9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
โฮมสกูล กับความพอเพียงทางการศึกษา (3)
“คนดี มีความรู้ อยู่เป็นสุข” คือเป้าหมายการศึกษาในรูปแบบโฮมสกูลของเด็กๆ 7 คน ที่กำลังดำเนินไปแบบท้าทายการศึกษาในระบบ นับว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่พระอาจารย์สรยุทธ ชยปัญโญ และพระอาจารย์สังคม ธนปัญโญจะโน้มน้าวให้ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนส่งลูกหลานให้เข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาตามอัธยาศัยแบบนี้ พ่อแม่หลายคนยอมรับว่าในตอนแรกนั้นไม่มีใครเข้าใจว่ามันคืออะไร ลูกหลานจะได้เรียนอะไร ฟังดูแปลกๆ แต่เพราะไม่มีทางเลือก เด็กบางคนถูกให้ออกจากโรงเรียนไม่มีที่ไป เด็กบางคนพ่อแม่หมดหนทางเพราะไม่มีเงินส่งเสีย
สำหรับพระอาจารย์ทั้งสอง สถานการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่คาดหวังได้อยู่แล้ว เพราะการศึกษาทางเลือกลักษณะนี้เป็นทางเลือกที่ยากจะมองเห็นเป้าหมายปลายทาง ท่ามกลางความกังขาก็คงมีเพียงส่วนน้อยนิดที่ตัดสินใจเลือก เพราะความเห็นดีเห็นงาม ส่วนใหญ่เลือกเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ปัญหากลับกลายเป็นความท้าทายที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า เป้าหมายของการศึกษาที่ถูกต้องคือ การสร้างคนดี มากกว่าการสร้างคนเก่ง คนดีนั้นต้องเป็นคนที่มี 3 กตัญญู คือ กตัญญูต่อแผ่นดิน ต่อพ่อแม่ ต่อครูบาอาจารย์ ปัจจุบันเราล้วนมีแต่คนเก่ง แต่เป็นคนเก่งที่ไม่รู้จักคำว่า กตัญญู กันเสียแล้ว การสร้างให้เด็กเป็นคนดี รู้กตัญญูนั้นไม่สามารถสร้างจากคำพูดได้ แต่ต้องสร้างการกระทำ กระทำให้เป็นวิสัยแห่งการดำเนินชีวิตทุกๆ วัน เราลองดูว่าเด็กๆ ชายหญิง 7 ชีวิต นักเรียนโฮมสกูลแห่งวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่เริ่มต้นชีวิตการเรียนในแต่ละวันอย่างไร
เด็กๆ จะมีตารางการเรียนเริ่มต้นตั้งแต่ตี 5 ตื่นนอน เก็บกวาดที่นอนให้เรียบร้อย เตรียมหูงหาอาหารให้พ่อให้แม่ และทำภารกิจอื่นๆ ที่พ่อแม่มอบหมายให้ทำ หากเกียจคร้านไม่ตื่น ไม่ทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย พ่อแม่ซึ่งมีหน้าที่เป็นครูในการตรวจการบ้านก็ต้องระบุลงในใบรายงาน ซึ่งจะเก็บเป็นคะแนนส่งให้โรงเรียนต่อไป เสร็จจากภารกิจที่บ้านเด็กๆ ก็จะไปโรงเรียน (วัด) ทำกิจกรรมตามตารางที่ได้มอบหมายภายใต้การกำกับดูแลของครูอาสา สิ่งที่แตกต่างจากการศึกษาในระบบอีกอย่างคือการที่เด็กๆ ต่างระดับชั้นกันสามารถเรียนร่วมกันได้ และได้รับความรู้ ทักษะที่เหมาะสมตามระดับของตนเอง ตัวอย่างในเช้าวันหนึ่งที่เด็กๆ ได้มารวมตัวกันตั้งแต่หกโมงเช้า มาช่วยกันขุดต้นกล้วย ถือเป็นวินัยที่เด็กๆ ห้ามตื่นสาย ภารกิจที่นักเรียนโฮมสกูลต้องบรรลุในเช้าวันนี้คือ การเอาหน่อกล้วยอ่อนไปปลูกในบริเวณวัด การทำน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย การทำอาหารหมูจากหยวกกล้วย การเอากล้วยมาทำกล้วยทอด จากนั้นก็ทำน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันทอดที่เหลือ ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้จากห้องเรียนธรรมชาติ จากการลงมือทำจริง รู้ขั้นตอน รู้สัดส่วน รู้ประโยชน์ รู้จักการแบ่งงานกันทำ รู้จักการทำงานเป็นทีม ได้สังเกต ได้วิเคราะห์ ได้เห็นการเชื่อมโยงขององค์ความรู้ต่างๆ จากสิ่งนี้ไปสู่สิ่งนั้น และรู้จักประยุกต์ของสิ่งรอบตัวจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตัวอย่างในแปลงผัก และแปลงสมุนไพร ก็กลายเป็นห้องเรียนที่นักเรียนจะได้เรียนรู้เรื่อง ดิน จุลินทรีย์ การห่มดิน การเก็บความชุมชื้นโดยใช้หญ้าแฝก การป้องกันแมลงโดยใช้น้ำส้มควันไม้ การรู้จักปลูกพืชแบบผสมผสาน เรียนรู้ความสัมพันธ์ของพรรณพืชและแมลง
ภายในเพียงไม่กี่ชั่วโมงในตอนเช้า นักเรียนโฮมสกูลทั้งเจ็ดก็ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติถึง 8 สาระวิชา คณิตศาสตร์ (ชั่งตวง สัดส่วน) วิทยาศาสตร์ (ชีว เคมี) สังคมวิทยา (การทำงานร่วมกัน แบ่งงานกันทำ) พละศึกษา (การใช้แรงกายและการเคลื่อนไหว) นิเวศวิทยา (ความสัมพันธ์ของดิน น้ำ แมลง ต้นไม้ใบหญ้า) เกษตร (แปลงผัก สมุนไพร การเลี้ยงหมู) เภสัช (สมุนไพรที่เป็นยา) คหกรรม (การทำกล้วยทอด)
อย่างนี้คงต้องเปลี่ยนเป็น เก่ง ดี มีความรู้ อยู่เป็นสุข ถึงจะเป็นคำขวัญที่ครบถ้วนสมบูรณ์สะท้อนคุณภาพการศึกษาสไตล์โฮมสกูลแห่งวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่
อาจารย์ยักษ์ มหา'ลัยคอกหมู