรรมบริการ จนวันนี้ชุมพรคาบาน่า กลายเป็นต้นแบบอุตสาหกรรมพอเพียงด้านการบริการ
นอกจากนั้นในเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงเอง ยังมีอุตสาหกรรมการผลิต คือ อุตสาหกรรมน้ำตาลเคเอสแอล ซึ่งเพียรพยายามที่จะสร้างกระบวนการผลิตอ้อยอินทรีย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำตาล ผลิตพลังงานและปุ๋ยอินทรีย์อย่างเป็นระบบ โดยไม่มีของเสียทิ้งลงสู่ธรรมชาติเลย อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมผลิตกระดาษรีไซเคิล ริเวอร์โปรกรุ๊ป ผลิตผลิตภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิลเพื่อทำกระดาษทิชชูรีไซเคิลไม่ฟอกสี โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของภาคอุตสาหกรรมที่น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงสู่ภาคปฏิบัติซึ่งมีทั้งที่เพิ่งเริ่มต้น กำลังค้นหาแนวทางที่เหมาะสม และที่ทดลองนำร่องจนเข้าใจตนเอง เกิดการระเบิดจากข้างใน จนสามารถชี้นำทางคนอื่นได้แล้วอย่าง ชุมพรคาบาน่า หรือริเวอร์แควกรุ๊ป
เศรษฐกิจพอเพียงกับอุตสาหกรรมจึงมิใช่เรื่องทำยาก ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ หากแต่เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องต้องศึกษาตีความจากหลักปรัชญาเดียวกันกับภาคเกษตร คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่เมื่อเป็นปัญญาชนก็ต้องรู้จักจำแนก ต้องถอดอคติ โมหคติ ออกวาง เปิดใจให้กว้าง ทำความเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องของการใช้วัตถุดิบในชุมชน การรับผิดชอบต่อสังคม การทำงานด้วยหลักสิทธิมนุษยชน การลดการปลดปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือทุกเรื่องรวมกันเท่านั้น
ที่สำคัญไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะใช้ตัวชี้วัดที่กำหนดจากฐานคิด ปรัชญา และความเชื่อทางตะวันตกเพียงอย่างเดียวแล้วนำมาชี้วัดผลสำเร็จได้ เพราะหากทำเช่นนั้น ก็จะเป็นการทำตัวเหมือน “ตาบอดคลำช้าง” แล้วนำไปขยายผลว่าช้างนั้นมีหน้าตาเช่นนั้น เช่นนี้ ทั้งที่จริงหาได้เห็นช้างทั้งตัวก็หาไม่
อาจารย์ยักษ์จึงอยากชวนให้มาดูการทำงานของภาคอุตสาหกรรมบริการและภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความสลับซับซ้อนลึกซึ้ง ในตอนต่อไป
"อาจารย์ยักษ์ มหา’ ลัยคอกหมู"