9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ปฏิบัติบูชาที่หนองใหญ่
ปัญหาเรื่อง “น้ำ” เป็นปัญหาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงแสดงความห่วงกังวลหลายครั้งหลายครา โดยทรงชี้ให้เห็นว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในแต่ละปีมิได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากมาย หากแต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย ป่าไม้ที่ลดลงอย่างมาก ดินที่แห้งแข็งจนไม่อุ้มน้ำ พอหน้าแล้งก็เกิดภัยแล้งแต่พอหน้าฝน พายุกระหน่ำน้ำก็ท่วมไร่ นา จนเดือดร้อนกันทั่วทุกหัวระแหง
ครั้งหนึ่งเมืองชุมพร ก็เคยประสบกับปัญหาน้ำท่วมหนัก ทำลายชีวิตและทรัพย์สินผู้คนเป็นจำนวนมาก น้ำท่วมชุมพรครั้งร้ายแรงเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 พายุไต้ฝุ่นซีต้าพัดถล่มชุมพร คนตาย 28 คน ทรัพย์สินเสียหาย 2110 ล้านบาท ปีต่อมาก่อนพายุลินดาถล่มชุมพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับสั่งให้ขุดคลองหัววัง-พนังตัก เพื่อระบายน้ำเตรียมรับพายุถล่ม โดยพระองค์ทรงพระราชทานเงินทุนส่วนพระองค์เพื่อให้ขุดคลองให้เสร็จโดยเร็ว คลองนั้นแล้วเสร็จวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ก่อนพายุลินดาเข้าถล่มชุมพรเพียงวันเดียว ทำให้คนชุมพรรอดพ้นจากภัยน้ำท่วมมาได้
หลังจากนั้นโครงการดังกล่าวได้ขยายเป็น “โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ” เพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติได้อย่างถาวร มีการทำโครงการแก้มลิงหนองใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำ การขุดคลองละมุให้เชื่อมกับคลองท่าแซะ การติดตั้งประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ การติดตั้งระบบเตือนภัยที่คลองท่าแซะ ซึ่งก็ทำให้น้ำไม่ท่วมชุมพรอีกเลยมากว่า 12 ปี แล้ว โครงการฯ หนองใหญ่ จึงเป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านการชลประทาน และเป็นต้นแบบความสำเร็จของ “ศาสตร์พระราชา” เพื่อต้านภัยธรรมชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม และพื้นที่แก้มลิงหนองใหญ่วันนี้ นอกจากจะป้องกันน้ำท่วมได้แล้ว ยังได้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การชลประทาน การประปาในหน้าแล้งอีกด้วย เรียกได้ว่าทรงเป็นจอมปราชญ์แห่งน้ำ
แม้ว่าความสำเร็จของ “โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ” จะแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ แต่การขยายผลของโครงการก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิด เรียกว่า ไม่เกิดการแตกตัว อาจเพราะติดขัดด้วยเงื่อนไขราชการหลายอย่าง จนกระทั่งทางจังหวัดชุมพรโดยอดีตผู้ว่าฯ “การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ” ได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง มูลนิธิแก้มลิงหนองใหญ่ขึ้นเพื่อจัดการดูแลบริหารงานโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริภาคประชาชน โดยการร่วมมือกันของทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน หอการค้า ครูบาอาจารย์ ประชาชน เกษตรกร นักธุรกิจเข้ามาร่วมจนครบทั้งเบญจภาคี มีเป้าหมายเพื่อสืบสานงานของพระองค์ท่านแล้วสานต่อไปยังเยาวชนให้เกิดการขยายผลให้จงได้ การรวมพลังกันครั้งนี้แสดงถึงความตั้งใจจริงของชาวชุมพร จนแม้เมื่อผู้ว่าฯ การัณย์ ท่านย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโครงการปิดทองหลังพระแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรคนใหม่ “ไพโรจน์ แสงภู่วงษ์” ก็ยังให้การสนับสนุนอย่างดี ซึ่งผู้ว่าไพโรจน์ก็เป็นเพื่อนร่วมเรียนพัฒนาสังคมที่นิด้ามาด้วยกันกับอาจารย์ยักษ์ แยกย้ายกันไปทำงานแล้วมาพบกันอีกครั้งในโครงการฯ หนองใหญ่แห่งนี้
