9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
ประชาธิปไตย ธรรมมานิยม แห่งประเทศสยาม 3
ในฐานะที่นักการเมือง ในที่นี้ขอนิยามคำใหม่ว่า “นักบริหารสังคม” ต้องมีหน้าที่ “ดูแล กระจาย และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและอย่างเป็นธรรมแก่ผู้คนในสังคม” ภายใต้สำนึก แห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันมี ความรู้ และ คุณธรรม เป็นเงื่อนไขหลัก ในกลไกปฏิบัติ อาจารย์ยักษ์ขอเสนอทางออกของการเมืองไทย ในรูปแบบที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ธรรมานิยมโดยยึดหลักเกณท์ดังนี้
1 สร้างมาตรวัด หรือ ดรรชนีชี้ ความรอบรู้ และคุณธรรม ของผู้ที่อาสาจะเข้ามาทำหน้าที่ บริหารสังคม ตามหลักธรรมของนักบริหาร 4 ประการ
ปัญญาพละ กำลังแห่งความรอบรู้ มีความรอบรู้ทั้งทั่วไปและเชี่ยวชาญ ทั้งเรื่องคนและงาน
วิริยพละ กำลังแห่งความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อ ต่ออุปสรรค
อนวัชชพละ กำลังแห่งความบริสุทธิ์ สุจริต ปราศจากรูรั่วแห่งชีวิตอันเกิดจากอบายมุข
สังคหพละ กำลังแห่งมนุษย์สัมพันธ์ที่จะประสานใจคน
ถ้าใช้มาตรวัด 4 ข้อนี้ในการวัด นักการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารประเทศอยู่ทุกวันนี้ หลายคนคงสอบตกทั้ง มาตร ความรู้ และ มาตร คุณธรรม ผู้บริหารสังคมต้องมีภูมิความรู้ปัญญาไม่เฉพาะเรื่องทั่วไปทั้งยังต้องรู้และเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เหมือนหมอที่ต้องรู้ว่า อาการคนไข้ที่ปวดหัว อาจจะมิใช่มีปัญหาที่หัว แต่มีสาเหตุมาจาก ใจ หรือ ความเครียด แต่ถ้าเป็นอาการทางประสาทหรือ สมอง ก็มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการที่จะรักษาอาการที่สมองหรือประสาทได้ และที่สำคัญคือ รู้จริง รู้ครบ มิใช่แต่ท่องจำหรือลอกเขามา สิ่งที่น่าเอน็จอนาจสำหรับนักบริหารบ้านเมืองไทยปัจจุบันคือ การอ้างอิงแต่ตำราตะวันตก รู้แต่เขา โดยที่ไม่เคยรู้เรา (ประเทศไทยจริงๆ คืออะไร ทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม) รู้แต่ว่าฝรั่งเก่งกว่า ฝรั่งว่าแบบนี้ก็ต้องใช้แบบนี้
2 มีกระบวนการในการคัดเลือก คัดสรร ผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ โดยไม่ได้ยึดหลัก เสียงข้างมาก หรือ เสียงข้างน้อย แต่ยึดหลักประชาธิปไตย ความเที่ยงตรง ยุติธรรม เป็นธงนำ
สังคมประกอบด้วยผู้คนหลากหลายสาขาอาชีพ หลากหลายความเชื่อทางศาสนาและหลากหลายวัฒนธรรม ความเที่ยงตรงและเที่ยงธรรมคือการหาตัวแทนของคนทุกชนชั้น ทุกสังคม ทุกอาชีพ ทุกความเชื่อ และทุกวัฒนธรรม ให้ได้มีโอกาสได้เข้ามาสร้างมาตรวัด สร้างกระบวนการคัดเลือก และคัดสรร รวมทั้งเป็นผู้ที่สามารถได้รับการคัดเลือก และคัดสรรให้เข้ามาทำหน้าที่ทั้งนักบริหารสังคม และ หน้าที่การตรวจสอบ
3 มีระบบฝึกความรู้ และฝนคุณธรรม อย่างสม่ำเสมอ สังคมซับซ้อนขึ้น ปัญหาซับซ้อน คนที่มีความรู้ก็มีสิทธิ์ถึงทางตันของความรู้ หากไม่หมั่นฝึกฝนพัฒนา ผู้ที่มีสติปัญญาย่อมรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เรียนรู้พัฒนาตนเป็นเนืองนิจ คุณธรรมก็เช่นกัน อำนาจนั้นหอมหวานผู้ใดอยู่ใกล้ก็มีสิทธิ์หลงมัวเมาลืมตนลืมตีนได้ คุณธรรม ความบริสุทธิ์ ความซื่อตรงก็ต้องได้รับการชำระขัดเกลาเป็นประจำ ทั้งจากภายในใจของตนเองและจากภายนอก การเสริมสร้างและพัฒนาคุณธรรมของนักบริหารสังคมอย่างสม่ำเสมอ จึงต้องถือเป็นภารกิจอย่างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
4 มีระบบตรวจสอบจากภาคประชาชนเป็นระยะๆ เสมือนการทดลองงาน เช่น ทุกๆ หนึ่งปี มีการทำประชามติให้รัฐบาลผ่านหรือตก หากฝีมือตกไม่ถึงเกณท์มาตรวัดก็ต้องออก ให้นักบริหารสังคมคนใหม่หรือชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน
5 มีระบบให้คุณให้โทษที่เข้มข้น อันที่จริงหากนักบริหารสังคมเริ่มต้นจากมีธรรมนำ ระบบให้คุณให้โทษแทบจะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลย แต่เพื่อให้ระบบสามารถดำเนินไปตามครรลอง อาจารย์ยักษ์ยังเห็นเป็นสิ่งจำเป็น และเสนอใช้รูปแบบ โทษมาปัจจุบัน คุณมาทีหลัง หากทำผิดมีโทษทันที แต่ความดีจะได้รับการสนองเมื่อปฏิบัติหน้าที่จนเสร็จภารกิจแล้ว ถือเป็นการตอบแทนคุณงามความดีที่สังคมมอบให้ เช่น การได้รับการดูแลทุกด้านของการดำรงชีวิตตลอดอายุขัย
บริหารเศรษฐกิจโดยใช้ บุญ นำ มิใช่ ทุน นำ
บริหารสังคม โดยใช้ กุศล นำ มิใช่ กิเลส นำ
บริหารการเมือง โดยใช้ ธรรม นำ มิใช่อธรรม นำ
ใครเห็นด้วย ช่วยกันคิดหน่อยว่า จะได้คนดี มีความรู้ มาเป็นนักบริหารสังคมได้อย่างไร