9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
สมุน (ไพร) มีพิษ
สัปดาห์นี้อาจารย์ยักษ์ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฟัง ตามสไตล์ของคนพูดจา ตรงๆ ห่ามๆ และ ชัดๆ ก็ต้องฟันธงให้เห็นว่าถึงเวลา (นาน) แล้วที่กระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรคนไทยอย่างแท้จริง แต่ยิ่งดู ยิ่งรู้ ยิ่งเห็น ก็ยิ่งละเหี่ยใจว่า เกษตรกรชาวไทยยังต้องลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง หวังพึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้น้อยมาก ดูเหมือนข้าราชการถ้าไม่เข้า “เกียร์ว่าง” ก็เข้า “เกียร์ถอยหลัง” หรือไม่ก็ใส่ “เกียร์เดินหน้า” พุ่งชนให้ผลประโยชน์ของคนไทยต้องเสียหาย อย่างกรณีของการขึ้นทะเบียนสมุนไพร 13 ชนิดให้เป็นวัถตุมีพิษนั้นเป็นตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งของการ “ทำร้าย” เกษตกร จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แม้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจะออกมายืนยันว่าเจตนาทำไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของพ่อค้ายาฆ่าแมลงและปุ๋ยชีวภาพปลอม แต่เกษตรกรและเครือข่ายเกษตรกรก็ยังงงๆ ว่า “คิดได้ไง”
ทำให้อาจารย์ยักษ์นึกถึงคราที่ต้องถูกจับติดคุกเพราะความพยายามที่จะให้คนไทยสามารถพึ่งตนเองในการดูแลสุขภาพจากสมุนไพรไทยที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในสมัยนั้นกลั่นแกล้งโดยอ้างว่าไม่มี “อย.” ทำให้นึกถึงหนังเรื่องโหมโรง ที่การเล่นดนตรีไทยก็กลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายไป เพราะเมื่อผู้มีอำนาจของบ้านเมืองหลงไหลไปกับวัฒนธรรมต่างชาติจนเหยียดหยามมรดก วัฒนธรรมของตนเอง ทำให้อาจารย์ยักษ์นึกถึงเหล้าที่ชาวบ้านต้มกินกันมาแต่โบราณกาล เมื่อมีเหล้าอุตสาหกรรมเข้ามา เหล้าท้องถิ่นของชาวบ้านก็กลายเป็นสิ่งผิดกฏหมายไป คิดไม่ถึงว่าในยุคที่ผู้คนกำลังเชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่น สมุนไพรที่ชาวบ้านใช้กันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายกลับกลายเป็น “วัตถุมีพิษ” เหตุผลที่อ้างว่าเพื่อปกป้องชาวบ้านไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของพ่อค้ามิจฉาชีพ แต่เบื้องหลังลึกๆ ใครจะรู้บ้างว่าคืออะไร แต่ที่แน่ๆ คือ คำประกาศนี้ได้สร้างผลกระทบทางลบเกิดขึ้นกับเกษตรกรมากมาย ทันทีที่ประกาศฉบับนี้ออกมาเกษตรกรที่ปลูกพริก ปลูกตะไคร้ ก็ได้รับผลกระทบทันที เพราะได้สร้างความยุ่งยากให้กับกระบวนการการพึ่งตนเองของชาวบ้านเมื่อต้องการผลิตปุ๋ย ผลิตยาชีวภาพใช้เอง และที่แน่ๆ ความยุ่งยาก และขั้นตอนที่ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายก็ทำให้ชาวบ้านอาจลดการใช้ สารชีวภาพ ลง เพิ่มการใช้ สารเคมี มากขึ้นเพราะ ง่ายกว่า ไม่ต้องไปติดต่อยุ่งเกี่ยวกับทางการ เพราะรู้ๆ อยู่ว่าการยุ่งเกี่ยวกับทางการนั้นมันปวดใจแค่ไหน คนที่ยิ้มได้อีกจากประกาศฉบับนี้ก็คงหนีไม่พ้น นายทุนปุ๋ยเคมี งานนี้ก็เลยไม่รู้ว่าเป็นการ “ช่วยเหลือ” หรือ “ช่วยเถือ” ชาวบ้านกันแน่ และที่สำคัญ “ประกาศ” ที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากแบบนี้ทำไมไม่ถามความคิดเห็นของประชาชนก่อน
ในสถาณการณ์ที่โลกกำลังเข้าสู่วิกฤติด้านอาหารอย่างรุนแรง เกษตรกรผู้ผลิตอาหารสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเป็น “พระเอก” ได้รับการปกป้องดูแล สนับสนุนให้ทำหน้าที่ต่อสู้กับ ผู้ร้ายในคราบวิกฤติอาหารนี้ และหน่วยงานของรัฐถึงเวลาที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญในฐานะ “สมุน” เป็นเครื่องไม้เครื่องมือยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ให้พระเอกไปสู้รบ ไม่ใช่ทำหน้าที่เหมือน อาวุธที่ขึ้นสนิม ไม่ทำงาน หรือซ้ำร้าย เป็นอาวุธ ที่กลับมายิง พระเอกเสียเอง
อาจารย์ยักษ์ มหา'ลัยคอกหมู