9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ถึงเวลา “เปิ้งตัวเก่า”
ในขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ อาจารย์ยักษ์กำลังมีความสุขอิ่มเอมใจ อยู่ในส่วนหนึ่งของอำเภอที่มีความงดงามมากที่สุดทางภาคเหนือของประเทศไทย อำเภออมก๋อย มีชาวบ้าน ข้าราชการ ครู ร่วม 700 คน จากทุกตำบลเข้ามาเรียนรู้ฝึกอบรมเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง แม้ว่าความรับรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะไม่เท่ากัน แต่ทุกคนรู้เท่ากันว่า ไฟป่า ภัยแล้ง หมอกควัน ดินถล่ม ได้กลายเป็นวิถีชีวิตทุกข์ยากที่วนเวียนอยู่กับพวกเค้าในระยะสิบกว่าปีมานี้ และยิ่งแก้ไขอาการก็ยิ่งหนัก โดยเฉพาะ หมอกควัน ไฟป่า ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่นับวันจะหนักหนาสาหัสสากรรจ์ขึ้นเรื่อยๆ หลายๆ คนที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้น้อยอดสงสัยไม่ได้ว่า ในสมัยปู่ย่าตายายที่การศึกษาไม่เจริญนักพวกเค้ากลับมีสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ เทือกสวนไร่นาก็มีน้ำท่ามาถึง ไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากใคร ชุมชนมีวิธีในการจัดหาน้ำให้เข้าถึงเทือกสวนไร่นา แม้ภูมิประเทศจะเป็นที่สูง ก็ไม่เป็นอุปสรรคที่จะทดน้ำเข้าไร่นา มีระบบการแบ่งน้ำที่เป็นธรรม ทุกคนมีน้ำเพียงพอในการทำการผลิตด้วยระบบชลประทานที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่เรียกว่า เหมือง ฝาย
เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกลงไป ระบบการพึ่งตนเองแบบนี้ถูกทำลายเมื่ออำนาจของชุมชนไป “ตก”อยู่ในมือของรัฐ เมื่อชลประทานแบบคอนกรีตได้แพร่เข้ามา ฝายชุมชนก็กลายเป็น “สิ่งก่อสร้าง” ที่ล้าสมัย “แก่ฝาย” ที่ครั้งหนึ่งถือเป็นวิศวกรชลประทานที่ได้รับการยกย่องของชุมชน ก็กลายเป็น “วิศวกะ” ที่ไร้ค่า ไร้คนศรัทธาเปรียบเสมือนหมอสมุนไพรที่ถูกเรียกว่า “หมอเถื่อน”
เมื่อผู้คนเจอวิกฤติ เจอภัยพิบัติจนอยู่ในอาการตระหนก จึงได้ฉุกคิดและสำนึกว่า ลำเหมือง และฝายจากภูมิปัญญาของพ่อเฒ่าแม่แก่นี่แหละจะเป็นตัวกู้วิกฤติ แก้ปัญหาไฟป่า หมอกควันพิษให้กับภาคเหนือได้ คน 700 คนที่ได้มาประชุมกันในวันนี้ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมย์เป็นภาษาเหนือว่า “ถึงเวลา เปิ้งตัวเก่า (พึ่งตนเอง)” เหมือนกับที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราได้ทำมา โดยไม่ต้องมีเงินสักบาท ไม่ว่ารัฐจะช่วยหรือไม่ถึงเวลาที่พวกเค้าต้องลุกขึ้นมาพึ่งตนเอง ทำอย่างที่ “พ่อหลวง” ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ด้วยการระดมพลังชุมชนสร้าง ฝาย ให้ทั่วทุกตำบล ทุกพื้นที่ เป็นร้อยเป็นพันฝาย สร้าง “ลำเหมือง” กระจายไปตามพื้นที่เทือกสวนไร่นาของชาวบ้านรอบๆ ลำเหมือง ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างด้วยไม้ 5 ระดับ สูง กลาง เตี้ย เรี่ยดิน และใต้ดิน ฝายชุ่มฉ่ำ จะทำหน้าที่เก็บอุ้มน้ำ ให้ความชุ่มชื้นแก่พื้นที่โดยรอบ ลำเหมืองนอกจากจะทำหน้าที่เป็นคูส่งน้ำไปยังเทือกสวนไร่นาแล้ว ยังเป็นที่อยู่ของป่าเปียกที่จะกลายเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหารจากแนวคิดป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างให้กับชาวบ้าน ฝายที่เก็บน้ำยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาชั้นเลิศ และที่อยู่ของสัตว์เล็กสัตว์น้อย กุ้งหอยปูปลา แหล่งอาหารโปรตีนที่อุดมสมบูรณ์อีกทางหนึ่งให้ชาวบ้าน ความชุ่มชื้นของผืนดินที่กระจายไปรอบ ๆ ร้อยฝายพันฝาย และป่ารอบลำเหมืองจะทำหน้าที่เป็นแนวกันไฟธรรมชาติ หยุดไฟป่า ไม่ให้ไฟป่าลุกลาม และที่น่ายินดีอย่างยิ่งคือ พ่อเมือง ของจังหวัดเชียงใหม่เจ้าของพื้นที่ที่รับรู้ถึงความทุกข์ยากของพี่น้องภาคเหนือได้ประกาศเป็นขุนพลนำทัพ “เปิ้งตัวเก่า” เริ่มต้นด้วยการคืนคุณค่าของ “แก่ฝาย” ในฐานะ “วิศวกรชลประทานชุมชน” ให้เป็นแม่ทัพนายกองสร้าง ฝาย ให้ทั่วทุกตำบลทุกหมู่บ้าน ใช้ภูมิปัญญาของพ่อแม่หยุดไฟป่าให้จงได้ อีกไม่นานเกินรอเราจะเห็นจังหวัดเชียงใหม่เป็น ต้นแบบ แห่งความสำเร็จที่จังหวัดภาคเหนือทุกจังหวัดต้องเอาอย่าง และเข้าร่วมขบวนการ “เปิ้งตัวเก่า” อย่างแน่นอน
อาจารย์ยักษ์ มหา'ลัยคอกหมู