9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
อาหารตำรับควายสะอื้น
เวลานี้ไปไหนมาไหนก็จะเห็นผู้คนเจ็บป่วยกันมาก เจ็บป่วยทั้งร่างกาย และเจ็บป่วยทั้งจิตใจ ในหลักสูตรสุขภาพที่อาจารย์ยักษ์ไปมาเมื่อสัปดาห์ก่อนก็เต็มไปด้วยผู้ป่วย กว่า 80% ของคนที่มา มาด้วยเพราะมีโรคต้องการรักษา มีเพียงคนส่วนน้อยที่มาเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ แม้แต่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องของอาจารย์ยักษ์ที่คนมาอบรมเพื่อขอความรู้ ก็ปรากฏว่าในบรรดาผู้เข้าอบรมกว่า 100 คนในรอบนี้กว่าครึ่งที่เป็นเกษตรกรก็มีโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้าทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ปวดเข่า ปวดข้อ บางคนเป็นเบาหวานถึงขั้นขึ้นตาแล้ว ทำเอาอาจารย์ยักษ์ต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็น “หมอยักษ์” กับเขาบ้าง ต้องแนะนำให้เกษตรกรปรุงอาหารสูตร “ควายสะอื้น” ไว้กิน เป็นสูตรอาหารที่แย่งพืชผักของควายมากินจนควายต้องสะอื้นไห้ เริ่มต้นด้วยการเอา รางจืด 9 ใบ ผักบุ้ง 9 ยอด เสลดพังพอนตัวเมีย 9 ใบ เตยหอม 3 ใบ ใบแค 3 ก้าน ผักปราบ 3 ยอด หญ้าปากควาย เอาผักหญ้าทั้งหมดมาขยี้กับน้ำให้เกษตรกรดื่มสดๆ เป็นสูตรล้างพิษ หลังกินอาหารตำรับควายสะอื้นได้ประเดี๋ยวเดียว ของเสียต่างๆ ของร่างกายก็จะถูกขับออกมา ให้ความรู้สึก โล่ง โปร่ง เบา สบาย
ย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน เราแทบจะไม่ได้ยินว่ามีเกษตรกรคนไหนเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขข้ออักเสบเหมือนปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่จะป่วยตายด้วยโรคชรา หรือไม่ก็อุบัติเหตุ งูกัด ตกหลังควาย เสือกัด ไม่ได้เจ็บป่วยจากพฤติกรรมการกินเหมือนคนสมัยนี้ แป้ง น้ำตาล ที่มาของโรคเบาหวาน โรคความดัน เป็นอาหารหายาก มีแต่ผักหญ้าที่หาง่าย และผักหญ้าที่ขึ้นตามธรรมชาติก็ได้รับการจัดสมดุลมาให้เรียบร้อยแล้ว การกินผักหญ้าตามฤดูกาลของคนโบราณก็เท่ากับเป็นการสร้างสมดุลให้กับร่างกายไปในตัว แต่เดี๋ยวนี้เกษตรกรเลียนแบบวิถีชีวิตคนเมืองที่อยู่ห่างไกลจากอาหารธรรมชาติ ถางไร่ถางป่าเอามาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่กินผักหญ้าที่ขึ้นตามธรรมชาติอีกต่อไปแล้ว หันมากินหวาน กินมัน กินแป้งเหมือนคนเมือง โรคคนเมืองก็ระบาดเข้าสู่ชนบท ขณะนี้สภาพที่เห็นคือ “กระดูกสันหลัง” ของชาติไม่เพียงแต่ “จน” แต่ยัง “เจ็บ” อีกต่างหาก ยิ่งไปกว่านั้น พระ เจ้าก็พากันเจ็บป่วยด้วยเหมือนกันเพราะต้องอาศัยข้าวปลาอาหารที่ชาวบ้านบิณฑบาตรให้ จากอาหารที่หุงหาเองเป็นกับข้าวถุงซื้อสำเร็จ รดชาดทั้งหวานจัด เผ็ดจัด มันจัด ทั้งพระทั้งชาวบ้านก็พากันเจ็บป่วยไปด้วยกัน
ในยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบบูรณาการที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต้องจัดทำขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อมูล จปฐ (ความจำเป็นพื้นฐาน) 6 หมวด อันประกอบด้วย สุขภาพดี มีบ้านอาศัย ฝักใฝ่การศึกษา รายได้ก้าวหน้า ปลูกฝังค่านิยมไทย ร่วมใจพัฒนา ในหมวดแรกที่ว่าด้วย สุขภาพดี อาจารย์ยักษ์ก็กล้าฟันธงว่า ไม่ผ่าน ชาวบ้านในชนบทไทยส่วนใหญ่มีสุขภาพ เลว ไม่แพ้คนเมือง เพราะอิทธิพลสื่อที่เข้าถึงทุกซอกทุกมุมในชนบทได้นำเอาวิถีการกินแบบเมืองเข้าแทรกซึมในชนบท รวมทั้งอิทธิพลของวิถีการผลิตที่เปลี่ยนไป ได้เปลี่ยนการกินผักกินหญ้าพื้นบ้าน มาเป็นการเสพ อาหารล้นเกิน ไร้สมดุลแบบคนเมืองไปเสียแล้ว เราจึงพบว่าเกษตรกรในวัยสี่สิบขึ้นไปก็เริ่มเจ็บป่วยกันแล้ว ทั้งมะเร็ง เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ รูมาตอยด์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นโรคที่บรรพบุรุษปู่ย่าตายายของเราแทบไม่รู้จัก
เห็นที อาจารย์ยักษ์คนนี้ ก็ต้องทำหน้าที่นอกเหนือจากต้อง “คืนชีวิตให้แผ่นดิน” แล้วยังต้องเป็น “หมอยักษ์” ทำหน้าที่คืน “กระดูกสันหลังที่แข็งแรง” ของชาติให้กลับคืนมาอีกครั้งด้วยการปลุกระดมให้เกษตรกรหันมากินอาหารตำรับควายสะอื้นเหมือนปู่ย่าตายายของเราอีกครา
อาจารย์ยักษ์ มหา'ลัยคอกหมู