9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
พืชพลังงานกับอนาคตเศรษฐกิจไทย บนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียง 1
เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าพลังงานปิโตรเลียมที่ใช้กับเครื่องเบนซิน มีมูลค่าสูงถึงปีละสองแสนเก้าหมื่นล้าน ทั้งนี้ยังไม่รวมมูลค่าการนำเข้าพลังงานอื่นๆ และการใช้พลังงานยังมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่ยากต่อการแก้ไขตามมาเป็นลูกโซ่ อาทิ ข้าวยากหมากแพง เงินเฟ้อ นัยว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยในปี พ.ศ. นี้จะสูงมากเป็นประวัติการณ์และเป็นตัวเลขถึงสองหลัก สภาวะที่เป็นอยู่ทำให้เราจำเป็นที่ต้องพูดถึงพลังงานทางเลือกอย่างที่ไม่มีทางเลี่ยงได้อีกต่อไปแล้ว ซึ่งอันที่จริงการแก้ปัญหาการพึ่งพาพลังงานปิโตรเลียมด้วยพลังงานทดแทน ควรกระทำอย่างจริงจังมานานแล้วไม่ใช่เพิ่งมาพูดเอาตอนนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างพลังงานทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม จากน้ำ และจากพืช แต่อย่างที่ทราบกันปัญหาพลังงานผูกติดกับผลประโยชน์ทางการเมืองมานาน หากไม่ถึงที่สุดรัฐก็จะไม่มีทางมองหาพลังงานทดแทนอย่างอื่นหรอก
ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่ภาคเกษตรมากมาย พืชพลังงานไม่ว่าจะเป็น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ปาล์ม มะพร้าว สบู่ดำ จึงได้รับการกล่าวขานและสนับสนุนให้ปลูก เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจด้านพลังงานที่จะช่วยประเทศประหยัดเงินตราส่งออกในการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ แต่พอเกษตรกรปลูกพืชเหล่านี้ไปได้สักระยะ วงจรอุบาทว์ของการผูกขาด และกดราคาก็เกิดขึ้น กระบวนการปลูกที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยา ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผลผลิตถูกกดราคา ซึ่งมีผลให้ขาดทุน เกษตรกรรายย่อยกลับกลายเป็นหนี้ ขายที่หรือไม่ก็ที่ดินถูกยึด มีผลให้การปลูกพืชพลังงานกลับกลายเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ เกษตรกรรายย่อยหายไป เพราะไม่มีความสามารถในการแย่งชิงตลาด
ในการปลูกพืชพลังงานเพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืนจึงต้องเริ่มต้นจากฐานคิดใหม่ ที่มิใช่ฐานคิดที่เอาการตลาดเป็นตัวนำ มิเช่นนั้นประเทศไทยจะมิอาจนำตัวเองหลุดออกมาจากวังวนของราคาที่ขึ้นๆ ลงๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อราคาขึ้น เกษตรกรก็ละทิ้งพืชอื่นๆ หันมาปลูกพืชพลังงานแทน และเมื่อราคาตกก็เลิกปลูก กลับไปกลับมาแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด อันเป็นผลให้เกษตรกรต้องยากจนและเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องลงทุนใหม่อยู่ตลอดเวลา นอกจากจะต้องไม่นำเอาหลักคิดการตลาดเป็นตัวนำในการแก้ปัญหาพลังงานทดแทนแล้ว เรายังต้องเชื่อมโยงพืชพลังงานกับปัญหาอื่นๆ หมายความว่า การแก้ปัญหาพลังงานด้วยการปลูกพืชพลังงานจะต้องไม่ไปสร้างให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น การขาดแคลนอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากการแย่งชิงพื้นที่ของพืชอาหารไปเป็นพืชพลังงาน ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อเอาไปปลูกพืชพลังงาน รวมทั้งปัญหาระบบนิเวศ เช่นดินเสื่อมน้ำเสื่อมเพราะการใช้สารพิษในกระบวนการปลูก คงเป็นเรื่องตลกที่ประเทศไทยจะประหยัดเงินซื้อน้ำมันได้แต่ต้องควักเงินเพิ่มเพื่อซื้อขาวปลาอาหารจากประเทศอื่นทั้งที่เคยผลิตได้เอง แต่ไม่แน่นะเรื่องแบบนี้คนไทยถนัดนัก แล้วทางออกของพืชพลังงานที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจจะทำได้อย่างไร หากเชื่อว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือคำตอบของประเทศ เศรษฐกิจพอเพียงก็คือคำตอบของพืชพลังงานเช่นเดียวกัน ลองดูตัวอย่างของโมเดลการปลูกอ้อยแบบ 5 พอ (พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น พอพลังงาน) ที่ได้มีการริเริ่มทำกันแล้ว โดยใช้หลักคิดดังนี้
1 การคงไว้ของพื้นที่ป่า 30% โดย 70% เป็นพื้นที่ปลูกอ้อย แนวคิดนี้ดูจะสวนทางกับการทำเกษตรสมัยใหม่ที่ต้องใช้เนื้อที่เพาะปลูกให้เต็มประสิทธิภาพสูงสุดคือ 100% แต่การสงวนพื้นที่ป่ามากขนาดนี้เพื่อการดำรงอยู่อย่างสมดุลของระระบบนิเวศ ความชื้นสัมพัทธ์ที่มากพอจากป่ารอบๆ จะมีผลดีต่อดิน น้ำ และผลผลิต
2 ใช้ระบบไถเฉียงตามเส้นชั้นความสูงและการใช้หญ้าแฝกเพื่อควบคุมการชะล้างของหน้าดิน (Erosion Control) ระบบไถเฉียงเป็นระบบที่สามารถควบคุมการชะล้างของหน้าดินจากน้ำฝนที่หลากเข้ามาตามฤดูกาล และเป็นระบบที่สามารถกักเก็บความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้เป็นอย่างดี
3 มีระบบเก็บกักน้ำตามธรรมชาติ มีแหล่งน้ำกระจายอยู่รอบๆ พื้นที่เพาะปลูก
4 ใช้ระบบเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ เพื่อบำรุงรักษาดิน
5 ในบริเวณป่า 30% นั้นใช้หลัก ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างที่จะมีพืชสำหรับใช้กิน ใช้อยู่ และพืชสำหรับเอามาทำเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือน ปลูกกระจายตามหลักเกษตรผสมผสาน
หากปฏิบัติตามหลักคิดข้างบนนี้ เกษตรกรจะสามารถพึ่งตนเองด้านปัจจัยสี่ได้เป็นพื้นฐานทั้งอาหาร ยา ที่อยู่อาศัย และมีพืชพลังงานอ้อยไว้ขาย โดยไม่ต้องเดือดร้อนหรือพะวงกับภาวะตลาด เมื่อเกษตรกรทุกคนมีความมั่นคงเช่นนี้ ไฉนเลยประเทศชาติจะไม่มีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและพลังงาน สำหรับผู้สนใจแนวคิดนี้อาจารย์ยักษ์ก็อยากจะเชิญชวนให้ช่วยกันมาฟัง มาออกความเห็นในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "พืชพลังงานกับอนาคตเศรษฐกิจไทย" ซึ่งสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะจัดขึ้นในวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ช่วยกันดูว่า ประเทศไทยจะเป็นเศรษฐีเอทานอลเหมือนบราซิลได้หรือไม่ หรือเป็นแค่ราคาคุย