9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
เทคโนโลยีแห่งความพอเพียง (1)
เทคโนโลยีถูกสร้างและคิดค้นขึ้นโดยพื้นฐาน เพื่อการแก้ปัญหาในการดำรงชีวิต เช่น ตู้เย็น ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อเก็บรักษาอาหารให้มีอายุยาวขึ้น ไม่เสียง่าย ไฟฟ้าผลิตขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์มองเห็นในเวลากลางคืน
ต่อมาเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีวิตมาเป็นตอบสนองความสะดวกสบาย ทำให้มนุษย์หลุดออกจากขีดจำกัดแวดล้อมของธรรมชาติ
จากจักรยาน เป็นมอเตอร์ไซค์ เป็นรถยนต์ เป็นเครื่องบิน แต่มนุษย์ไม่มีขีดจำกัดในความต้องการ เทคโนโลยีจึงซับซ้อนมากขึ้นจนเทคโนโลยีได้กลายเป็นวิถีชีวิตส่วนหนึ่งที่มนุษย์ต้องพึ่งพา หมายความว่าเทคโนโลยีได้กลายเป็นความจำเป็นในการดำรงชีวิต ในขณะที่เทคโนโลยีได้ช่วยมนุษย์แก้ปัญหา และมีชีวิตที่สะดวกสบาย แต่เทคโนโลยีในตัวมันเองก็สร้างปัญหาให้แก่มนุษย์ สุดท้ายกลายเป็นเครื่องมือทำลายธรรมชาติ สภาพแวดล้อม
“บ้าน” ของมนุษย์ที่ทรงประสิทธิภาพ เพราะมนุษย์ต้องเอาสิ่งบำรุงบำเรอความสุขมาจากวัตถุดิบในธรรมชาติ และระบายสิ่งที่ไม่ต้องการกลับลงสู่ธรรมชาติ เช่น หนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ในอเมริกาที่พิมพ์ต้องใช้ต้นไม้มากกว่า 5 แสนต้น หรือเท่ากับป่า 1 ป่าเพื่อตอบสนองข่าวสารข้อมูลเพียงหนึ่งวันของมนุษย์ ถุงพลาสติกใช้เวลาเพียง 3 วินาทีในการผลิต แต่เกือบ 400 ปีในการย่อยสลาย ทีวี คอมพิวเตอร์ ที่ให้ความบันเทิง ข้อมูลข่าวสาร กำลังเป็นขยะพิษล้นโลก วิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างขาดมิได้ในฐานะปัจจัย 5 ทำให้มนุษย์พัฒนาโรคภัยไข้เจ็บประเภทที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่รู้จักมาก่อน!
คำถามที่ท้าทายของมนุษย์และสังคมในศตวรรษนี้ และเป็นคำถามที่ต้องเร่งหาคำตอบคือ อะไรคือเทคโนโลยีที่เหมาะสม พอดี โดยเฉพาะที่เหมาะสมและพอดีกับสังคมไทย
เมื่อครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ของนาซาประสบปัญหาว่านักบินอวกาศของสหรัฐเมื่อขึ้นไปสำรวจอวกาศนั้นจำเป็นต้องมีปากกาในการบันทึก นักวิทยาศาสตร์อเมริกันก็ประดิษฐ์คิดค้นปากกาที่จะใช้ในอวกาศขึ้นมา โดยใช้งบประมาณไปหลายล้านดอลลาร์เพื่อให้ได้ปากกาไฮเทค 1 แท่ง ส่วนนักบินอวกาศของโซเวียต ซึ่งประสบปัญหาเดียวกัน ก็แก้ปัญหาด้วยการใช้ดินสอธรรมดาๆ ที่เราใช้กันซึ่งก็ปรากฏว่าใช้ได้ผลดีโดยไม่ต้องเสียงบประมาณอะไร นี่เป็นกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า เทคโนโลยีบางครั้งก็สะท้อนความคิดที่เป็นหลุมพรางในตัวเอง!
คราวที่โลกทั้งโลกตระหนกตกใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับโลกเมื่อเราก้าวมาถึงศตวรรษ 2000 คำว่า Y2K (Year 2000) เป็นคำที่กล่าวขวัญกันทั้งโลก มีการคาดการณ์กันต่างๆ นานา
องค์กรทั่วโลกมีการเตรียมพร้อมกันถึงผลกระทบที่คิดว่าอาจจะเกิดขึ้นหากระบบคอมพิวเตอร์รวน เพราะคาดกันว่าไมโครชิพในคอมพิวเตอร์ไม่สามารถแยกแยะระหว่างปี 1900 และ ปี 2000 ได้เพราะระบบถูกให้จำเพียงสองตัวสุดท้าย ซึ่งจะก่อให้เกิดการคำณวนที่ผิดพลาด และจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับการทำงานทุกระบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ ทุกองค์กรใช้งบมหาศาลในการตระเตรียม สื่อประโคมข่าว คนทั้งโลกวิตกกังวล แต่แล้วก็ไม่เกิดอะไรขึ้น!
บทเรียนที่มนุษย์ตกหลุมพรางตนเองด้านเทคโนโลยีนั้นมีมากมายให้เราเรียนรู้!!
แปลกแต่จริงมนุษย์ฉลาดเลิศล้ำในการคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อปลดปล่อยให้มนุษย์มีอิสระภาพ ไร้ขีดจำกัด แต่มนุษย์ก็โง่เขลา เพราะเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นฉลาดเลิศล้ำมากเพียงใด มนุษย์ก็ไร้อิสรภาพมากเพียงนั้น
ถึงเวลาสร้างเทคโนโลยีเพื่อความพอเพียง พาเทคโนโลยีเดินทางกลับสู่บ้านแห่งความสามัญธรรมดาเสียที!
อาจารย์ยักษ์ มหา'ลัยคอกหมู