9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
4 รู้ 3 รัก 2 สามัคคี เปลี่ยนฐานคิดสู่ความพอเพียง (2)
4 รู้ 3 รัก 2 สามัคคี คือ 9 หลักการที่อาจารย์ยักษ์สรุปให้ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติตาม เพื่อเปลี่ยนฐานคิดสู่ความพอเพียง และเป็นพื้นฐานสำหรับการออกแบบอุตสาหกรรมพอเพียง บนเงื่อนไขหลักสำคัญ 2 ประการ คือ “ความรู้และคุณธรรม” เพื่อนำไปสู่ผลทั้ง 3 ประการ คือ ความพอเพียง พอประมาณ และที่สำคัญคือ การมีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งจะส่งผลเป็นทางรอดของอุตสาหกรรมในโลกยุคปัจจุบัน อันเป็นคำตอบว่า ทำไมอุตสาหกรรมจำเป็นต้องหันมาหาความพอเพียง
หนึ่งรู้ราก นั้น ได้กล่าวไปแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา เหลืออีก 3 รู้ คือ สอง-รู้งาน สาม-รู้คน รู้ตน สี่-รู้โลก
สองรู้งาน นั้น ก็หมายถึงว่า ต้องรู้จักงานที่ตัวเองทำให้หมดทุกด้าน ตลอดทั้งสายการผลิตและความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนต่างๆ รวมไปถึงการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบ และที่มาของวัตถุดิบที่ผลิตขึ้นจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ซึ่งโดยทั่วไปความรู้ด้านนี้เป็นความรู้ที่ธุรกิจและองค์กรต่างๆ มักทราบดีอยู่แล้ว แต่อาจลองมองในมุมอื่นๆ ดูบ้าง หรือหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของของเสียจากโรงงาน ซึ่งบางครั้งสามารถนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีกที่เรามองข้ามไป หรือที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เพราะเทคโนโลยีที่สูงขึ้น
สามรู้คน รู้ตน อาจารย์ยักษ์เน้นเสมอให้ “มองกลับเข้าไปข้างใน” คือ ให้ทำความรู้จักกับ “คน” ในองค์กร คนในความหมายของมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์กันด้วยความรู้สึก มีชีวิต มีจิตใจและจิตวิญญาณ ไม่ใช่ในฐานะของ “ทรัพยากรบุคคล” ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนสายพานการผลิต เมื่อมองคนให้เห็นเป็น “มนุษย์” ก็จะเห็นชีวิตมากมายที่เกี่ยวพันกัน มองเห็นถึงครอบครัวของเขา ซึ่งอาจจะเป็นคนในชุมชนโดยรอบโรงงาน เห็นความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต ความอัตคัดแร้นแค้นตลอดจนหนี้สิน เห็นไปถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิต ความคิด ความเชื่อ ซึ่งอาจารย์ยักษ์อยากให้ลองถามตัวเองดูว่า สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการทำงานใช่หรือไม่ ถ้าใช่ทำไมเราจึงไม่เคยมองเห็น ทำไมเราจึงละเลยและเลือกที่จะทำให้มนุษย์เป็นเพียงแค่กำลังการผลิตในช่วง 8 ชั่วโมงการทำงานเท่านั้น
หากเรามองเห็นคุณค่าของคนในฐานะมนุษย์ เราก็จะมองเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเขาเหล่านั้น บางครั้งอาจไม่ใช่เป็นศักยภาพที่เพียงแค่ทำให้เกิดกำลังการผลิต แต่เป็นศักยภาพที่ทำให้ชีวิตนี้น่าอยู่ เช่น ความสามารถทางการเพาะปลูก ที่มีอยู่เป็นพื้นฐานของคนไทยเรา ซึ่งนำมาใช้กับการปรับปรุงพื้นที่ในโรงงานให้เกิดแปลงผักสวนครัว ให้เป็นพื้นที่ส่วนรวม สร้างให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ ในองค์กรกลายเป็นการสานความสัมพันธ์ และได้ผลผลิตปลอดสารพิษมาสู่ครัวรวมของพนักงาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและช่วยให้พนักงานได้ออกกำลังกาย เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดภาระค่ารักษาพยาบาล ลดวันหยุด วันลา สะท้อนกลับเป็นคุณภาพการทำงานและบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตร
เมื่อมองเห็นคนแล้วก็ต้องมองเห็น “ตน” ตนในที่นี้หมายถึงองค์กร ซึ่งเป็นพลวัต มีชีวิต มีความเคลื่อนไหวที่เกิดจากชีวิตของผู้คนที่มาอยู่รวมกัน หากเราได้ทำความเข้าใจตัวตนของเขาไปจนถึงครอบครัวของคนที่รวมกันเป็นองค์กร เราก็จะเข้าใจชีวิตและวัฒนธรรมขององค์กรของเรา และออกแบบองค์กรพอเพียงให้เหมาะสมกับตัวเรา
สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามองกลับเข้าไปข้างใน ในสิ่งที่เรามีและ “ระเบิดจากข้างใน” กลายเป็นองค์กรที่โดดเด่น มีอัตลักษณ์ และมีคุณค่าทั้งต่อตน และต่อโลก
รู้ ประการที่สี่ คือ รู้โลก รู้โลกนี้แบ่งออกได้เป็นหลายระดับ คล้ายดั่งวงกลมที่ล้อมรอบองค์กรเป็นชั้นๆ ชั้นในสุด คือ ชุมชน ถัดมาคือ ประเทศ ภูมิภาค และโลก เราต้องรู้ว่าโลกภายนอกมีผลกระทบต่อธุรกิจ หรือองค์กรของเราอย่างไร และเรามีผลกระทบต่อโลกอย่างไร ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามระดับ ต้องมองให้เห็นทั้งในเชิงรูปธรรม และนามธรรม เช่น วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ ตลอดจน กฎ กติกา เงื่อนไขการค้า มาตรฐานอุตสาหกรรม ข้อตกลงระหว่างประเทศ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเทรนด์ของโลก
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องของการ “รู้” ซึ่งจะเห็นได้ว่า เพียงเงื่อนไขความรู้ประการเดียวนี้ก็เป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องทำความเข้าใจหลายด้าน แต่อาจารย์ยักษ์ย้ำชัดๆ ว่า จำเป็นอย่างยิ่ง เหมือนโบราณว่า ต้อง “รู้เขา รู้เรา รู้สถานการณ์ รู้ฟ้าดิน” จึงจะรบชนะ
สัปดาห์หน้าเป็นตอนจบของ 9 หลักการ อาจารย์ยักษ์จะชวนมาทำความเข้าใจคำว่า “รัก” ที่ลึกซึ้งยิ่งนัก
"อาจารย์ยักษ์ มหาลัยคอกหมู"