9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
กระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม (2)
สงครามกับธรรมชาติไม่อาจใช้ทูตไปเจรจาให้ธรรมชาติประนีประนอม หรือยกเว้นพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่งได้ ซึ่งหนักหนาสาหัสกว่าทุกสงครามที่มนุษย์เคยเผชิญมา ดังนั้นเราจึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่ และจะต้องระดมสรรพกำลังของแผ่นดินมาจัดตั้งเป็นกองกำลังเพื่อทำการสู้รบกับธรรมชาติ โดยระดมกำลังทั้ง 5 ภาคี มาตั้งกองกำลังประจำถิ่นขึ้นทุกลุ่มน้ำ
กระบวนการจัดตั้ง 7 ขั้นตอนเพื่อการขับเคลื่อนทางสังคม มีดังนี้
1.กำหนดพื้นที่ โดยกำหนดพื้นที่ตามธรรมชาติกำหนด คือ แบ่งตามลุ่มน้ำ และแบ่งย่อยออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ถือเป็นการแบ่งพื้นที่ตามธรรมชาติกำหนด เพราะเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ พื้นที่ซึ่งแบ่งเป็นเขตจังหวัด หรือพรมแดนประเทศไม่มีความหมายต่อธรรมชาติ จากนั้นจึง คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายตามพื้นที่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อนำมาบ่มเพาะและจัดตั้งความคิดเพื่อทำหน้าที่ผู้นำความเปลี่ยนแปลง ที่จะนำความรู้ที่เหมาะสมกับภูมิสังคม 3 แบบ คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กลับไปดำเนินการขยายผลในพื้นที่
2.กระบวนการจัดตั้งความคิด โดยการอบรมเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมิใช่เป็นเพียงการอบรม และมิใช่เป็นการสอนให้ทำถ่านไม้ หรือปุ๋ยชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพเท่านั้น แต่เป็นการใช้ 9 ฐานเรียนรู้ร่วมกับกระบวนการอบรม ทำหน้าที่ “บ่มเพาะ” ความพอเพียงขึ้นในหัวใจ และสร้างความเข้าใจในฐานคิดทีเปลี่ยนแปลงไปจากความเชื่อเดิมของสังคมอย่างสิ้นเชิง กระบวนการนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เรียกว่า กระบวนการจัดตั้งความคิด
3.กระบวนการติดตาม กระบวนการติดตามผล เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่สำคัญ เนื่องจากทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทฤษฎีใหม่ ที่มีรากฐานปรัชญาที่แตกต่างจากความคิด ความเชื่อตามแนวทางเดิมของสังคม การจะเปลี่ยนแปลงนั้นลำพังผู้เข้าอบรมเพียงคนเดียว เป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องทานกับกระแสหลัก ดังนั้นกระบวนการติดตามจึงแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ
3.1 อบรมหลักสูตรผู้นำเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่ผู้นำหรือกลุ่มที่เคยอบรมกับหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงมาแล้ว เพื่อทำหน้าที่ผู้นำในพื้นที่
3.2 เชื่อมโยงเครือข่ายเบญจภาคีในพื้นที่ โดยเครือข่ายหนุนที่เข้าไปเสริม ประสานกับเครือข่ายในพื้นที่พยายามเชื่อมโยงให้ครบทั้ง 5 เบญจภาคี ดังนั้นหมายความว่า ในขั้นของการเริ่มต้นจัดตั้งความคิดนั้น จะเริ่มจากภาคีใดก่อนก็ได้ จากนั้นจึงขยายผลให้เกิดเป็นพลังฝ่ามือทั้ง 5
3.3 เชื่อมโยงพื้นที่กับเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว 53 ศูนย์ฝึก 30 กว่าศูนย์เตรียมการให้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของพื้นที่สร้างทั้งกำลังใจ และกระตุ้นให้เกิดการดำเนินงาน ให้เกิดความรู้สึก มีเพื่อน มีเครือข่าย ไม่โดดเดี่ยว
4.จัดกิจกรรมการรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้ โดยกิจกรรมที่จัดมาแล้ว เช่น กิจกรรมรณรงค์ฟื้นฟูลุ่มน้ำและทะเลไทย โดยทำกิจกรรมเชื่อมโยงพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กระตุ้นให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักถึงปัญหาและการรับรู้กิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่
5.จัดตั้งต้นแบบความสำเร็จ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกิดการทำตาม ขั้นตอนนี้ดำเนินไปพร้อมกับการติดตามผลซึ่งต้องใช้การลงพื้นที่ของเครือข่ายหนุนไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างให้เกิดต้นแบบของแต่ละพื้นที่ให้ได้ โดยพื้นที่ต้นแบบจะต้องมี ต้นไม้งาม น้ำใส ไปที่ไหนปลาชุกชุม ขั้นตอนนี้สำคัญมากและจะต้องอาศัยความรู้ และกำลังใจจากเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเสริมหนุน
6.จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ เมื่อเกิดต้นแบบความสำเร็จขึ้นแล้ว จึงจัดตั้งฐานเรียนรู้ 9 ฐาน เพื่อฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า และเพื่อการเรียนรู้แนวทางพึ่งตนเองทั้งด้านอาหาร ด้านที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค พลังงาน “คน” สามารถพึ่งตนเองได้ในทุกด้าน เกิดการเปลี่ยนความคิดที่เน้นการพึ่งพิง เป็นเน้นการพึ่งตนเอง
7.จัดตั้งและกระชับเครือข่าย โดยการเข้าร่วมงานมหกรรม “คืนชีวิตให้แผ่นดิน” ที่จัดขึ้นทุกวันที่ 17-18 มีนาคม ของทุกปี ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี
ทั้ง 7 ขั้นตอน คือ กระบวนการขับเคลื่อนทางสังคม ที่สังเคราะห์จากเส้นทางเดินของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ สู่การจัดตั้งกองทัพเกษตรโยธินและยุวเกษตรโยธิน เชื่อมร้อยสู่เครือข่ายเบญจภาคีเศรษฐกิจพอเพียง กลายเป็น “ขบวนการคืนชีวิตให้แผ่นดิน” ที่กำลังปฏิบัติการอยู่ทั่วประเทศทุกวันนี้
"อาจารย์ยักษ์ มหา’ลัยคอกหมู"