9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ภารกิจเร่งด่วนหลังน้ำลด (2)
ฉบับที่แล้ว อาจารย์ยักษ์พูดถึงเรื่องข้อมูลในยุคปัจจุบัน ที่มีพร้อมและจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบอกให้ผู้คนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่เสี่ยงภัยได้รับรู้ ทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จากดาราศาสตร์ และข้อมูลสำคัญต่างๆ มากมาย ที่ยืนยันว่าภัยพิบัติที่ไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ นั้น บัดนี้ เดี๋ยวนี้มันเป็นไปได้ทั้งหมดแล้ว
ความรู้ที่สองที่จำเป็นต้องแพร่ลงไป คือ ข้อมูลจากปฏิกิริยาจากสัตว์ ซึ่งมีสัญชาตญาณ และสามารถบอกความเปลี่ยนแปลงหรือภัยธรรมชาติได้ ดังนั้น ระบบข้อมูลที่จะเตือนภัย ต้องเตรียมให้พร้อมและแจ้งให้แก่ทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัย สำคัญที่สุดจะต้องฝึกประชาชนให้รู้ล่วงหน้า ถ้าเขาอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยและแก้ไขไม่ได้ อพยพหนีก็ไม่ได้ ผู้ปฏิบัติการหรือคนที่เข้าไปช่วยเหลือ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะให้เขาย้ายบ้าน หรือจะให้เขาขายที่ดินทิ้ง รื้อบ้านแล้วไปปลูกใหม่ พูดง่าย แต่ทำไม่ง่าย ก็ต้องเตรียมอพยพเพราะหากมีหินถล่มลงมาถ้าคนหนีออกไปเสียก็แค่บ้านพัง ความเสียหายก็แค่บ้านพัง นี่ก็คือเพื่อให้คนเอาชีวิตให้รอด แล้วหากยังไม่สามารถย้ายบ้านช่องถิ่นฐานได้ก็ต้องว่ากันว่าจะรับมืออย่างไร มีงานมากมายที่ต้องทำ แต่พื้นฐานที่สำคัญคือต้องฝึกคนเหล่านี้ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้พร้อมสำหรับการเตรียมการอพยพ จะอพยพอย่างไร จะเอาอะไรติดตัวไปบ้าง ถ้ามีสัญญาณเตือน
ทั้งสัญญาณที่มาจากธรรมชาติ และสัญญาณที่มาจากวิทยาศาสตร์ ซึ่งข้อมูลนี้ ทีม ดร.รอยล เขามีข้อมูลอยู่และเต็มใจที่จะมาช่วยกัน จะเชื่อมโยงกับ อบต. เทศบาล จังหวัดอย่างไร นี้คืองานที่ต้องเตรียมการเร่งด่วน และสองวางแผนการอพยพอย่างไร จะเดินทางอย่างไร ถ้ามีสัญญาณเตือนว่าอีก 2 ชั่วโมงจะต้องอพยพ จะขนคนอย่างไร จะเดินทางอย่างไร หนีไปไหน ไปอยู่ที่ไหน ต้องไปสำรวจ วัด โรงเรียน หรือสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อไปซุกหัวนอนอยู่ จะไปหลบฝน หลบแดดอย่างไร จะไปกิน ไปนอนอย่างไร อาหารจะเอาที่ไหน น้ำจะเอาที่ไหน ยา หมอ ต้องเตรียมแผนไว้ล่วงหน้า ทั้งหมดต้องเตรียมการล่วงหน้า ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นอย่างยถากรรมอย่างวันนี้ คือเกิดแล้วก็เจ็บตายกันเป็นเบือ
อันที่สอง พอเตรียมแล้วก็ต้องมีการซักซ้อมว่าใครจะเป็นคนเตือนบ้าง เตือนด้วยวิธีไหน ระบบเสียงตามสายที่มีอยู่ในชุมชนแล้วยังใช้งานได้หรือเปล่า ต้องไปดู ไปซ่อมบำรุง เพราะพอเกิดเหตุการณ์ขึ้นโทรศัพท์ใช้ไม่ได้ อินเทอร์เน็ตใช้ไม่ได้ จะทำอย่างไร ดร.รอยล ท่านแนะนำให้ใช้ระบบวิทยุสื่อสารธรรมดา แบบที่ตำรวจ ทหารหรืออำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเขาใช้ หรือแม้แต่ศูนย์ฝึกของเราก็ยังมี สิ่งของจำเป็นพวกนี้ต้องเตรียมไว้ ต้องเตรียมพร้อมรับมือขณะเกิด ส่วนขั้นสอง ขั้นสามก็ต้องเตรียมแต่ไม่เร่งด่วนเท่าขั้นที่หนึ่ง ที่เร่งด่วนนี้ใครจะเตือน เราก็เตรียมการเท่าที่เราทำได้ 50 กว่าศูนย์ฝึก ก็จะเตรียมการกับทีม ดร.รอยลว่า พื้นที่เสี่ยงภัยมีอยู่ตรงไหนบ้าง ศูนย์ของเราอยู่ในพื้นที่ไหน เราจะตั้งฐานเตรียมไว้ช่วยคน เพราะในศูนย์ของเรา เราให้เตรียมไว้ เตรียมอาหารไว้ช่วยคน เราบอกว่าสัก 200 คน สักเดือนสองเดือน อย่างไรก็ต้องมีเลี้ยงอาหาร การกิน พอเลี้ยงกันได้ ถูลู่ถูกังกันไป พอได้ ไม่อดตายแน่ เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติทั้ง 50 ศูนย์ก็จะเตรียมศูนย์ของเรา ถ้ามีกำลังเสริม
จากภาคเอกชนลงมา ภาคสื่อมวลชนลงมา ภาครัฐลงมา เราก็จะมีกำลังเพิ่มมากขึ้น เครือข่ายเราก็อาจจะเตรียมรับคนเป็นพันก็ได้ ถ้ามีปัญหาเป็นเดือน ท่วมเป็นเดือน ก็ยังพออุ้มชูกันได้ตามอัตภาพ เฉพาะหน้าเราจะทำอย่างนี้ ทั้งหมดนี้เรามีหลักสูตรฝึกอยู่แล้ว เราฝึกกันมาแล้วหลายครั้ง แต่ว่าเราก็เตรียมที่จะฝึกกันอีก เพียงแต่ว่าเราก็ทำได้ตามกำลังของเรา ประเภทบ้าน บ้านของเรา เราไม่มีงบประมาณจากรัฐ ไม่มีกำลังพล เราก็ได้แต่อาสาสมัครมาฝึกกัน แต่ถึงแม้ขาดแคลนก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเราเชื่อมั่นว่าเรามีปัญญา และความอดทน ที่จะสู้กันทุกวิกฤติที่จะเกิดขึ้น ส่วนความหวังที่ตั้งไว้ว่าภาคส่วนต่างๆ จะมาร่วมกับเรานั้นจะเป็นจริงหรือเปล่า อาจารย์ยักษ์ก็ขอยกให้แก่พระสยามเทวาธิราชแล้วกัน
อาจารย์ยักษ์ มหา’ลัยคอกหมู