9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
คนไทยไม่ทิ้งกัน? (1)
สถานการณ์ประเทศไทยปลายปีพุทธศักราช 2553 ยังอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง น้ำท่วมภาคอีสาน ภาคกลางอาการทรงตัว แต่ภาคใต้กลับตกอยู่ในสภาพวิกฤติ ซึ่งยังคงไม่ยอมผ่านพ้นไปง่ายๆ ทั้งพายุเข้า น้ำทะเลหนุน และอากาศหนาว
วิกฤติการณ์ครั้งนี้ เราได้เห็นภาพที่เด่นชัดของการทำงานในหลายภาคส่วน เรือรบหลวงจักรีนฤเบศร์ เรือบรรทุกอากาศยานลำแรกของไทย ออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจฐานบินลอยน้ำ โรงครัวและโรงพยาบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ เฉกเช่นเดียวกับที่ได้เคยปฏิบัติภารกิจนี้มาแล้วในคราวพายุเกย์ถล่มปี พ.ศ.2532
ภาคประชาสังคมทุกหน่วยงานระดมกำลังช่วยกันคนละไม้คนละมือ แม้จะเหนื่อยล้า สับสน เครียด และค่อนข้างจะสิ้นหวังกับภาครัฐ แต่ทุกคนก็ยังคงทุ่มใจทำเต็มที่ ด้วยความเชื่อมั่นว่า “คนไทยไม่ทิ้งกัน”
อาจารย์ยักษ์อยากให้ตั้งคำถามกลับไปสักนิดว่า ความเชื่อที่ว่าคนไทยไม่ทิ้งกันนั้นจริงหรือเปล่า เพราะถึงแม้ว่าจะฟังดูดี สร้างกำลังใจ ให้ในสภาพวิกฤติเช่นนี้ แต่เราก็จะเห็นภาพที่สะท้อนความไม่จริงของภาพมายาที่เราสร้างขึ้นเองนี้ เช่น การทะเลาะกันระหว่างชาวบ้านสองจังหวัด เมื่อฟากหนึ่งปิดประตูระบายน้ำกันพื้นที่ตัวเองไว้ ในขณะที่อีกฟากทนไม่ไหวแล้วที่จะต้องรับภาระน้ำท่วมคนเดียว ถึงขั้นต้องยิงปืนขู่จนอีกฝ่ายยอมเปิดประตูน้ำ
เหตุการณ์การหยิบฉวยเอากระสอบทรายที่กั้นน้ำไว้ไปกั้นบ้านตน จนทำให้แนวเขื่อนฟันหลอน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ หรือเหตุผลที่ผู้ประสบภัยไม่ยอมทิ้งบ้าน เพราะกลัวโจรขโมยซ้ำ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นวิกฤติที่ซ้อนอยู่ในวิกฤติที่หากเราพรางด้วยมายา โดยเชื่อว่า “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ก็จะไม่อาจก้าวไปสู่ทิศทางใหม่ได้
เราคงต้องทิ้งความโรแมนติก กระโดดสู่ความเป็นจริงว่า ถ้าเราอยากให้ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” จริงๆ จะต้องมีวิธีการที่ยั่งยืน ที่ทำได้จริง ทำได้ทันที ส่งผลเป็นความยั่งยืนแท้จริงให้แก่สังคมไทย แม้ต้องอาศัยเวลา แต่ก็ต้องเริ่มทำตอนนี้ ตอนที่เราตระหนักแล้ว...
อาจารย์ยักษ์จะขอยกตัวอย่างในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้เห็นภาพโดย รวมว่า บริษัทเอกชนนี่แหละ ที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่เป็นแกนนำสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคมและชุมชน ได้ โดยเป็นแกนในการเปลี่ยนความคิดและวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน และกลุ่มผู้เกี่ยวข้องหรือภาษาธุรกิจเขาเรียกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)
ตัวอย่างบริษัทสมมติแห่งหนึ่ง เติบโตเจริญก้าวหน้าขยายผลการบริหารงานจนกลายเป็นกลุ่มบริษัท มีหลักทรัพย์และเงินลงทุนมากมาย กลุ่มบริษัทแห่งนี้ผลิตสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์และประสบความ สำเร็จทางธุรกิจเป็นอย่างดี เมื่อวัดด้วยตัวเลขกำไร และเงินปันผล แต่ผู้บริหารสูงสุดมองไปไกลกว่านั้น....“ทำอย่างไรจึงจะยั่งยืน" นั่นคือคำถามในใจตลอดมา
หากตอบด้วยหลักการทำธุรกิจจากตะวันตก และมาตรฐานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ก็ต้องบอกว่า ทำการผลิตโดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตามมาตรฐานอุตสาหกรรมที่กำหนดตัวชี้วัดให้ทำ ทั้งที่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม และข้อกำหนดที่ยกระดับให้โรงงานนั้นๆ ทำด้วยคุณธรรมภายในของตน
แต่ลึกๆ แล้วเขากลับรู้สึกว่า หัวใจสำคัญที่แท้จริง คือ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขาเองกับเกษตรกร ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ หรือผู้ผลิตวัตถุดิบส่งเข้าโรงงาน และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับพนักงานโรงงาน ไปจนถึงครอบครัวของพนักงานซึ่งก็เป็นคนในชุมชนในพื้นที่อยู่อาศัยเดียวกัน
สิ่งสำคัญที่แท้จริง คือ “ความเป็นมนุษย์” ที่มากกว่าทรัพยากรบุคคล เมื่อตระหนักแน่ชัดแล้วเขาจึงเริ่มมองหาหนทางใหม่ และเมื่อเข้าใจแท้จริงความคิดจึงเปลี่ยนแปลงไป ชนิดที่เรียกว่า Paradigm Shift คือ เปลี่ยนตั้งแต่ฐานคิดขึ้นไป ส่งผลให้โมเดลการบริหารองค์กร และการดำเนินงานของโรงงานใหม่จึงเริ่มเปลี่ยนทิศทาง
ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ภาคอุตสาหกรรมที่เคยถูกมองว่าเป็นภาคที่มีบทบาทในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เป็น “ผู้ร้าย" ในสังคม กลับเปลี่ยนบทบาทกลายมาเป็น “พระเอก" และเป็นพระเอกตัวจริงที่เป็นบทพิสูจน์ว่า “คนไทยไม่ทิ้งกัน"
"อาจารย์ยักษ์ มหาลัยคอกหมู"