9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
เปิดเสรีเกษตรอาเซียน รัฐบาลกำลัง ช่วยเหลือ หรือ ช่วยเถือเกษตรกรไทย
การประชุมผู้นำอาเซียนที่มีขึ้นในกลางเดือนตุลาคมนี้ หน่วยงานภาครัฐอยู่ในความพยายามที่จะเปิดเสรีการค้า 3 สาขาหลักที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพื้นฐานของประเทศ คือ เกษตร ประมง และป่าไม้ หมายความหากการเจรจาประสบความสำเร็จเป็นไปตามคาด ต่างชาติจะสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ของไทย และทรัพยากรไทยในการทำมาหากินด้านการเกษตร ประมงและป่าไม้ได้อย่างเสรี สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความพยายามในการเปิดเสรีอาเซียนครั้งนี้อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลยังมิได้ดำเนินการตรวจสอบ และรับฟังจากประชาชนผู้ที่ต้องรับผลกระทบอันเป็นผลมาจากการเปิดเสรีทั้ง 3 ด้านที่ว่ามานี้ อย่างครบถ้วนกระบวนการ สิ่งที่ภาคประชาชนต้องถามว่า รัฐบาล “จริงใจ” กับประชาชนไหม จริงใจกับหลัก “ประชาธิปไตย” ไหม
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการเปิดเสรีนั้น กระทบกับความมั่นคง และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างไร รัฐบาลมีคำตอบ และมีหลักประกันให้กับประชาชนแล้วกระนั้นหรือ รัฐบาลได้ทำตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้วหรือในการถามไถ่รับฟังผู้ที่จะต้องรับผลกระทบนี้ รวมถึงประชาชนคนเดินถนนแม้จะไม่อยู่ในภาคเกษตร แต่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมรับผลกระทบในฐานะที่ทุกคนเป็นผู้บริโภคอาหารธัญพืชที่มาจากภาคเกษตร
รัฐบาลรับประกันได้ไหมว่า คนไทยจะได้กินข้าวปลาอาหารที่ไม่แพง และปลอดภัย รัฐบาลรับประกันได้ไหมว่า ที่ดิน ทะเล ป่าไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศจะไม่ถูกทำลายไปมากกว่านี้
มันเป็นความรู้สึกว่ารัฐบาลกำลังจะยก สมบัติชิ้นสุดท้าย ซึ่งอันที่จริงก็ร่อยหรอไปมากแล้ว ให้กับคนอื่นเสียอย่างนั้น เพียงหวังกับการแลกเปลี่ยนที่จอมปลอมและไม่ยั่งยืน เหมือนกับการยก “บ่อน้ำ”บ่อสุดท้ายให้คนอื่นไป แล้วในที่สุดก็ต้องควักเงินมาซื้อน้ำในบ่อของตนเอง รัฐบาลรู้ตัวหรือไม่ว่ากำลังเล่นกับ “ความมั่นคง” ของประเทศ โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร
การเข้ามาของพืชต่างถิ่นที่มีผลต่อการกลายพันธุ์ของพืชท้องถิ่นนั้นอาจทำให้ข้าวไทย “เป็นหมัน” สมุนไพรไทยเป็น “สมุนไพรสิงคโปร์” ที่หมดศักยภาพในการป้องกันโรคให้กับคนไทย
ป่าไม้ไทยที่ปัจจุบันเหลืออยู่น้อยนิดไม่ถึง 20% แม้จะผลิตออกซิเจนก็ยังไม่พออยู่แล้ว หากถูก “กิเลสเงินตรา” เปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่น เราจะเหลืออะไร บวกกับทรัพยากรทางทะเลของเราที่กำลังจะถูก ต่างชาติจับจอง แปรสภาพเป็น “เงิน” อีก สุดท้ายเราคงมีสภาพอะไรไม่ต่างกับ “ซากศพ” เมื่อหมดประโยชน์แล้วก็ถูก “ทิ้ง” ไป ตามหลักคิดของ “ทุนนิยม” บทเรียนจากการเปิดเสรี FTA กับประเทศจีนได้ “ฆ่า” เกษตรกรไทยมาแล้วนั้น รัฐบาลได้รับรู้บทเรียนนี้บ้างหรือเปล่า มีเพียงคนกลุ่มน้อยไม่ถึง 5% เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จาก FTA ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรม หรือรัฐบาลเป็น “ตัวแทน” คนเหล่านั้น ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศจึงฟังเสียงแต่คนที่ได้ประโยชน์แล้วเอามาเขียนเป็นนโยบายเพื่อตอบสนองคนเหล่านี้ และเจตนาจะไม่รับฟังคน 95% ที่เดือดร้อนจริง ๆ
และถ้ารัฐบาลคิดว่า ตนจะต้องเอาประเทศไทย เอา “เกษตรกรไทย” เข้าสู่การแข่งขัน และสามารถบริหารทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วละก็ เห็นทีรัฐบาลจะต้องไปปรึกษา เอลินอร์ ออสตรอม Elinor Ostrom นักวิชาการหญิงชาวอเมริกันคนล่าสุด ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ จากผลงานการวิจัยเรื่องการใช้ทรัพยากร ซึ่งเธอสรุปแบบฟันธงว่า
รัฐบาลหรือศูนย์กลางอำนาจที่เชื่อว่าตนบริหารทรัพยากรได้ดีกว่าประชาชนนั้น ผิด อย่างแรง โดยเฉพาะยิ่งถ้าเป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพต่ำ มีกลไกรัฐที่ไร้คุณภาพ การบริหารทรัพยากรโดยรัฐนั้นกลับ “อันตราย” อย่างยิ่ง นี่ขนาดการวิจัยของเธออ้างอิงถึงรัฐบาลตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ซึ่งก็ถือว่าการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพพอควร สำหรับประเทศไทย อย่างที่รู้ ๆ กัน “สอบตก” ในเรื่องการบริหารจัดการอยู่แล้ว รู้อย่างนี้แล้ว ท่านนายกอภิสิทธิ์ จะไม่เงี่ยหูฟังคำเตือนของเจ้าของรางวัลโนเบลคนล่าสุดที่ได้รางวัลในสาขาเดียวกับท่านนายกฯ เลยหรือ
“อาจารย์ยักษ์ มหา’ลัยคอกหมู”