9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ทางรอดสังคมไทย ฝากไว้กับ 40 ราชภัฏ (2)
สัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติได้ร่วมกันจัดงานยิ่งใหญ่ “มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน : วิถีบ้าน บ้าน ผ่านวิกฤตได้จริง” ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ซึ่งปีนี้นับว่าประสบความสำเร็จทั้งจากความสุขที่ฝากไว้ให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม ซึ่งเกิดจากการพร้อมใจกันนำวิถีบ้าน บ้านมาจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการกลางแจ้งจากชาวเครือข่ายทั้ง 4 ภาค
การจัดงานครั้งนี้ อาจารย์ยักษ์ตั้งใจว่าจะสะท้อนให้เห็นวิถีแบบบ้านเราแต่เดิม ที่ทำให้เกิดความสุข ความสมบูรณ์ และความพอเพียงมาแต่โบราณ ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการกำเนิดของมหาวิทยาลัยราชภัฏในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงกำเนิดของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่งจะพบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏมีรากฐานมาจากการเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครู” ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยครู” และได้รับพระราชทานนาม “ราชภัฏ” จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้เป็นชื่อประจำสถาบัน พร้อมทั้งพระราชทานตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 ให้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง
ความข้างต้นนี้มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ และเหล่าบรรดาชาวราชภัฏก็ตระหนักถึงภารกิจที่ตัวเองได้รับมอบหมายไว้ ในฐานะที่พระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนาม “ราชภัฏ” อันมีความหมายถึง “คนของพระราชา” และตราประจำมหาวิทยาลัยนั้นก็ได้รับพระราชทานตราประจำรัชกาลของพระองค์มาใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังได้รับมอบหมายภารกิจที่โดดเด่นและมีอัตลักษณ์ คือการเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” ประกอบกับการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศถึง 40 แห่ง อันเปรียบเสมือนการยึดฐานที่มั่นของชาติไว้โดยรากฐานการเป็นวิทยาลัยครูอยู่แล้ว การที่จะทำหน้าที่สืบทอดภูมิปัญญาที่คนรุ่นเก่ารักษาเอาไว้ ที่นับวันจะหลงเหลืออยู่เพียงน้อยและกำลังจะหมดไป ด้วยความชำนาญของความเป็นผู้ฝึกสอนครูและความรู้เชิงวิชาการ เพื่อยกระดับความรู้แบบบ้านบ้านภูมิปัญญาของชาวเราให้เท่าและทัดเทียม กับความรู้และภูมิปัญญาสากล
หากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมดจะตระหนักถึงจุดเด่นในข้อนี้ของตนและกำหนดตำแหน่ง (positioning) หรือจุดยืนของตนให้เด่นชัด กำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อตอบสนองต่อความเป็นท้องถิ่นเพื่อรักษาผืนแผ่นดินให้คงอยู่ กำหนดทิศทางให้ชัดเจนโดยวางเป้าหมายที่ภารกิจ 4 ข้อ ที่รับมา ตั้งใจที่จะทำงานถวายตามพระราชปณิธานของพระเจ้าแผ่นดิน โดยไม่วิ่งไหลไปตามกระแสไม่หลงไปกับการชี้นำของต่างประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่งก็จะทำหน้าที่เป็นที่พึ่งของท้องถิ่น เป็นหลักในการฟื้นฟูวิทยาการความรู้ ผลิตบัณฑิตที่มีปัญญา ไม่เห่อเหิมตามกระแส แต่ตั่งใจที่จะทำหน้าที่ทำนุบำรุงรักษาอดีตที่ยิ่งใหญ่ของแต่ละท้องถิ่น ให้ฟื้นคืนกลับความมั่นคงมั่งคั่งไว้ได้
อาจารย์ยักษ์ย้อนคิดถึงภาพงานวิถีบ้าน บ้าน ผ่านวิกฤตได้จริง ที่ผ่านมาแล้วก็เห็นความสุขที่เกิดขึ้นกับคนที่มาร่วมงาน ความสุขนั้นเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่า ไม่มีอะไรที่เหมาะกับเรามากไปกว่าวิถีของเรา รูปแบบชีวิตของเรา แม้จะบ้านบ้านไม่เลิศหรู แต่ก็มีคุณค่าและเป็นวิถีที่บรรพบุรุษดำเนินมาตลอดหลายร้อยหลายพันปี รักษาบ้าน รักษาเมืองไว้ได้ถึงวันนี้
คำถามจึงฝากต่อไปยังเหล่าผู้นำและผู้บริหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 40 แห่ง ว่าพร้อมแล้วหรือยังที่จะมาร่วมกันเอาบ้านเอาเมืองให้รอด ด้วยการเดินหน้าพัฒนาท้องถิ่นด้วยหลักคิดและวิถีที่เหมาะกับสังคมไทย
"อาจารย์ยักษ์ มหาลัยคอกหมู"