9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
วิกฤตคือโอกาส
ในวันที่ประเทศไทยต่างโห่ร้องด้วยความยินดีปลาบปลื้มที่น้องเก๋ ประภาวดี สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิคมาให้กับประเทศไทยในกีฬายกน้ำหนัก ในวันเดียวกันก็มีหลายคนต้องเสียใจคอยเก้อที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วยหมายจะคอยต้อนรับ “ทักษิณ” บุคคลที่มีหลายฝ่ายออกมายืนยันว่ากลับประเทศไทยแน่นอน แต่ก็ไร้เงา ออกจากประเทศไทยไป อีกหน่อยที่ประเทศเวียดนาม และอินเดีย ผู้คนจำนวนนับร้อยชีวิตที่ต้องจมหายไปกับสายน้ำในเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม รวมถึงผู้คนที่ล้มตายจากสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและจอร์เจีย
ในวันที่ 11 สิงหาคม วันที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงมีพระราชดำรัสกับพสกนิกรไทยทั่วประเทศเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 76 พรรษา พระองค์ทรงกล่าวถึงทั้งความปลาบปลื้มของพระองค์ต่อความสำเร็จและชื่อเสียงของประเทศ ที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารท่องเที่ยวให้เป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก แต่ในเวลาเดียวกันก็ทรงแสดงความวิตกกังวลที่ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมของประเทศได้เสื่อมโทรมลงไปมากจากครั้งที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงพูดถึงปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ครั้งหนึ่งอุดมสมบูรณ์มีหลากหลายชนิดเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฟากฝั่ง แต่ปัจจุบันเหลือปลาเพียงไม่กี่ชนิด ความเสื่อมโทรมของป่าไม้ยิ่งน่าเป็นห่วงที่พื้นที่ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของประเทศได้ลดน้อยถอยลงไปมาก พระองค์ได้ทรงพูดถึงวิกฤตน้ำที่กำลังเป็นปัญหาของโลก และกำลังคืบคลานเข้ามาเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย แต่ไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยขนาดที่จะสามารถสร้างโรงงานผลิตน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด ประเทศไทยเป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์มาก่อน เราจึงดูเหมือนประมาทว่าไทยจะไม่ประสบปัญหาเรื่องน้ำ แต่วิกฤตน้ำก็มีให้เห็นทั่วไปแล้ว แม่น้ำโขงที่ไม่เคยแห้งก็กลายเป็นแม่น้ำที่ขอดแห้ง หน้าแล้งชาวบ้านสามารถเดินข้ามกันไปมาเพราะแทบไม่มีน้ำ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
ทั้งหมดที่ “แม่หลวง” ของเราได้พูดมาแสดงถึง “ความไม่พอเพียง” ของประเทศที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นความไม่พอเพียงที่ขบวนการเครือข่ายของอาจารย์ยักษ์กำลังขับเคลื่อนต่อสู้ สร้างความพอเพียงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นวิถีชีวิตที่มีความสุขของคนในประเทศให้กลับคืนมาให้จงได้ ท่ามกลางความหดหู่ของวิกฤตรอบด้าน ข้าวยากหมากแพง ภัยธรรมชาติ ภัยสงคราม แต่ “กำลังใจ” และ “การตื่นรู้” ของผู้คนก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เห็นพิษภัยการทำลายล้างของ “ลัทธิบริโภคนิยม” เข้าร่วมกับขบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นเรื่อย ๆ และสิ่งที่น่ายินดีคือ สถาบันการศึกษาที่ถูกครอบงำแบบเบ็ดเสร็จจากกรอบวิชาการตะวันตกก็เริ่มหันขบวน ยกธงรบร่วมกับขบวนการเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มขึ้น อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยนเรศวร ชาวบ้านเกษตรกรที่ถูกตีตราว่า “ยากจน” “เป็นหนี้” วนเวียนกับวัฏจักรแห่งชีวิตที่โหดร้ายภายใต้ระบบทุนสามานย์ก็เริ่ม “ตาสว่าง” ว่าวิถีพอเพียงของบรรพบุรุษที่พึ่งตนเอง ไม่เอาเงินเป็นที่ตั้ง มีวิถีผลิตที่ดูแลรักษาธรรมชาติ จะเป็นหนทางแห่งการดำรงชีวิตที่ “ถูกต้อง” และจะปลดปล่อยให้ตนเองออกจากวัฏจักรแห่งความยากจน ไม่พอเพียงในที่สุด
แหล่งที่มา:
คม ชัด ลึก 16 สิงหาคม 2551