9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
จากน้ำมันสู่นาข้าว
ใครจะรู้ได้ว่าแม้ประเทศเศรษฐีน้ำมันอย่างบรูไน ก็รู้ซึ้งดีกับสัจธรรมที่ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิเป็นของจริง”เมื่ออาจารย์ยักษ์ได้รับการติดต่อผ่านตัวแทนของกษัตริย์บูรไนอยากให้ผู้เชี่ยวชาญข้าวอย่างเรา โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญในการปลูกข้าวไร้สารพิษไปสอนคนบรูไนให้ปลูกข้าว เกิดอะไรขึ้นกับบรูไนที่จู่ ๆ ก็จะลุกขึ้นมาทำนาปลูกข้าวแทนการขายน้ำมัน
ใคร ๆ ก็รู้ว่าประเทศบรูไนเป็นประเทศที่ถือว่าประชาชนร่ำรวย มีมาตรฐานการครองชีพที่สูงมาก เพราะรายได้หลักมาจากการขายน้ำมัน รายได้ของประชากรต่อปีถือว่าสูงเป็นอันดับที่ 28 ของโลกราว ๆ เกือบ ๆ หนึ่งล้านบาทต่อปีต่อคน มากกว่าคนไทยสิบเท่า แต่เหตุไฉนบรูไนจึงหันมาสนใจปลูกข้าว วิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของผู้นำบรูไนเล็งเห็นว่า แม้ขณะนี้บรูไนจะร่ำรวยจากน้ำมัน แต่ก็ถือว่าไม่ยั่งยืน คาดการณ์ว่าในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า น้ำมันจะเริ่มหมด และในสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนเช่นนี้ราคาน้ำมันก็ไม่แน่นอน ขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ในขณะที่ประชาชนทุกคนต้องกินข้าว ต้องมีอาหาร น้ำมันเองถือว่าเป็น “พลังงานสกปรก”ที่ก่อมลพิษรวมทั้งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อน ความพยายามในการหาพลังงานทางเลือกของประเทศต่าง ๆ ในโลกยิ่งทำให้ น้ำมัน เป็นพลังงานที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ยุคการสร้างอำนาจต่อรองและยุครุ่งเรืองของประเทศค้าน้ำมันที่พวกเราเคยอิจฉาอาจกำลังใกล้ “อาทิตย์อัสดง”เสียแล้ว
แม้เป็นประเทศเล็กประชากรเพียงสามแสนเศษแต่บรูไนเองก็จำเป็นต้องหาหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรของตนเอง กษัตริย์บรูไนและผู้นำรัฐบาลล้วนเป็นผู้นำที่มีการศึกษาและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ต่างตระหนักถึงความจริงที่ว่าอาหารโดยเฉพาะข้าวเป็นสิ่งพื้นฐานจำเป็น การสร้างความมั่นคงพื้นฐานให้กับประชาชนถือเป็นภารกิจอันดับหนึ่งของรัฐบาล แม้ประชาชนจะอยู่ดีกินดีในขณะนี้แต่ล้วนต้องพึ่งพาในสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืนอย่างน้ำมันซึ่งกำลังจะหมดไปในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า ความอยู่ดีกินดีในปัจจุบันจึงเป็นความมั่นคงที่ไม่แน่นอน ในหลายปีที่ผ่านมาบรูไนได้ตั้งกระทรวงขึ้นมาใหม่คือกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับภาคเกษตร ป่าไม้ และการประมง การดำเนินการช่วงแรกนั้น รัฐบาลมุ่งสนับสนุนโรงงานและอุตสาหกรรมขนาดเล็กในภูมิภาคที่สามารถป้อนผลผลิตให้กับผู้บริโภคในท้องถิ่นก่อนเป็นอันดับแรกแล้วจึงขยายไปสู่การผลิตเพื่อการส่งออกในระยะยาว
ดู ๆ แล้วกษัตริย์บรูไนมีความเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่าคนไทยเสียด้วยซ้ำที่รู้ว่าต้องเน้นการสร้างความมั่นคงในระดับพื้นฐานก่อน ให้ประชาชนของตนอยู่ดีกินดีมีอาหารอุดมสมบูรณ์เสียก่อน เมื่อพื้นฐานภายในมั่นคงแล้วการส่งออกเพื่อขายจึงเป็นเป้าหมายต่อมา มิใช่ขุดทำลายทรัพยากรเพื่อส่งออกขนเงินตราเข้าบ้านร่ำรวยกระจุกตัวกันอยู่ในกี่ตระกูล ในขณะที่คนพื้นฐานหรือแม้แต่คนสร้างอาหารอย่างชาวนายังอยู่อย่างยากจน เช่นประเทศไทย ไม่เพียงเท่านี้กษัตริย์บรูไนยังรู้ว่าไม่มีอะไรจะจีรังยั่งยืนกว่าการรู้จัก “พึ่งตนเอง”โดยเฉพาะในเรื่องของปากท้อง ปัจจุบันบรูไนต้องนำเข้าข้าวจากประเทศไทย หากบรูไนสามารถพึ่งตนเองด้านอาหารได้ เมื่อวันที่โลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตด้านอาหาร วันนั้นบรูไนจะรู้ว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่บรูไนใช้อยู่จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามจะเป็นเกราะกำบังป้องกันให้บรูไนอยู่รอดปลอดภัย หรือว่า คนไทย เจ้าของตำรับ เศรษฐกิจพอเพียง ต้องให้คนชาติอื่นมาสอนเราจึงจะจำ
“อาจารย์ยักษ์ มหา’ลัยคอกหมู”