9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชน (1)
สภาวการณ์ช่วงเดือนกันยา-ตุลาของทุกปี จะเป็นห้วงเวลาแห่งการแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้นำประเทศ เราจะสัมผัสได้ถึงคลื่นใต้น้ำ กระแสแห่งความขัดแย้งจากฝักฝ่ายต่างๆ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในระยะไม่กี่ปีมานี้ หากแต่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ หากไม่สำเร็จก็กลายเป็นกบฏต้องหาทางหนีตาย หรือแยกย้ายกันไปอยู่ต่างประเทศ หากสำเร็จอำนาจก็จะย้ายขั้วไปทางฝั่งที่ได้ชัยขึ้นมากุมอำนาจบริหารประเทศต่อไป
ในช่วงเวลาของการแก่งแย่งอำนาจที่ยังไม่ลงตัว ประชาชนที่หวังจะพึ่งอำนาจจากภาครัฐก็เป็นไปได้ยากขึ้น เพราะเหตุแห่งความไม่ลงตัวด้านอำนาจ เมื่อหวังพึ่งอำนาจรัฐให้มาดูแล บำบัดทุกข์ บำรุงสุขไม่ได้ ทางเดียวที่เหลืออยู่ คือ ต้องพึ่งตนเอง เพราะเหตุแห่งวิกฤตและผลกระทบทั้ง 4 ด้านไม่ได้รอคอยให้อำนาจใดมาจัดการ แต่ภัยแล้ง ดินร้อน ข้าวยากหมากแพง โรคระบาด ภัยธรรมชาติจากดินยุบ หินถล่ม น้ำท่วมนาข้าวก็เป็นสิ่งที่ยังคงต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
เมื่อเราเชื่อว่าประชาชนต้องพึ่งตนเอง เพื่อพร้อมเผชิญกับวิกฤตการณ์ภัยธรรมชาติ โรคระบาดในคน สัตว์ พืช และวิกฤตเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพงแล้ว วิกฤตที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ วิกฤตความขัดแย้งทางสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่นที่เกิดจากการแย่งทรัพยากร ความขัดแย้งในระดับชาติที่ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจในด้านความปลอดภัยของประชาชนเจ้าของประเทศ เราจึงต้องอาจหาญลุกขึ้นมาประกาศกล้า ว่าหนทางเดียวที่เราจะรอด คือ เราต้องพึ่งตนเอง พึ่งตนเองและสร้างเครือข่ายประชาชนที่พึ่งตนเองได้ ให้เข้ามาช่วยเหลือจุนเจือ พึ่งพิงกันเป็นเครือข่ายประชาชน เป็นตาข่ายที่เหนียวแน่นคอยรองรับกันและกันหากคนใดคนหนึ่งทดท้อ สร้างพลังภาคประชาชนให้แข็งแกร่งเพื่อนำพาตนเองให้รอดและเป็นที่พึ่งพิงของบุคคลอื่น
การสร้างเครือข่ายประชาชนให้สำเร็จเราต้องรู้หลักการแม้ว่าเราจะไม่จำเป็นต้องไปยึดติดหลัก ติดเกณฑ์ ติดตำรา แต่จำเป็นต้องรู้ เหมือนกับพระที่จะต้องเรียนรู้ทั้งหลักปริยัติคู่กับหลักปฏิบัติ โดยหลักการที่ทำให้เครือข่ายเกี่ยวกันเหนียวแน่นมีหลักพื้นฐาน 3 ประการด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์ของ 3 คำถาม
- ทำอย่างไรให้คนที่มาจากหลากหลายกลุ่ม มีจุดยืนเดียวกัน
คำตอบคือ ต้องมี “ทิฐิสามัญตา” การมีความเห็นที่ตรงกัน มีหลักคิดคล้ายๆ กัน เพื่อสร้างให้เกิดความเหนี่ยวแน่น ส่งผลให้การทำงานใดใดก็สำเร็จ เพราะคิดเห็นไปในทางเดียวกัน
- ทำอย่างไรให้คนที่มีความหลากหลายอยู่ร่วมกันได้
