9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ประเทศไทยกับความมั่นคง ทางอาหาร 1
ในการประชุมผู้นำโลกและนักธุรกิจชั้นนำ World Economic Forum ปี 2009 ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำประเทศที่ได้รับการจับตามองในฐานะที่เป็นผู้นำที่พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว รวมทั้งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นดีกรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ในประเด็นปัญหาวิกฤติด้านอาหาร นายก ฯ อภิสิทธิ์ได้ให้ความมั่นใจกับผู้นำโลกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในฐานะที่เป็นประเทศส่งออกอาหารรายใหญ่ และจะเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมอย่างขันแข็งในการสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยขอให้ประเทศต่าง ๆ อย่าปิดกั้นหรือตั้งกำแพงการค้า
ในอีกวาระหนึ่งของการประชุม อดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ ผู้นำการเคลื่อนไหวปัญหาโลกร้อน ได้กล่าวเตือนผู้นำและชาวโลกถึงวิกฤติที่มิอาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้แล้วของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือที่เราเรียกว่า Climate Change ว่าที่ผ่านมาปัญหามิได้ผ่อนคลายลง แต่กลับหนักหน่วงขึ้น การติดตามถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศบนโลก และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในบริเวณต่าง ๆ ทั่วโลกของ IPCC หน่วยงานร่วมระหว่างประเทศที่ติดตามวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศของโลกย้ำเตือนถึงหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามา IPCC ได้ออกมาตะโกนดัง ๆ ถึงสี่ครั้งสี่คราว่า โลกกำลังพาตัวเองเข้าสู่ จุดหายนะ ที่รุนแรงถึงขั้น ทำลายล้างมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์ได้ลงมติแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากนโยบายของผู้นำโลกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ทันการเสียแล้ว สิ่งที่ผู้นำประเทศและผู้นำโลกต้องร่วมกันคือเร่งมาตรการในการเตรียมรับ ภัยพิบัติ และเตรียมแผนในการปรับตัว อัล กอร์ย้ำว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด
จากหายนะดังกล่าวคือ ประเทศยากจน และประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทย เพียงโลกมีอุณภูมิสูงขึ้น2 องศา เด็กในประเทศแอฟริกาก็มีโอกาสตายได้มากถึงล้านคน ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมกันของมนุษยชาติเสียแล้ว สิ่งที่อาจารย์ยักษ์ตั้งเป็นคำถามคือ ข้อเรียกร้องของอัล กอร์ในการประชุมโลกครั้งนี้จะมีผู้นำกี่ประเทศที่ขานรับและร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทุกคนดูจะพุ่งเป้าการแก้ปัญหาไปที่ประธานาธิบดีโอบามา ในขณะที่โอบามาเองก็กำลังตกอยู่ในแรงกดดันอย่าง หนักหน่วงจะต้องกู้วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของอเมริกาให้ได้เสียก่อนแบบ เอาตัวเองให้รอดก่อนโดยนัย ๆ เสนอแนวคิดที่โอนเอียงไปทางชาตินิยมปลุกระดมให้ชาวอเมริกันซื้อของที่ผลิตเองในประเทศเพื่อไม่ให้เงินตราไหลออก
สำหรับอาจารย์ยักษ์ความมั่งคงทางอาหารของประเทศไทยนั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่ควรได้รับความสำคัญให้เป็น วาระแห่งชาติโดยผูกโยงกับความมั่นคงของฐานทรัพยากร อีกทั้งเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ควรรีรอพึ่งพิงต่างชาติ สุดท้ายของความมั่นคงต้องกลับมาบนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง รัฐบาลจำเป็นต้องตระหนักว่า ความมั่นคงทางอาหาร มิได้เกิดขึ้นเองอย่างโดดเดี่ยว ประเทศไทยเองก็ผจญกับปัญหาน้ำท่วมสลับกับภัยแล้งหมุนเวียนซ้ำซาก อาจารย์ยักษ์ไม่อยากจะพูดให้รัฐบาลช้ำใจว่า การสร้างความมั่นคงทางอาหารนั้นเหมือนขายฝันหากวงจรภัยพิบัติที่เป็นอยู่ไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ ถึงตอนนั้นอย่าว่าแต่ความมั่นคงทางอาหารที่เราได้ให้ความมั่นใจกับชาวโลกเลย แม้แต่ความมั่งคงทางอาหารที่จะเลี้ยงดูผู้คนของประเทศไทยเอง ก็อาจจะถึงขั้นวิกฤติชนิดที่ คนขายอาหารอดตายเพราะไม่มีอาหารกิน เสียเอง
“อาจารย์ยักษ์ มหา’ลัยคอกหมู”