9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
เกษตรอินทรีย์ ทีเล่นหรือทีจริง
ท่านรองนายกรัฐมนตรีมิ่งขวัญ แสงสุวรรณซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาสนับสนุนให้เกษตรกรไทยหันกลับมาใช้เกษตรอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมีเพื่อผลิตอาหารอินทรีย์ที่ปลอดภัยตามที่โลกเรียกร้องต้องการ ตอบตามตรง ใจหนึ่งอาจารย์ยักษ์ก็ชอบใจท่านรองนายกมิ่งขวัญท่าทางจะเอาจริงเอาจัง ขนาดเชิญเป็นการส่วนตัวให้ไปนั่งโต๊ะรับประทานอาหารเพื่อฟังความเห็น แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเกษตรอินทรีย์ตานี้จะเป็น “ทีเล่น หรือ ทีจริง” เพราะอันที่จริง เกษตรอินทรีย์ได้ถูกประกาศเป็น วาระแห่งชาติ ตั้งแต่รัฐบาลชุดทักษิณ ชินวัตร โดยมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2544
“คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 มีนโยบายเกษตรกรรมในอันที่จะส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรกรรมทางเลือกและเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร ชุมชนเกษตรกร และจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แต่การผลักดันในทางปฏิบัติที่เป็นจริงก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าและแทบไม่เห็นผลอะไรเลย 3 ปีต่อมาก็มีมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 30 มีนาคม 2547 “ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการรณรงค์ ส่งเสริม และแนะนำให้เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงบำรุงดินด้านอินทรียวัตถุเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพดิน”
ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” คงเป็นเรื่องน่าอายที่ศูนย์กลางครัวโลกผลิตอาหารสารพิษป้อนผู้บริโภค และในที่สุดจากแรงเสียดทานจากภาค ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร ในการขับเคลื่อนให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อน ในที่สุด เกษตรอินทรีย์ก็กลายเป็น วาระแห่งชาติ
“มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบเรื่องการผลิตและรณรงค์การใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพให้แพร่หลาย โดยมีกระทรวงต่างๆ เข้าร่วม คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ถือว่าเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องทำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว” และ “มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2548 เห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ให้เป็นวาระแห่งชาติ และอนุมัติในหลักการให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับการบริหารราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน”
เป็นที่น่าเศร้าที่วาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์ที่ประกาศตั้งแต่ปี 2547 ยังไม่ได้รับการตอบสนองในทางปฏิบัติ เกษตรกรที่เป็นเกษตรอินทรีย์โดยแท้มีไม่ถึง 10% ของเกษตรทั้งหมด แต่ที่น่าแปลกใจก็คือเกษตรอินทรีย์อันเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงเกษตรฯ กลับไม่มีการเอ่ยอ้างถึง แต่คนที่ออกมาพูดเชียร์เกษตรอินทรีย์กลับเป็นกระทรวงพาณิชย์ ไม่รู้ว่าใครในกระทรวงเกษตรฯ มีนอกมีในกับบริษัทยักษ์ใหญ่ปุ๋ยเคมีหรือเปล่า ถึงอยู่ในอาการ “อ้ำอึ้ง พูดไม่ออก บอกไม่ถูก” ชาวนา เกษตรกรกำลังปวดร้าวกับปุ๋ยแพง ทางแก้ที่ง่ายนิดเดียวคือการหันกลับมาพึ่งตนเองโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็นวิถีที่บรรพบุรุษไทยผู้ซึ่งได้ชื่อว่า สุดยอดเกษตรโลก ได้ใช้มานานนับศตวรรษ ทำไมของแค่นี้กระทรวงเกษตรฯ คิดไม่ออก แต่อย่างน้อยท่านรองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาเชียร์เกษตรอินทรีย์อย่างออกหน้าออกตา แต่อยากจะถามท่านว่า คราวนี้ “เกษตรอินทรีย์ จะเป็นทีเล่น หรือ ทีจริง” และถ้าเป็นทีจริง จะเป็นทีจริง แบบ อินเทอร์เน็ตไฮสปีด หรือ เป็นแบบขบวนรถไฟสายกรุงเทพฯ-ยะลา เพราะ เกษตรกร ชาวนาอย่างอาจารย์ยักษ์คงไม่ต้องการ เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ (หน้า) นะจะบอกให้