คำตอบคือ ต้องมี “ศีลสามัญตา” คือ การสร้างกฎปฏิบัติร่วมกัน เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมโดยยึดหลักประโยชน์ร่วมกันโดยมีศีล หรือข้อปฏิบัติกำกับ
- ทำอย่างไรให้เครือข่ายยั่งยืน
คำตอบคือ ต้องมีความรักกันเหมือนพี่น้อง เชื่อมร้อยด้วยความรัก ความผูกพัน เหมือนพี่ เหมือนน้อง แม้นไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติ หรือภาษาบาลีกล่าวว่า “วิสาสา ปรมาญาติ” ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง คนรักกันก็ต้องไปมาหาสู่ จุนเจือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ห่วงใยกัน
หลักทั้ง 3 ประการ ถือเป็น โซ่ 3 เส้นที่เชื่อมร้อยเครือข่ายให้รวมกันเป็นหลักของการสร้างเครือข่าย ส่วนในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความสำเร็จนั้น อาจารย์ยักษ์ขอยกตัวอย่าง เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ให้เห็นเป็นต้นแบบ
ปัจจุบัน เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ มี 52 ศูนย์ฝึกกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และอีก 30 ศูนย์เตรียมการที่กำลังขะมักเขม้นฝึกตนเพื่อเป็นศูนย์ฝึกของเครือข่าย ดังนั้น หากเปรียบแต่ละศูนย์เป็นครอบครัว เราก็มีกันอยู่ 80 กว่าครอบครัว ถ้าสมาชิกครอบครัวละ 10 คน ก็มีญาติมิตร 800 กว่าคน ซึ่งการจะทำให้ญาติ 800 กว่าคนรักกันหรือมีความเห็นไปในทางเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่าย และแม้กระทั่งจะเรียนรู้ในหลักการแล้วว่า จำเป็นที่จะต้องมีกฎกติการ่วมกัน แต่การจะตั้งกฎให้คน 800 คนที่กระจายกันอยู่ ไม่ได้อยู่รวมกัน ประพฤติ ปฏิบัติเหมือนๆ กันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งหากนับรวมอาสาสมัครของแต่ละศูนย์อีกก็รวมแล้วได้หลายแสนคน แล้วจะทำอย่างไรให้คนเป็นแสนเดินไปในทิศทางเดียวกัน ก็ต้องสร้างให้เกิดการทบทวน ตอกย้ำ “หลักคิด” ที่เชื่อมโยงเครือข่ายเราเข้าด้วยกันตั้งแต่แรก นั่นคือ “เราเชื่อมั่นเหลือเกินว่า คำสอนของพระราชาองค์ปัจจุบันที่เป็นคำสอนที่ทั่วโลกยอมรับแล้วว่าเป็นจริง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี่แหละ คือ ทางรอดที่พระองค์ท่านพระราชทานไว้ให้เป็นทางออก” และความเชื่อมั่นนั้นเป็นไปอย่างลึกซึ้ง นำไปปฏิบัติจริงในวิถีชีวิต คนอื่นเขาเชื่อว่า ไม่มีเงินอดตาย เราเชื่อว่า ไม่มีอาหาร ไม่มีอากาศ ไม่มีน้ำสิอดตาย เราเชื่อ และเราปฏิบัติให้เห็นจริงว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง” เราศรัทธาในการให้ ในทาน เราเชื่อมั่นว่า ทานมีฤทธิ์จริง และฤทธิ์ของทานนี้เองที่จะช่วยให้เรารอดพ้นจากทุกวิกฤตการณ์ ฉบับหน้ามาพบกับ หลักปฏิบัติ...และการขับเคลื่อนเครือข่ายภาคประชาชน +
อาจารย์ยักษ์ มหา'ลัยคอกหมู