ผลสำเร็จของการทำงานภาคประชาชน สามารถเปลี่ยนพื้นที่โครงการฯ หนองใหญ่ ให้เป็น “นิทรรศการมีชีวิต“ เป็นสถานที่ซึ่งผู้คนที่สนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้ความสำเร็จของโครงการแก้มลิงหนองใหญ่ และต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงจาก “เครือข่ายจากภูผาสู่มหานที” ซึ่งเป็นเครือข่ายคนชุมพรที่น้อมนำศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จและนำมาขยายผลร่วมกัน พื้นที่กว่า 30,000 ไร่ของโครงการ จะถูกแบ่งเป็นเขตอำเภอต่างๆ เช่น อำเภอละแม ต้นแบบเรื่อง ธนาคารต้นไม้ ป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง และวิถีเรือโบราณ กับกล้วยหอมอินทรีย์ อำเภอพะโต๊ะ ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงป่าต้นน้ำและ คนอยู่ป่ายัง อำเภอหลังสวน ต้นแบบด้านการจัดการพื้นที่โดยอาศัยหลักธรรมชาติ ลดต้นทุน 90% และโฮมเสตย์เกาะพิทักษ์ อำเภอทุ่งตะโก ลุงนิลจำลองสวนคอนโด 9 ชั้น มาจัดแสดง อำเภอสวี ต้นแบบโรงเรียนจุลินทรีย์ กับบ้านน้ำยาจากวัสดุธรรมชาติ อำเภอเมือง ชุมชนตลาดและชายขอบเมืองกับการพึ่งตนเองในนิเวศปลายน้ำ อำเภอท่าแซะ นำเสนอพลังงานทางเลือกจากปาล์ม และพลังงานสายลมแสงแดด และสุดท้าย อำเภอปะทิว เรื่องคนชุมพรกับข้าวเหลืองปะทิวและปฏิปทาของศูนย์เพลินสู่เศรษฐกิจพอเพียง
เพียง 6 เดือนที่ผ่านมา มีคนกว่า 30,000 คนเข้าไปเรียนรู้แนวทางการใช้ชีวิตตามแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่หนองใหญ่แห่งนี้ ได้เห็นการพึ่งตนเองแบบพออยู่ พอกิน จริงๆ เพราะที่นี่เขาจัดแสดงแบบของจริง ทำจริง ผู้คนเข้าไปอาศัยพื้นที่ใช้ชีวิตอยู่กันเป็นครอบครัว ทำการเกษตร ปลูกข้าว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ให้คนทำงานพอกินจริงๆ โดยหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคนหนึ่งที่อาจารย์ยักษ์อดกล่าวถึงไม่ได้ คือ กำนันเคว็ด หรือกำนันประวิช ภูมิระวิ ผู้นำคนสำคัญที่เข้ามาร่วมแรงพัฒนาพื้นที่แต่แรกๆ โดยรับมอบหมายภารกิจหนัก คือ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “ทำอย่างไรให้คนในโครงการฯ พอกิน” เพราะหากจะแสดงตนเป็นต้นแบบเองแล้ว การพออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น หรือบันได 4 ขั้นพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียงยังทำไม่ได้ก็คงไม่สามารถสร้างศรัทธาให้คนทำตามได้ แล้วทุกวันนี้กำนันเคว็ดก็ทำสำเร็จ การทำเกษตรแบบกำนันเคว็ดโมเดลสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับโครงการฯ หนองใหญ่ได้จริง ทำให้โครงการฯ หนองใหญ่ เป็นโครงการตามพระราชดำริ โดย “ภาคประชาชน” ร่วมมือกับราชการเพื่อปฏิบัติบูชา เป็นการแสดงความกตัญญูต่อแผ่นดิน การแสดงความรักร่วมกันเพื่อถ่ายทอดคำสอนของพระเจ้าอยู่หัวฯ เหมือนในหนังสือพระมหาชนกที่ว่า “วาจาอันมีปาฏิหาริย์ มิบังควรหายไปในอากาศ” และเป็น “คำตอบ” ให้คนส่วนใหญ่ของสังคมที่มักตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร? เศรษฐกิจพอเพียงเหมาะกับเกษตรกรเท่านั้นหรือเปล่า? อยากเดินตามรอยเท้าพ่อแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร?
“คำตอบ” จากหนองใหญ่ สั้นๆ ง่ายๆ “ปฏิบัติบูชา” โดย ททท-ทำทันที.
อาจารย์ยักษ์ มหา'ลัยคอกหมู